อาหารเป็นพิษ!!! ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เสี่ยงถึงตายได้

โรคอาหารเป็นพิษ แม้จะเป็นโรคที่ไม่ได้มีอาการร้ายแรงมาก แต่ก็เป็นโรคที่เกิดขึ้นค่อนข้างง่าย โดยอาหารเป็นพิษเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในประเทศเขตร้อนอย่างเมืองไทยที่เชื้อโรคสามารถเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี และพบบ่อยที่สุดโรคหนึ่งในประเทศไทย หลายคนที่เกิดอาการขึ้นมาแล้ว ปล่อยปละละเลยไม่รีบรักษา อาจจะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ เกิดภาวะช็อก หมดสติ จนถึงขั้นเสียชีวิต

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” ได้นำสาระความรู้จากโรคอาหารเป็นพิษ มาให้ท่านผู้อ่านได้สังเกตอาการและเฝ้าระวังโรคกัน

อาหารเป็นพิษเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

อาหารเป็นพิษ เกิดขึ้นหลังจากรับประทานอาหารเข้าไปไม่นาน จากการรับประทานอาหารที่มีสารปนเปื้อน  ไม่ว่าจะเป็นน้ำหรืออาหาร มักจะมีอาการ ดังนี้

  1. รู้สึกไม่สบาย
  2. รู้สึกพะอืดพะอม คลื่นไส้ อาเจียนติดต่อกันหลายครั้ง หรืออาเจียนเป็นเลือด
  3. มีอาการปวดท้องแบบบิดเกร็งเป็นพัก ๆ เนื่องจากการบีบตัวของลำไส้
  4. ถ่ายท้อง ถ่ายมีมูกหรือเลือดปน
  5. ไม่อยากอาหาร
  6. เหนื่อยล้า วิงเวียนศีรษะ หมดเรี่ยวแรง ปากแห้ง ตาโบ๋ กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะน้อย เนื่องจากมีอาการสูญเสียน้ำ
  7. มีอาการทางระบบประสาท เช่น มองเห็นไม่ชัด แขนเป็นเหน็บ หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น
  8. มีไข้สูง

ภาวะแทรกซ้อนของอาหารเป็นพิษ

ภาวะอาหารเป็นพิษ อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ จากการถ่ายท้องและการอาเจียน หรืออาจทำให้ผู้ป่วยบางรายรับประทานอาหารไม่ได้ ซึ่งอาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะช็อกและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก คนสูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน เป็นต้น นอกจากนี้ เชื้อโรคบางชนิดยังก่อให้เกิดอาการรุนแรงต่ออวัยวะอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น เชื้ออีโคไลชนิดรุนแรง (Shiga Toxin-Producing E. Coli) ที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกและไตวาย จนอาจถึงแก่ชีวิตได้ เป็นต้น

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษ

  1. โดยสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ปรสิต และเชื้อไวรัส ที่เกิดขึ้นจากพืช 73 เปอร์เซ็นต์ จากสัตว์ 23 เปอร์เซ็นต์ และจากสารเคมีอีก 2 เปอร์เซ็นต์ ที่ปนเปื้อนจากแหล่งต่าง ๆ มาสัมผัสกับอาหาร
  2. การรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะอาหารทะเล รวมไปถึงอาหารค้างคืน
  3. การทิ้งอาหารสดเอาไว้นานก่อนนำมาปรุง ซึ่งอยู่ในอุณหภูมิสูงที่จนเกินไป ส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตในสภาวะที่เหมาะสม ทำให้พวกมันแพร่กระจายตัวอย่างรวดเร็ว
  4. การละลายอาหารแช่แข็งที่ไม่ถูกวิธี ทำให้เชื้อโรคไม่ถูกทำลาย กลายเป็นสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษได้
  5. การใช้มือหรือภาชนะที่ไม่สะอาดมาประกอบอาหาร หรือใช้ขณะรับประทานอาหาร
  6. อาหารกระป๋องแบบสำเร็จรูปบางชนิดมีสปอร์ในอาหาร เมื่อเปิดบรรจุภัณฑ์จะทำให้สปอร์เหล่านั้นตกลงมาใส่อาหาร และกลายเป็นพิษต่อร่างกายตามมา

การป้องกันการเกิดโรค

  1. ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร
  2. เลือกทานอาหารที่สุก สะอาด
  3. ควรละลายอาหารแช่แข็งด้วยไมโครเวฟ ไม่ควรปล่อยให้ละลายเองตามธรรมชาติ
  4. ไม่ควรทานอาหารที่เก็บไว้นาน โดยเฉพาะอาหารที่มีรถเปรี้ยว
  5. หากต้องทานอาหารนอกบ้านควรเลือกร้านที่สะอาด ผู้ปรุงแต่งตัวสะอาด สถานที่ถูกสุขลักษณะ
  6. ควรเก็บเนื้อสัตว์สดแยกจากอาหารชนิดอื่น เพราะเชื่อแบคทีเรียส่วนใหญ่อยู่ในอาหารจำพวกนี้

การรักษาและการดูแลตัวเอง

1.ผู้ที่มีอาการอาหารเป็นพิษส่วนใหญ่จะหายได้เองโดยไม่จำเป็นต้องพบแพทย์

  • แนะนำให้พักผ่อนและดื่มน้ำให้มากเพื่อชดเชยน้ำที่เสียไปและป้องกันร่างกายขาดน้ำ
  • ทานอาหารอ่อนๆ และมีรสจืดในปริมาณน้อยก่อนในช่วงแรก เช่น ขนมปัง ขนมปังกรอบ กล้วย หรือข้าว ไปจนกว่าจะรู้สึกดีขึ้นมากแล้ว

2.กรณีที่อาการของผู้ป่วยรุนแรงมาก มีภาวะท้องร่วงรุนแรงร่วมกับมีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส อาเจียน ไม่รู้สึกดีขึ้น มีมูกเลือดปน ควรรีบเข้ารับการรักษาจากแพทย์ในโรงพยาบาลใกล้เคียงอย่างเร่งด่วนภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันภาวะช็อก นอกจากนี้ บุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากพบว่ามีอาการบ่งชี้ของภาวะอาหารเป็นพิษ ได้แก่

  • ผู้หญิงตั้งครรภ์
  • ผู้สูงอายุ
  • เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแออย่าง ผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือติดเชื้อ HIV รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคลิ้นหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไต เป็นต้น

สรุป

การเลือกรับประทานอาหารที่สะอาด หลีกเลี่ยงอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารพิสดารที่ไม่รู้จัก เพราะอาจจะมีสารพิษปนเปื้อนอยู่โดยที่เราไม่รู้ตัว จะทำให้เราปลอดภัยจากโรค ดังสุภาษิตที่ว่า ความไม่มีโรคคือลาภอันประเสริฐ

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น