แหล่ง “น้ำศักดิ์สิทธิ์ น้ำอภิเษก” ในภาคเหนือ เพื่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

การตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ ในรัชกาลปัจจุบัน ประกาศตั้งการพระราชพิธีขึ้น ระหว่าง 4 -6 พ.ค.2562 หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญตามโบราณราชพิธี จะมีการจัดเตรียมน้ำอภิเษก จากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 107 แหล่งใน 76 จังหวัด

แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มตั้งแต่แหล่งน้ำ 1 แห่งถึง 6 แห่ง ( 5 แหล่งไม่มี ) หากเป็น 1แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ จะมี 60 จังหวัด ในภาคเหนือมีที่ เชียงราย บ่อน้ำทิพย์ (อ.แม่สาย), ตาก อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล (อ.สามเงา), นครสวรรค์ บึงบอระเพ็ด (อ.เมือง), น่าน บ่อน้ำทิพย์วัดสวนตาล (อ.เมือง), พิจิตร แม่น้ำน่าน บริเวณหน้าพระอุโบสถวัดท่าหลวง (อ.เมือง), พิษณุโลก สระสองห้อง (อ.เมือง), แม่ฮ่องสอน ถ้ำปลา (อ.เมือง),ลำปาง บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์หรือบ่อน้ำเลี้ยงพระนางจามเทวี (อ.เกาะคา), ลำพูน ดอยขะม้อ บ่อน้ำทิพย์ (อ.เมือง), อุตรดิตถ์ บ่อน้ำทิพย์ (อ.ลับแล)

2 แหล่งน้ำศักดิ์ มี 7 จังหวัด 14 แหล่งน้ำ ภาคเหนือ มีที่ พะเยา ขุนน้ำแม่ปืม (อ.แม่ใจ) น้ำตกคะ หรือน้ำคะ (อ.ปง), 3 แหล่งน้ำ มี 5 จังหวัด 15 แหล่งน้ำ ภาคเหนือ มีที่ เชียง ใหม่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดบุพพาราม (อ.เมือง) อ่างกาหลวง (อ.จอมทอง) ขุนน้ำแม่ปิง (อ.เชียงดาว), สุโขทัย บ่อแก้ว (อ.ศรีสัชนาลัย) บ่อทอง (อ.ศรีสัชนาลัย) ตระพังทอง (อ.เมือง) ถ้า 4 แหล่งน้ำ จะมี 3 จังหวัด 12 แหล่งน้ำ ที่แพร่ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ลำน้ำแม่คำมี (อ.เมือง) บ่อน้ำวัดบ้านนันทาราม (อ.เมือง) บ่อน้ำพระฤาษี (อ.วังชิ้น) บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ วัดพระหลวง (อ.สูงเม่น) ส่วน 6 แหล่งนั้นภาคเหนือไม่มี

ทั้งนี้ น้ำแต่ละแห่ง เมื่อทำพิธีพลีกรรมตักน้ำแล้ว จะบรรจุภาชนะนำเข้าพิธีสมโภชน้ำอภิเษก ณ มหาเจดีย์สถานและพระอารามต่าง ๆ ก่อนจะนำส่งมายังกรุงเทพฯ ก่อนหน้าพระราชพิธีและเชิญตั้งไว้ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนกว่าจะถึงวันพระราชพิธี จึงเชิญเข้าพิธีสวดพระพุทธมนต์เสกน้ำ ณ พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ต่อไป

ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึง 4 มีการใช้น้ำอภิเษกจากสถานที่ต่างๆ ซึ่งใช้แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา น้ำในแม่น้ำสำคัญของประเทศ ซึ่งเรียกว่าเบญจสุทธิคงคา ครั้นถึง ร. 5 เพิ่มน้ำจากปัญจมหานที คือ แม่น้ำคงคา ,ยมนา ,มหิ ,อจิรวดี และสรภู ซึ่งถือว่าไหลมาจากเขาไกรลาส ที่สถิตย์ของพระอิศวร ในชมพูทวีปของอินเดียตามตำราพราหมณ์ เจือลงไปด้วย

ร.6 ใช้น้ำอภิเษกเช่นเดียวกับ ร.5 แต่พระราชพิธีครั้งที่ 2 พ.ศ.2454 ตักน้ำจากแหล่งน้ำสำคัญๆ มาตั้งพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์เพิ่มอีก 7 แห่ง เช่น บ่อน้ำทิพย์ เมืองนครลำพูน ทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุหริภุญชัย อันเป็นมหาเจดีย์สถานในแว่นแคว้นโบราณราชธานีทั้งหลายใน ฝ่ายเหนือ คือ นครหริภุญชัย นครเขลางค์ นครเชียงแสน นครเชียงราย นครพเยา และนครเชียงใหม่

นอกจากนี้ ยังตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปตั้งทำพิธี ณ วัดสำคัญในมณฑลต่างๆ อีก 10 มณฑล เช่น วัดมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์ มณฑลเพชรบูรณ์ รวมสถานที่ทำน้ำอภิเษกทั้งหมด 17 แห่ง ใช้มาจนถึง ร.7 แต่ทรงโปรดฯตั้งพิธีทำน้ำอภิเษกรวม 18 แห่ง เปลี่ยนที่ตั้งพิธีจากวัดมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์ มาตั้งที่พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่ และเพิ่มที่บึงพระลานชัย จ.ร้อยเอ็ด อีกแห่ง ในรัชกาลที่ 9 ตั้งพิธีเสกน้ำเช่นเดียวกับ ร.7 แต่เปลี่ยนสถานที่จากพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่ เป็นพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน

ร่วมแสดงความคิดเห็น