เทศกาล “ตรุษจีน” เมืองเชียงใหม่

“ซินเจีย หยู่อี่ ซินนี้ ฮวดใช้” เป็นคำในภาษาจีนมีความหมายถึง โชคดีปีใหม่มีเงินทองใช้ถ้วนหน้า เมื่อถึงช่วงเทศกาลตรุษจีน หรือวันปีใหม่ของชาวจีน เราจะเห็นว่าร้านค้าต่าง ๆ จะประดับประดาด้วยสีแดง ตั้งโต๊ะบูชาบรรพบุรุษ ที่หน้าประตูห้อยโคมไฟสีแดง รวมทั้งมีการเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่

บรรยากาศของงานเทศกาลตรุษจีนเชียงใหม่ มีการตกแต่งประดับโคมจีนพร้อมแสงไฟส่องสว่างกว่า 2,000 ลูก ตลอดแนวถนนข่วงเมรุ หรือ ตรอกเล่าโจ้ว มีการแสดงนาฏศิลป์ กายกรรม ดนตรีจีนโบราณและการแสดงขบวนแห่ทางวัฒนธรรมของจีนที่น่าสนใจ

นอกจากนั้นมีการจัดซุ้มศิลปวัฒนธรรมจีน การทำโคมไฟกระดาษ การปักผ้าด้วยไหมจีน ในงานยังมีการจัดเทศกาลอาหารอร่อย มีร้านค้าจากภัตตาคารชื่อดังทั่วเชียงใหม่มาเปิดร้านจำหน่ายอาหาร

วันปีใหม่ของชาวจีน หรือ วันตรุษจีน ได้กำหนดเอาวันสิ้นเดือน 12 คือวันขึ้น 1-3 ค่ำเดือนอ้ายของชาวจีน ซึ่งจะตรงกับวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 ในวันย่างเข้าฤดูใบไม้ผลิหรือชาวจีนเรียกว่า ชุนเจี๊ย หรือ ตรุษจีน ความสนุกสนานและพิธีกรรมต่าง ๆ ก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้งหลัง
จากที่รอคอยมานานนับปี บ้านเรือนร้านค้าของชาวจีนจะถูกตกแต่งด้วยวัตถุมงคลมีการเฉลิมฉลองด้วยความรื่นเริง ธุรกิจต่าง ๆ ที่ทำกันมาอย่างเหน็ดเหนื่อยทั้งปีก็จะถูกปิดลงอย่างเงียบสงบ หลงเหลือแต่เพียงกลิ่นหอมจากควันธูปและของเซ่นไหว้ที่ลูกหลานพร้อมใจกันมาสักการะบรรพบุรุษของพวกเขา

เทศกาลตรุษจีนแบ่งออกเป็น 3 วันคือ วันจ่าย วันไหว้และวันถือ วันที่สำคัญที่สุดจะอยู่ในสองวันสุดท้าย วันไหว้จะตรงกับวันสิ้นเดือน 12 ของจีน ในวันนี้จะมีพิธีไหว้อยู่ 3 เวลาคือ เช้า กลางวันและบ่าย เป็นการไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษและญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว

ส่วนของที่นำมาไหว้ได้แก่ หมู เป็ด ไก่ สุรา น้ำชา เห็ดหอม ขนมเทียน ขนมเข่ง ส้มจีนและผลไม้ต่าง ๆ ที่ขาดไม่ได้คือ กระดาษเงินกระดาษทอง หรือเครื่องใช้ส่วนตัวที่เป็นกระดาษ หลังจากการเซ่นไหว้แล้วก็จะนำไปเผาเพื่อให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับได้นำไปใช้บนสรวงสรรค์ บางครอบครัว

เมื่อสิ้นสุดการไหว้ก็จะมีการจุดประทัด ในช่วงเวลาค่ำของวันนั้นผู้ใหญ่ในครอบครัวก็จะเอาเงินหรือสิ่งของให้แก่บุตรหลาน ชาวจีนเรียกว่า “แต๊ะเอีย” ซึ่งหมายถึงเงินก้นถุงประจำปี วัตถุประสงค์ของการให้เงินแต๊ะเอียก็คือ ผู้ใหญ่ต้องการให้เด็กมีเงินมีทองเก็บไว้ ถ้าเป็นลูกหลานเล็ก ๆ ก็จะใส่กระดาษสีแดง เรียกว่า “อั่งเปา” ส่วนบรรดาลูกจ้างที่ทำงานด้วยก็จะได้เงินแต๊ะเอียเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นตามบ้านบริษัทและห้างร้านต่าง ๆ จนในที่สุดเงินแต๊ะเอียได้กลายเป็นเงินรางวัลประจำปี หรือคล้าย ๆ กับเงินโบนัสไปเสียแล้ว

