“แถลงข่าว อย่างยิ่งใหญ่ท่ามกลาง งานสตรอว์เบอร์รี่และของดีอำเภอสะเมิง ครั้งที่ 18 ประจำปี 2562”

วันที่ 25 มกราคม 2562 เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อำเภอสะเมิง นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในงานแถลงข่าว งานสตรอว์เบอร์รี่และของดีอำเภอสะเมิงครั้ง ที่ 18 ประจำปี 2562 เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมผลิตภัณฑ์และแหล่งท่องเที่ยว การเสริมสร้างยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ ให้เกษตรกรได้มีโอกาสเผยแพร่ผลิตผลทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และของดีอำเภอสะเมิงให้เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปะประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวและเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ในการนี้นายสมพล แสนคำ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวเสริมในประเด็นสถานการณ์การผลิตสตรอว์เบอร์รี่ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ว่า

เชียงใหม่เป็นแหล่งปลูก “สตรอว์เบอร์รี่” ที่สำคัญของประเทศโดยมีพื้นที่การผลิตทั้งสิ้น 6,670 ไร่ ปลูกมากที่สุดที่อำเภอสะเมิง เนื่องด้วยสภาพภูมิประเทศ ความสูงที่เหมาะกับการติดดอก พัฒนาผลของสตรอว์เบอร์รี่ ซึ่งเกษตรกรจะเริ่มทำการเพาะปลูกปลายเดือนสิงหาคม เก็บผลผลิตตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เมษายน ซึ่งตั้งแต่เริ่มปลูกจนเก็บเกี่ยวใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 3 เดือน ส่วนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ จะเป็นเดือนที่สตรอว์เบอร์รี่ออกสู่ตลาดจำนวนมาก และทางอำเภอสะเมิงมีการจัดงานวันสตรอว์เบอร์รี่เป็นประจำทุกปี ซึ่งปีนี้เป็นครั้งที่ 18 จะตรงกับวันที่ 6-10 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อเป็นการส่งเสริมการการผลิต ที่ปลอดภัย การคัดพันธุ์ดี อีกทั้งยังเป็นกระจายผลผลิตสตรอว์เบอรี่ในช่วงที่ออกสู่ตลาดมาก รวมถึงเป็นการเพิ่มมูลค่าจากการท่องเที่ยววิถีเกษตร ซึ่งปีหนึ่งสามารถสร้างมูลค่าหลายล้านบาท

โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ส่งเสริมสตรอว์เบอร์รี่แปลงใหญ่ จำนวน 50 ราย พื้นที่กว่า 350 ไร่ ผ่านศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.) โดยมีนายวิทยา นาระต๊ะและนายธนิน ยี่โท เกษตรกรต้นแบบ ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสรอว์เบอร์รี่ปลอดภัย ตั้งแต่การขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ใช้ไหลปลอดโรค การใช้สารชีวภัณฑ์ ปุ๋ยหมักรวมถึงการแปรรูปเพิ่มมูลค่า ในรูปแบบ แยม,อบแห้ง,น้ำ, ไวน์ ผ่านการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ไม่เพียงเท่านี้ยังมีหน่วยงานเอกชนร่วมนำนวัตกรรมในการผลิตโดยใช้กระดาษแทนใบตองตึง คลุมแปลงเพื่อต่อยอดนวัตกรรมสู่เกษตรกรไม่เพียงเท่านี้ยังได้รับงบประมาณจังหวัดเพื่อพัฒนาการผลิตสตรอว์เบอร์รี่ในระบบปิดเพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตและสามารถแข่งขันในระบบธุรกิจลดการใช้สารเคมีเกษตรกรมีรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น