“เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” การฟื้นฟูอาณาจักรล้านนาหลังพม่าปกครอง

อาณาจักรล้านนาในยุคที่เรียกกันว่า “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” หมายถึงการโยกย้ายผู้คนจากเมืองอื่น ๆ เข้ามาเพื่อฟื้นฟูเมืองล้านนา เพราะในยุคนั้นอาณาจักรล้านนาเกือบจะเป็นเมืองร้าง หลังจากการกอบกู้เอกราชคืนจากพม่าได้

และในวันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมาขยายคำว่า “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” มาให้ผู้อ่านที่กำลังสงสัยเกี่ยวกับความหมายประโยคนี้ให้กระจ่างแจ้งขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย

เมื่อประมาณ พ.ศ.2314 “พญาจ่าบ้าน” (บุญมา) ขุนนางที่เชียงใหม่กับ “พระยากาวิละ” ลูกเจ้าฟ้าเมืองลำปาง ได้ร่วมมือกันต่อสู้กับพม่าโดยเข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี เพื่อขอความช่วยเหลือให้ยกกองทัพไปช่วยขับไล่พม่าออกจากแผ่นดินล้านนา ครั้งนั้นพม่ายึดครองเมืองเชียงใหม่อยู่

“พระยากาวิละ” บุตรของเจ้าเมืองลำปาง

“สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” พร้อมด้วย “พระยาจักรี” และ “เจ้าพระยาสุรสีห์” ยกกองทัพหลวงขึ้นมาทางเมืองนครลำปางและเข้าตีเมืองเชียงใหม่ได้ใน พ.ศ.2317 หลังจากนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้พระราชทานแต่งตั้ง “พระยาจ่าบ้าน” (บุญมา) เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ และให้ “พระยากาวิละ” เป็นเจ้าเมืองนครลำปาง

พระยาจักรี แม่ทัพคนสนิทของพระเจ้ากรุงธนบุรี

กองทัพพม่าที่แตกหนีจากเมืองเชียงใหม่ไปได้เพียงหนึ่งเดือนก็ยกกำลังพลจำนวนมากมาล้อมเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง ในปี พ.ศ.2318 ขณะนั้นไพร่พลของเมืองเชียงใหม่มีจำนวนน้อย ได้กำลังจากนครลำปางส่วนหนึ่งมาช่วยสู้รบกับพม่า

หลังจากพม่าล้อมเมืองเชียงใหม่ได้ 8 เดือน ก็เสบียงหมด ซึ่งประจวบเหมาะกับกองทัพไทยมาถึงช่วยตีทัพพม่าจนแตกทัพพ่ายไป เมืองเชียงใหม่ที่เคยเจริญรุ่งเรือง ก็ถึงกาลเสื่อมโทรมสุดขีด พลเมืองแตกฉานหนีไปอยู่ที่อื่น พระยาจ่าบ้านได้ทิ้ง “เมืองเชียงใหม่” ไปอยู่ “เมืองนครลำปาง” ระยะหนึ่งแล้วกลับมาตั้งอยู่ที่ตำบลวังพร้าว เป็นผลให้เมืองเชียงใหม่กลายเป็นเมืองร้างถึง 21 ปี ในช่วงเวลาที่เมืองเชียงใหม่ร้าง มีตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ที่พรรณนาถึงสภาพของเมืองเชียงใหม่ในเวลานั้นว่า

“เสื่อมโทรมยิ่งนัก ภายในเมืองมีต้นไม้ ป่าหญ้า เถาวัลย์ ขึ้นปกคลุม เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ใหญ่น้อยทั้งหลาย เป็นต้นว่า เสือ, หมี, แรด, ช้าง, กระทิง, กวาง และอื่น ๆ วัดวาอาราม, โบสถ์, วิหาร, เจดีย์ในบวรพระพุทธศาสนา ตลอดจนรั้วเวียงวังทั้งหลายเสียหายพังทลายเป็นอันมาก…”

แผนที่จำลองเมืองเชียงใหม่โบราณ

ซึ่งในขณะเดียวกันบ้านเมืองต่าง ๆ ของล้านนาในขณะนั้นก็มีสภาพร้างไม่ต่างไปจากเมืองเชียงใหม่ เช่นกัน ซึ่งได้แก่ นครลำปาง, เมืองลำพูน, เมืองน่าน, เมืองพะเยา, เมืองเชียงรายและเชียงแสน

เมื่อบ้านเมืองเริ่มสงบเรียบร้อย การฟื้นฟูบ้านเมืองจึงได้เริ่มเกิดขึ้นโดยมีเมืองเชียงใหม่เป็นจุดเริ่มต้น การฟื้นฟูเชียงใหม่เริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2339 เมื่อพระยากาวิละได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ จากรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินธร์ให้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่แล้ว จากนั้นก็ได้แบ่งไพร่พลจากเมืองนครลำปางมาเป็นกำลังสำคัญในการบูรณะฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ แต่กำลังมีไม่เพียงพอ

ดังนั้น “พระยากาวิละ” จึงได้รวบรวมไพร่พลเข้ามาเป็นพลเมืองของเชียงใหม่ โดยกวาดต้อนพลเมืองจำนวนหนึ่งที่หลบหนีอยู่ตามป่าเขาให้กลับเข้าสู่เมือง และยกกองทัพไปตีบ้านเมืองต่าง ๆ ในแคว้นสิบสองปันนาและบ้านเมืองในแถบลุ่มแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นชนหลายเผ่าพันธุ์ เช่น ไทยใหญ่, ลื้อ, เขิน, ยาง และอื่น ๆ เข้ามาเป็นพลเมืองของเชียงใหม่

ซึ่งเหตุการณ์ของการฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ และรวมไปถึงเหล่าดินแดนในอาณาจักรล้านนาในช่วงเวลาเดียวกันครั้งนี้เองเป็นยุคที่เรียกกันว่า “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” นั่นเอง

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
อ้างอิงข้อมูลจาก : KPPK Entertainment
ภาพจาก : th.wikipedia.org, sites.google.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น