วันถือ เป็นวันถัดจากวันไหว้ เรียกว่า “ชิวอิก” เป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน และถือเป็นวันมงคลจะไม่ประกอบการงาน ไม่ซื้อ ไม่ขาย งดเว้นการกระทำที่ไม่ดี เช่น ไม่ทะเลาะกัน ไม่ทำของแตก ไม่ใช้มีดหรือของมีคม ไม่กวาดบ้าน เพราะชาวจีนเชื่อว่าจะเป็นการกวาดเอาโชคลาภออกไปจากบ้าน ส่วนเครื่องแต่งกายที่ดูเหมือนจะเน้นสีสันสดใส โดยเฉพาะสีแดงก็คือ ชาวจีนมีความเชื่อว่าสีแดงเป็นสีแห่งมงคล

สัญลักษณ์ของงานตรุษจีนที่ดูเหมือนว่าจะขาดไม่ได้ก็คือ การแห่มังกรและการแห่สิงโต คนจีนโบราณเชื่อว่า มังกรเป็นสัตว์เทพมีฤทธิ์สามารถแปลงกายได้ บันดาลให้ฝนตกได้และยังเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ความรุ่งเรืองและมีอำนาจ รวมทั้งยังเป็นเทพเจ้า ผู้คุ้มครองที่บรรพบุรุษนับถือบูชาอย่างยิ่ง นอกจากนี้มังกรยังมีความหมายว่า การเปลี่ยนแปลงพัฒนาให้สิ่งสิริมงคลยิ่งขึ้นไปอีก

ในเทศกาลตรุษจีนชาวจีนจะนิยมการจุดประทัด มีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับการจุดประทัดว่า เมื่อหลายพันปีมาแล้วมีชาวจีนคนหนึ่งชื่อ “ตงโซ่ว” ป่วยเป็นโรคไข้จับสั่นรักษาอย่างไรก็ไม่หาย บรรดาญาติพี่น้องก็คิดว่านายตงโซ่วถูกผีเข้า ก็เลยไปตามนายหลี่เทียน หมอผีในหมู่บ้านมาทำการรักษา นายหลี่เทียนสั่งให้ชาวบ้านไปหาไม้ไผ่มาสุมไว้กองใหญ่ แล้วจุดไฟเผาไม้ไผ่กองนั้นจนไหม้แตกเกิดเสียงโป้งป้างหมดไปหลายกอง อาการของนายตงโซ่วจึงเริ่มดีขึ้น

ต่อมามีคนจีนหัวใสได้คิดประดิษฐ์ประทัดขึ้นเพื่อใช้แทนการเผาไม้ไผ่และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ชาวจีนจึงมีความเชื่อต่อมาว่าปีศาจชั่วร้ายทั้งหลายต่างกลัวไฟและเสียงดัง

นอกจากนี้ในวันตรุษจีนคนไทยเชื้อสายจีนยังนิยมการปิดรูปเทวดารักษาประตูมาตั้งแต่ในอดีต ซึ่งปัจจุบันก็ยังสามารถพบเห็นกันอยู่อย่างมากมายตามบ้านเรือนของชาวจีน โดยมีความเชื่อว่า เพื่อเป็นการป้องกันภูตผีปีศาจและขจัดภัยพิบัติทั้งปวง ส่วนกาพย์กลอนคู่เป็น
กาพย์กลอนสิริมงคลที่ปิดไว้บนประตูบ้านในวันตรุษจีน ส่วนใหญ่จะนิยมข้อความที่มีความหมายว่า “ทรัพย์อุดมค่าประเสริฐ” หรือ “คนเก่งแผ่นดินดี” หรือ “สุขสันต์ทุกปีสมความปรารถนาตลอดกาล” เป็นต้นซึ่งข้อความเหล่านี้จะมีความหมายที่ดีและติดเพื่อเป็นการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของชาวจีน

เทศกาลตรุษจีนจึงเป็นความเชื่อและประเพณีอันสูงส่งของชาวจีนที่นับวันจะยิ่งใหญ่และมีมนต์ขลังมากขึ้นทุกที.

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น