นอนกรน! กับการหยุดหายใจขณะหลับ

อาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นปัญหาและโรคในการนอนหลับที่พบบ่อย ในคนอายุ 30-35 ปี พบในกลุ่มผู้ชายมากถึง 20-30% ส่วนผู้หญิงพบได้ 10-15% โดยเฉพาะคนที่อยู่ในวัยทำงาน คนที่อาการรุนแรงมาก พบได้สูงถึง 5% และยังพบเด็กเป็นโรคนอนกรนได้เช่นกัน โดยเฉพาะคนอ้วน ผู้สูงวัย ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ โรคจมูกอักเสบ ผู้ที่ทำงานหักโหม หรือออกกำลังกายมากเกินไป

อาการกรนเกิดขึ้นได้อย่างไร และเป็นอันตรายมากน้อยแค่ไหน วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะเล่าให้ฟัง

อาการกรนเกิดขึ้นได้อย่างไร

อาการกรด เกิดขึ้นในขณะนอนหลับ (เฉพาะเวลาที่เรานอนหงาย) โดยเกิดจากการตีบแคบลงของทางเดินหายใจ ทำให้ลมหายใจที่ผ่านเข้ามาผ่านช่องแคบนี้ เกิดการกระพือ และกลายเป็นเสียงกรนขึ้น ตามธรรมชาติเมื่อเรานอนหลับ กล้ามเนื้อต่าง ๆ จะหย่อนตัว หรือคลายตัวลง เช่น เพดานอ่อน หรือโคนลิ้น

เสียกรน เสียงที่รบกวนคนข้างๆ

นอกจากการหย่อนของกล้ามเนื้อคอ ยังมีสาเหตุอื่น ที่ทำให้เกิดการแคบลง หรืออุดตันของทางเดินหายใจ เช่น ต่อมทอนซิลโต ผู้ป่วยที่อ้วนมากอาจมีเนื้อเยื่อผนังคอที่มาก ผู้ป่วยมีลิ้นโต การมีเนื้องอกหรือถุงน้ำของระบบทางเดินหายใจส่วนบน อาการนอนกรนจึงเป็นสัญญาณบอกว่า อาจมีความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ

ความรุนแรงของอาการนอนกรน

ความรุนแรงระดับ 1
การนอนกรนทั่วไป ไม่บ่อย และมีเสียงไม่ดังมาก การนอนกรนในระดับนี้ ยังไม่ส่งผลต่อการหายใจขณะนอนหลับ แต่อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของบุคคลที่นอนข้าง ๆ ได้

ความรุนแรงระดับ 2
การนอนกรนที่เกิดขึ้นบ่อย หรือมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ การนอนกรนในระดับนี้ อาจส่งผลต่อการหายใจ ในระดับน้อยถึงปานกลางขณะนอนหลับ ส่งผลให้รู้สึกง่วง และเหนื่อยในเวลากลางวัน

ความรุนแรงระดับ 3
การนอนกรนเป็นประจำทุกวัน และมีเสียงดัง การนอนกรนในระดับนี้ มักเกิด “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ” ร่วมได้ อาจทำให้ทางเดินหายใจถูกปิดกั้นบางส่วน หรือทั้งหมดเป็นเวลาประมาณ 10 วินาที ส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ และส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

ภาพบรรยายการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea : OSA) คืออะไร

เป็นความผิดปกติในการนอนหลับ โดยกล้ามเนื้อในช่องคอ มีการหย่อนตัวลงมากขึ้น ช่องทางเดินหายใจที่ตีบแคบ จะแคบลงมาจนปิดสนิท เกิดขึ้นได้กับผู้ที่นอนกรน หากพบอาการต่อไปนี้ร่วมกับการนอนกรน ควรไปพบแพทย์ดีที่สุด

