Aqua Fitness ออกกำลังกายในน้ำดีอย่างไร?

หากพูดถึงเรื่องของสุขภาพแล้วนั้น แน่นอนเลยว่า ทุก ๆ คนก็คงอยากที่จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ห่างไกลจากโรคกันทั้งนั้น ทำให้ในปัจจุบันมีผู้คนหันมาให้ความสนใจในการออกกำลังกายมากขึ้น ซึ่งการออกกำลังกายในปัจจุบันนี้ ก็มีอยู่มากมายหลายประเภท และสามารถทำได้อย่างหลากหลายรูปแบบ ซึ่ง การออกกำลังกายในน้ำ หรือ Aqua Fitness ถือได้ว่าเป็นการออกกำลังกายอีกหนึ่งประเภทที่น่าสนใจ และกำลังได้รับความนิยมอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมาบอกถึงประโยชน์ของการออกกำลังกายในน้ำ ว่ามีผลดีอย่างไรบ้าง ให้ทุกคนได้ทราบกันค่ะ

Aqua Fitness คืออะไร?

ปกติแล้วการออกกำลังกายในน้ำจะรู้จักกันเฉพาะในวงการแพทย์ ใช้สำหรับฟื้นฟูสมรรถภาพนักกีฬาหลังอาการบาดเจ็บ แต่ช่วงหลัง ๆ มานี้ ด้วยความที่ผู้คนส่วนใหญ่นิยมในการออกกำลังกายเพิ่มขึ้น จึงมีการค้นพบว่า “Aqua Fitness” เป็นการออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมสุขภาพได้อย่างแท้จริง จนกลายเป็นกระแสนิยม และถูกนำมาประยุกต์เข้ากับการออกกำลังกายรูปแบบต่าง ๆ อย่างเช่น จ๊อกกิ้งในน้ำ แอโรบิกในน้ำ การเต้นในน้ำ และอีกหลาย ๆ อย่างมากมาย

การออกกำลังกายในน้ำ หรือ Aqua Fitness

ออกกำลังกายในน้ำดีอย่างไร?

อย่างที่หลาย ๆ คนคงทราบกันอยู่แล้วว่า น้ำมีคุณสมบัติลอยตัว ดังนั้นการออกกำลังกายในน้ำจึงช่วยรองรับน้ำหนักตัว และลดแรงกดที่ข้อต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังพยุงไม่ให้เราล้มง่าย และช่วยให้การเคลื่อนไหวร่างกายสามารถทำได้ง่ายกว่าการออกกำลังกายบนบก จึงแทบจะไม่ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บเลย

น้ำมีคุณสมบัติลอยตัวช่วยให้การเคลื่อนไหวร่างทำได้ง่าย

เริ่มต้นออกกำลังกายในน้ำ ต้องรู้อะไรบ้าง?

สำหรับใครที่ว่ายน้ำไม่เป็น ไม่เคยว่ายน้ำมาก่อน หรือกลัวการลงน้ำ ก็สามารถเริ่มจากการออกกำลังกายในน้ำที่มีระดับความลึก 1 เมตร ในระดับเอว แล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มระดับความลึกขึ้น ยิ่งระดับความลึกมาก ก็จะช่วยพยุงน้ำหนักตัวให้ลดลงได้ประมาณ 50-80% และก่อนลงน้ำในทุก ๆ ครั้ง ควรวอร์มร่างกายจากท่าง่าย ๆ เริ่มต้นโดยการเดินประมาณ 2 นาที เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ต่อจากนั้นบริหารร่างกายต่อเล็กน้อย เพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อเตรียมพร้อม และป้องกันการบาดเจ็บ สำหรับใครที่ยังแข็งแรงดี การว่ายน้ำจะช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางร่างกายได้ดีขึ้น แต่ถ้ามีปัญหาเรื่องข้อต่อ และการเดินหรือวิ่งในน้ำ ให้ขยับแขน ขา ออกแรงต้านน้ำไปมา ก็ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นได้เช่นเดียวกัน

คุณสมบัติและประโยชน์ของการออกกำลังกายในน้ำ

การออกกำลังกายในน้ำสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ
  1. แรงดันใต้น้ำ ทำให้เลือดดำไหลกลับสู่หัวใจได้ง่าย และส่งผลต่อระบบหายใจ ทำให้ปริมาณอากาศหลังหายใจออกค้างอยู่ในปอดน้อยลง ดังนั้นการออกกำลังกายในน้ำจึงช่วยลดความดันโลหิต ทำให้ชีพจรเต้นช้าลง ช่วยให้การสูบฉีด และการไหลเวียนโลหิตในร่างกายดีมากขึ้น
  2. แรงลอยตัว ช่วยพยุงให้น้ำหนักตัวลดลง ดังนั้นในขณะที่อยู่ใต้น้ำร่างกายจึงเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ข้อต่อต่าง ๆ สามารถทำงานได้ดี ร่างกายมีความยืดหยุ่นสูง จึงลดแรงกระทบกระเทือนที่จะก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บต่อกระดูกและ ข้อต่อต่าง ๆ ในระหว่างการออกกำลังกายได้
  3. ความต้านทานในน้ำ น้ำจะต้านการเคลื่อนไหวของร่างกายทุกทิศทาง ทำให้ควบคุมได้ยากกว่าอยู่บนบก แต่กลับช่วยบริหารกล้ามเนื้อทุกส่วนในร่างกายได้อย่างทั่วถึง ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง และส่งผลให้รูปร่างกระชับ สมส่วน ได้อย่างดีอีกด้วย
  4. อุณหภูมิของน้ำ เมื่ออยู่ในน้ำร่างกายจะสามารถระบายความร้อนได้ดีกว่าบนบกถึง 25 เท่า ทำให้รู้สึกสดชื่น ไม่อ่อนเพลีย จึงช่วยป้องกันอันตรายจากความร้อนอย่างอาการลมแดด หรือ Heat Stroke ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้การออกกำลังกายในน้ำยังส่งผลดีต่อการคลอดลูก ผู้มีภาวะความเครียด และผู้ที่มีปัญหาหมอนรองกระดูก เพราะช่วยในการบำบัดรักษา หรือฟื้นฟูสมรรถภาพได้ดี แม้แต่ผู้สูงอายุ ผู้อ่อนแรง หรืออ่อนแอมาก ๆ ก็สามารถออกกำลังกายในน้ำเบา ๆ ได้เช่นกัน

ข้อควรระวังในการออกกำลังกายในน้ำ

อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายในน้ำอาจทำให้เกิดการฉีกขาดของกล้ามเนื้อ และเอ็นรอบข้อได้เช่นเดียวกับการออกกำลังกายบนพื้นดิน จึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องมีการอบอุ่นร่างกายก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น

สรุป

จะเห็นได้ว่า การออกกำลังกายในน้ำเป็นสิ่งที่เริ่มต้นทำได้ง่าย ไม่ต่างจากการออกกำลังกายรูปแบบอื่น ๆ เพียงแค่เข้าใจคุณสมบัติของน้ำ และเลือกบริหารร่างกายในท่าที่เหมาะสมก็สามารถทำได้แล้ว ประโยชน์ที่ได้รับก็ไม่ต่างไปจากการออกกำลังกายบนพื้นดินเลย จึงถือได้ว่าการออกกำลังกายในน้ำ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ของผู้ที่รักสุขภาพหลาย ๆ คน ที่จะช่วยนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีได้อย่างแท้จริง

อ้างอิงข้อมูลจาก : 40plus.posttoday.com, health.mthai.com
เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

ร่วมแสดงความคิดเห็น