“วัวล้อ” ขบวนเกวียนขนส่งสินค้าในอดีตเมื่อ 50 ปีก่อน

พาหนะในการขนส่งสินค้าทางบกในอดีตที่สำคัญคือ ช้าง ม้า วัว ควาย ก่อนที่จะถูกรถบรรทุกหรือรถยนต์ เข้ามาแทนที่ในช่วง 50 กว่าปีที่ผ่านมา ในจังหวัดเชียงใหม่นิยมใช้ช้าง และวัว ในการขนส่งสินค้าต่าง ๆ เช่น ไม้ซุง สินค้าอุปโภคบริโภค ของป่า อื่น ๆ นอกจากนั้นแล้วพาหนะที่ใช้ในการขนส่งสินค้าในอดีตยังเป็นส่วนในการสร้างอาชีพให้กับชาวบ้าน และการเสริมสร้างเศรษฐกิจให้กับเมืองเชียงใหม่อีกด้วย

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมาเล่าถึงเรื่องราวของ “วัวล้อ”ซึ่งเป็นพาหนะทางบกที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเชียงใหม่ก่อนที่รถบรรทุก และรถยนต์จะเข้ามาแทนที่ วัวล้อจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเรื่องราวของ วัวล้อ มีดังต่อไปนี้

“วัวล้อ” คืออะไร?

“วัวล้อ” คือ การใช้วัวเทียมเกวียนบรรทุกสิ่งของไปขายยังที่ต่าง ๆ เป็นพาหนะที่ใช้ทั้งในเมือง และชนบท ซึ่งการใช้วัวล้อเริ่มนำมาใช้เยอะขึ้นในช่วงที่สมัยการค้าทางเรือ และการค้าทางรถไฟ กำลังเจริญเติบโต นอกจากนั้นวัวล้อยังเป็นพาหนะในการขนส่งสินค้าจากชนบทมายังท่าเรือ และสถานีรถไฟ ในช่วงแรก ๆ พ่อค้าคนจีนจะเป็นคนจ้าง วัวล้อ เดินไปทางไปซื้อสินค้าเกษตรในเขตอำเภอชนบท เช่น ข้าว ถั่ว และกระเทียม เป็นต้น แล้วว่าจ้างให้วัวล้อบรรทุกเข้ามาไว้ที่บริเวณท่าเรือหรือสถานีรถไฟ เพื่อพ่อค้าคนจีนจะได้นำสินค้าที่ขนมาส่งต่อไปขายที่กรุงเทพฯ


ขบวนเกวียนบนถนนสายเชียงใหม่-หางดง เมื่อ พ.ศ. 2516

วิธีการขนส่งสินค้าโดย “วัวล้อ”

เมื่อได้ผลผลิตชาวนาที่เช่านาจากเจ้าของนาที่อยู่ในเมือง (ทำนาแบบผ่ากึ่ง) จะนำข้าวเปลือกใส่วัวล้อมาส่งให้เจ้าของนาในเมือง เกวียน 1 เล่ม บรรทุกข้าวได้ประมาณ 40-50 ถัง ค่าบรรทุกถังละ 1 บาท ค่าวัวล้อนี้เจ้าของนาจะเป็นผู้จ่าย ใช้เวลาเดินทางขามา 6 ชั่วโมง ขากลับ 4 ชั่วโมง เดินทางออกจากบ้านประมาณเที่ยงคืนมาถึงเชียงใหม่ช่วงเช้ามืด ขากลับก็ซื้อของจากในเมืองกลับไปขายในหมู่บ้านตน

การขนส่งภายในเมือง “วัวล้อ” ทำหน้าที่ขนส่งสินค้าจากท่าเรือ และสถานีรถไฟไปส่งขายยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งกาดในเมือง และชนบท คนจีนที่เปิดร้านขายของอยู่ที่ตลาดประตูเชียงใหม่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ทำการซื้อ น้ำปลาจากพ่อค้าแถวสันป่าข่อย แล้วจ้างล้อเกวียนมาส่งที่ประตูเชียงใหม่ นอกจากนั้นแล้วสองข้างถนนในเขตเมืองเชียงใหม่มีล้อเกวียนจอดรอรับจ้างขนของอยู่เป็นจำนวนมาก