1.กรนเสียงดัง
2.ง่วงมากในตอนกลางวัน
3.ปวดศีรษะในตอนเช้า
4.คอแห้ง เจ็บคอ
5.สมาธิ และความจำลดลง
6.นอนกระสับกระส่าย สำลัก หรือเจ็บหน้าอกในตอนกลางคืน
7.ความดันโลหิตสูง

ผลกระทบต่อคนที่เป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

อย่างไรก็ดีอาการนี้ไม่เกิดกับทุกคน แต่คนที่เป็นโรคนอนกรน และหยุดหายใจนั้น อาจมีผลกระทบอื่น ๆ และโรคตามมาได้ เช่น ประสิทธิภาพการทํางานลดลง ความจําไม่ดี หงุดหงิดง่าย ง่วงหลับใน หากทิ้งไว้ในระยะยาว โดยไม่รักษาอาจนําไปสู่โรคเหล่านี้ได้

1.ความดันโลหิตสูง
2.โรคหัวใจ
3.โรคหลอดเลือดสมอง
4.อัมพฤกษ์ อัมพาต
5.โรคซึมเศร้า

อ้วน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการกรน

วิธีเลี่ยงอาการกรน

1.ควบคุมน้ำหนัก ความอ้วนเป็นสาเหตุหลักของอาการนอนกรน เพราะไขมันที่สะสมบริเวณช่องทางเดินหายใจบริเวณคอ ถูกเบียดให้เล็กลง รวมทั้งไขมันที่หน้าอก และท้อง ทำให้ร่างกายต้องหายใจหนัก ทั้งใช้พลังงานในการหายใจมากขึ้น
2.ออกกำลังกาย เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อที่รั้งช่องทางเดินหายใจ มีความแข็งแรงขึ้น ขณะที่นอนหลับเนื้อเยื่อภายในปาก จะได้ไม่หย่อนลงมาจนขวางช่องทางเดินหายใจ
3.จัดท่านอน เพื่อป้องกันการหายใจทางปาก โดยการนอนตะแคง หรืออาจใช้หมอนหนุนหลังเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้พลิกมานอนหงาย
4.ยกศีรษะให้สูงขึ้น ถ้านอนตะแคงไม่ได้ ให้นอนหงาย แล้วใช้หมอนเล็ก ๆ หนุนที่บริเวณหลังคอด้านบน ยกศีรษะให้สูงจากเตียง เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ้นหย่อนลงไปในลำคอจนเกิดเสียงกรนได้
5.รักษาที่นอนให้สะอาด พยายามกำจัดปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเกิดหอบหืด ภูมิแพ้ อันเป็นสาเหตุหนึ่งของการกรน เช่น ไรฝุ่น ขนสัตว์
6.พยายามอย่าให้มีน้ำมูกก่อนนอน เพราะจะช่วยให้ช่องจมูกเปิดโล่ง ลมเข้าออกได้สะดวกขึ้น
7.เพิ่มระดับความชื้นในห้องนอน การนอนในห้องที่มีความชื้นต่ำมาก อากาศภายในห้องจะแห้ง ทำให้เยื่อบุต่าง ๆ ในระบบทางเดินหายใจแห้งตาม บางรายอาจเกิดอาการบวม และทางเดินหายใจตีบแคบลง จนเกิดอาการนอนกรนในที่สุด

สมุนไพรลดอาการกรน

1.หอมแดงแก่จัด
นอกจากจะมีสรรพคุณแก้หวัด คัดจมูก ลดไขมันอุดตันในหลอดเลือดแล้ว กลิ่นฉุนของหอมแดงยังช่วยให้เกิดความชุ่มชื้นในลำคอ และช่วยให้ระบบหายใจทำงานได้ดีขึ้น จะเอามาดม หรือประกอบอาหารก็ได้ โดยกินทุกวันอย่างน้อยสองเดือน และถ้าจะให้ได้ผลดีต้องกินสด ๆ เช่น กินกับเมี่ยง ทำเป็นผักจิ้มน้ำพริก เป็นต้น

