“ผีก้ะ” ตำนานผีคุ้มตระกูลของชาวล้านนา

ความเชื่อตามศาสนานั้นเชื่อว่า คนเราที่ตายแล้วจิตวิญญาณก็ล่องลอยอาศัยแทรกไปตามอากาศอยู่ในโลกแห่งวิญญาณร่วมกับผู้คนนี่เอง เพียงแต่มนุษย์ธรรมดาไม่เห็นพวกเขา ด้วยเหตุนี้กระมังผู้คนจึงเชื่อกันว่า “ผีก้ะ” ก็เป็นผีอีกประเภทหนึ่งที่อยู่ในโลกวิญญาณร่วมกับโลกมนุษย์

ตำนานผีก้ะล้านนามีหลายกระแส ได้แก่ ผีกะพระ-นาง, ผีกะดง, ผีกะอาคม, ผีกะตายโหง, ผีกะตระกูล ซึ่งใน วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” ขอนำเสนอตำนานของ “ผีกะตระกูล” หรือที่ชาวล้านนาเรียกว่า “ผีก้ะ” มาให้ได้อ่านกัน

การ์ตูนจำลองรูปร่าง “ผีกะ”

ตำนานของ“ผีกะตระกูล” หรือ “ผีก้ะ” ได้กล่าวไว้ว่า ผู้คนชาวพื้นเมืองได้ซื้อกรวยดอกไม้ซึ่งเป็นตัวแทนผีก้ะจากพ่อค้าชาวลัวะ เพราะว่าต้องการให้วงศ์ตระกูลมีเงินทองมากขึ้น สอนให้ลูกหลานขยันขันแข็งทำมาหากิน อดทนทำงานไม่เลือกกินทุกอย่างที่มีอยู่ ไม่ว่าของหวานอาหารคาว อร่อยหรือไม่อร่อยก็กินได้ทั้งนั้น ด้วยนิสัยดังกล่าวผีนี้จึงมีชื่อว่า ” ผีก้ะ” (ก้ะ หมายถึง “ตะกละ” เช่น “คนขี้ก้ะ” หมายถึง “คนตะกละ”) เจ้าของจะเลี้ยงผีก้ะไว้ในหม้อที่วางไว้บนเพดานบ้าน โดยนำสวยดอกที่ซื้อมาจากพ่อค้าชาวลัวะใส่ไว้เป็นเครื่องสักการะบูชา

ผู้คนที่เลี้ยงผีก้ะไว้เป็นผีประจำตระกูล ผีก้ะจะเฝ้าดูแลรักษาทรัพย์สมบัติให้เป็นอย่างดี ฉะนั้นต้องจัดอาหารเลี้ยงให้ดี อย่าให้อดอยากเพราะหากเจ้าของเลี้ยงไม่ดี ผีกะจะออกหากินสิงสู่ชาวบ้าน เพื่อให้เจ้าของอับอายขายหน้า

“ผีกะ”

ลูกสาวตระกูลที่เลี้ยงผีก้ะ จะถูกเรียกว่า “สาวผีก้ะ” ซึ่งผู้คนทั่วไปมักไม่กล้าแตะต้องเพราะมีผีก้ะคุ้มครอง ด้วยเหตุนี้เอง ผีก้ะก็จะเกรงว่าลูกสาวของบ้านจะไม่มีคู่ ผีกะจะทำเสน่ห์ให้ลูกสาวสวยดูดีขึ้น โดยเฉพาะยามค่ำคืน

ในสมัยก่อนผู้คนใช้ตะเกียงหรือคนล้านนาเรียกกันว่า “ผางมัน” เพื่อใช้แสงส่องในเวลาค่ำคืน ในยามนี้เอง ผีก้ะจะแปลงเป็นลิงเล็ก ๆ สองตัว ให้ตัวผู้จับบนบ่าขวาส่วนลิงตัวเกาะบนบ่าซ้าย ขณะที่ลูกสาวกำลังอยู่ปั่นฝ้ายหรือทำงานตอนกลางคืน โดยที่ผู้คนมักไม่เห็น ซึ่งลิงทั้งสองตัวจะช่วยกันเช็ดแก้มซ้ายขวาลูกสาวให้สวยงามเล่นแสงไฟกลางคืน แต่งแต้มสายตาให้งามวาวเมื่อสะท้อนแสงไต้ไฟ ด้วยเหตุนี้เองเรามักได้ยินว่า “ตาสวยอย่างสาวผีก้ะ”

บางครั้งหนุ่มที่ไปจีบสาวต่างหมู่บ้านโดยไม่ทราบว่าสาวที่ตนเองไปจีบตอนกลางคืนนั้นเลี้ยงผีก้ะ เมื่อเดินกลับใกล้ถึงบ้านมีนกฮูกตามมาส่งถึงบ้าน ก็จะทราบทันทีว่า สาวต่างบ้านที่ตนไปจีบนั้นเลี้ยงผีก้ะ หากหนุ่มรักจริงก็จะไปเที่ยวหาสาวในวันต่อ ๆ ไป แต่หากกลัวว่าจะเป็นลูกเขยตระกูลผีก้ะเขาก็จะหยุดไม่ไปเที่ยวหาสาวบ้านนั้นอีก

หากชายใดตกลงปลงใจแล้วว่าจะแต่งงานกับสาวผีก้ะ ก็จะทำการสู่ขอ นำเงินค่าเสียผีไปใส่ผีแต่งงานกินแขกตามประเพณี เมื่อมาเป็นลูกเขยอยู่ด้วยกันกินข้าวครบเจ็ดไห (เมื่ออยู่บ้านและกินข้าวครบเจ็ดวันบ่าวลูกเขยก็จะเป็นคนในตระกูลผีก้ะไปด้วย)

บางครั้งเจ้าของหรือลูกหลานเลี้ยงดูไม่ดี ไม่มีอาหารไหว้ผีก้ะ ผีก้ะก็จะไปเข้าสิงสู่คนที่มีผมหอมมีลักษณะเส้นหนาขึ้นอยู่ริมขวัญบนศีรษะเป็นสื่อเข้าสิงสู่ตอนกลางคืน ในขณะหลับหรือง่วงซึมจะเคลิ้มฝันเห็นลิงกระโดดเกาะตัว และจะส่งเสียงร้องละเมอโหยหวนด้วยความกลัว เสียงกัดเสียงเย็นทำให้ผู้คนต้องรีบช่วยกันไล่ผีก้ะออกจากร่าง

“ผีกะ” ที่ถูกเลี้ยงไว้ในบ้าน

อันที่จริงความเชื่อเรื่อง “ผีกะ” หรือ “ผีก้ะ” มีมานานมากแล้ว ในหนังสือบางเล่มยังได้กล่าวว่า ผีก้ะเป็นผีเกิดจากการเมืองที่เจ้าเมืองไม่ชอบใครก็จะใส่ร้ายว่าเป็นผีก้ะเพื่อให้ชาวบ้านไล่พวกเขาออกจากบ้าน ซึ่งผู้คนสมัยก่อนหากเกลียดใครไม่ชอบหน้าใครก็มักใส่ร้ายคนที่ตนไม่ชอบว่าเป็น “ตระกูผีก้ะ” บางหมู่บ้านถึงกับขับไล่ครอบครัวผีก้ะออกไปจากหมู่บ้านเลยทีเดียว

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
อ้างอิงข้อมูลจาก : นิคม พรหมมาเทพย์, shockgost.blogspot.com
ภาพจาก : shockgost.blogspot.com, www.bloggang.com, board.postjung.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น