ขบวนเกวียนรุ่นสุดท้ายบนถนนช้างม่อย ในเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2510

ปลายยุคการใช้ “วัวล้อ”

ในช่วงปีพ.ศ.2510-2520 เริ่มมีการสร้างถนน และมีการนำรถยนต์กับจักรยานยนต์มาใช้ในการขนส่งสินค้า ทำให้บทบาทของวัวล้อค่อย ๆ ลดลง เพราะการขนส่งโดยรถ เร็วกว่า และรถสามารถบรรทุกของได้มากกว่า ในช่วงนั้นมีคนจีนเริ่มทำกิจการนำรถบบรทุกเข้ามาขาย และนำรถบรรทุกไปวิ่งเป็นรถรับจ้างภายในเมือง และระหว่างเมืองกับเขตอำเภอรอบนอก ชาวบ้านเรียกรถแบบนี้ว่า “รถคอกหมู” ที่เราคุ้นหูกัน และในช่วงเวลานั้นทางราชการห้ามอย่างเด็ดขาดไม่ให้วัวล้อเข้าไปในเขตเทศบาลด้านใน หมายความว่า ห้ามข้ามสะพานเข้าไปทางฝั่งท่าแพ เพราะวัวเวลาขนสินค้าต้องถ่ายมูลลงบนถนนซึ่งทำให้เกิดความสกปรก และเกะกะถนน วัวล้อจึงหายไปจากตัวเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ขบวนเกวียนกำลังสวนทางกับรถยนต์

ส่วนในหมู่บ้านในชนบท “วัวล้อ” ก็ค่อย ๆ หมดบทบาทลงเช่นกัน เพราะชาวบ้านหันมาใช้ควายเหล็กแทนวัวและควายที่เคยใช้ไถ่นาในอดีต อีกทั้งชาวบ้านยังใช้จักรยานต์ในการเดินทาง และขนส่งมากขึ้น ช่วงปี พ.ศ.2519-2528 มีรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนในเชียงใหม่เพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าหกหมื่นคัน ซึ่งเป็นประจักษ์พยานที่สำคัญคือ “กาดวัว” ที่เคยเป็นแหล่งซื้อขายวัว แทบจะกลายเป็นกาดซื้อขายจักรยานยนต์มือสองไปเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามในหมู่บ้างบางแห่งก็ยังมีการใช้วัวล้ออยู่ เช่น หมู่บ้านแม่ทา จังหวัดลำพูน เป็นต้น

ขบวนเกวียนขณะขนของไปส่งยังท่าเรือ

โดยสรุปแล้ว “วัวล้อ” เป็นพาหนะที่ใช้ในการขนส่งสินค้าจากเขตอำเภอชนบทมาสู่เขตเมืองเชียงใหม่บริเวณท่าเรือ และสถานีรถไฟ โดยผ่านการว่าจ้างจากพ่อค้าคนจีน นอกจากนั้นวัวล้อ ยังทำหน้าที่ขนส่งสินค้าภายในบริเวณเมืองเชียงใหม่อีกด้วย ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 2510 เริ่มมีการสร้างถนนในตัวเมืองเชียงใหม่ขึ้นทางราชการประกาศห้ามไม่ให้ วัวล้อ วิ่งในเขตด้านในตัวเมืองเชียงใหม่เพราะว่าวัวจะขี้ลงบนถนนทำให้สกปรกและเกะกะ อีกทั้งยังมีการใช้รถยนต์กับรถจักรยานยนต์มาแทน วัวล้อ จึงทำให้ในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ไม่มีวัวล้อตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่ในจังหวัดลำพูนบางหมู่บ้านก็ยังคงเหลือ วัวล้อ อยู่ แต่ในปัจจุบันการขนส่งมีความสะดวกสบายขึ้นกว่าอดีตเยอะทำให้การใช้สัตว์ในการขนส่งสินค้าหมดไป วัวล้อ จึงถือว่าเป็นพาหนะในยุคแรก ๆ ที่ช่วยขยายเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่ให้เจริญเติบโตดังเช่นปัจจุบัน

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลจาก : ภาพล้านนาในอดีต
ภาพจาก : บุญเสริม สาตราภัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น