กลิ่นฉุนทำให้ระบบหายใจดีขึ้น

2.พริกขี้หนู
รสเผ็ดของพริกจะช่วยให้ทางเดินหายใจโล่ง และเกิดความชุ่มชื่นในลำคอ สารแคปไซซินช่วยลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อรอบหลอดลม พริกจึงมีประโยชน์ต่อคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ สามารถนำพริกขี้หนูไปประกอบอาหาร เช่น แกง ต้มยำ หรือต้มโคล้ง จะช่วยให้ระบบหายใจทำงานสะดวกขึ้น ปัญหาการกรนอาจลดลงได้

รสเผ็ดของพริกจะช่วยให้ทางเดินหายใจโล่ง

3.ขิง ใช้เหง้าขิงแก่สด ขนาดเท่าหัวแม่มือ หรือประมาณ 5 กรัม ทุบให้แตก โดยต้มเอาน้ำดื่ม จะช่วยให้สดชื่น ระบบทางเดินหายใจทำงานสะดวกขึ้น

ช่วยให้สดชื่น และหายใจได้สะดวก

4.ใบแมงลัก มีฤทธิ์แก้หวัด และหลอดลมอักเสบ นำใบไปประกอบอาหาร จะช่วยให้ระบบหายใจทำงานดีขึ้น

มีฤทธิ์แก้หวัด และหลอดลมอักเสบ

สรุป

การรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ ลดอาการนอนกรนลงได้ 80-90% แต่ก็ไม่ทำให้หายขาดได้ เราจะต้องดูแลตัวเองด้วย เช่น งดดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ หรือไม่ออกกำลังกายหักโหมจนเกินความจำเป็น และควรงดกินยาที่ออกฤทธิ์กล่อมประสาทชนิดที่ทำให้ง่วงนอน การนอนกรนหากปล่อยไว้นาน ๆ หรือไม่รับการรักษาอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้นะคะ

ศ.นพ.ชัยรัตน์ นิรันตรัตน์ กล่าวว่า “หญิงที่มีรอบคอเกินกว่า 15 นิ้ว และชายที่มีรอบคอใหญ่กว่า 17 นิ้ว เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคนอนกรนได้ พอ ๆ กับคนที่มีต่อมทอนซิลโต และจมูกอักเสบเนื่องจากโรคภูมิแพ้”

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

อ้างอิงข้อมูลจาก
www.thaihealth.or.th
www.bangkokhospital.com
www.dmh.go.th
www.nksleepcare.com
www.pobpad.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

นอนดึก โรคเยอะ อันตรายแยะ

“ภูมิแพ้” คืออะไร ทำไมหลายคนเป็นแล้วไม่หาย

ความโกรธทำให้ความดันขึ้นจริงหรือ ?

ระวังโรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

โรคซึมเศร้าคืออะไร? ทำไมใครๆก็เป็น

สายปาร์ตี้ควรระวัง พิษจากสุรา ส่งผลถึงตาย!!!

ความกลัวกับโรคกลัวต่างกันอย่างไร ?

โรควิตกกังวลกับโรคซึมเศร้า

โรคกลัวความรัก ถ้ารักได้…รักไปแล้ว

สงสัยจะมีปัญหากับโพรงจมูก “ไซนัส” ร้ายแรงกว่าที่คิด เป็นแล้วเป็นอีกได้!!!

น้ำเปล่า ดื่มน้อย เสี่ยงติดเชื้อในท่อปัสสาวะ

ควรรู้ เคี้ยวช้า ส่งผลดีต่อร่างกายมากกว่าที่คิด

เบาหวานเป็นโรคของคนอ้วนจริงหรือ ?

ถั่วเหลือง…สุดยอดธัญพืชต้านโรค

“บะคกรก” ผลไม้ที่มีประโยชน์สูง

ร่วมแสดงความคิดเห็น