“คาวตอง” กับลาบ สมุนไพรสารพัดประโยชน์ ต้านเซลล์มะเร็ง

สมัยอดีตคนรุ่นเก่ามักนำสมุนไพรมาเป็นเครื่องเคียงทานคู่กับอาหารบนสำรับ จนสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ที่ยังคงมีการทานสมุนไพรเครื่องเคียงกับอาหารเหล่านั้นอยู่ บ้างอยู่ในเมนูอาหาร บ้างก็เป็นเครื่องเคียง

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะพาทุกท่านไปรู้จักกับ “ผักคาวตอง” ที่เป็นสมุนไพรสารพัดประโยชน์ โดยคนเหนือส่วนใหญ่นิยมทานคู่กับลาบ นอกจากนั้น ยังนำมาสกัดเป็นอาหารเสริมต่าง ๆ เพราะเชื่อกันว่าคาวตองมีสรรพคุณรักษาหรือป้องกันโรคร้ายต่าง ๆ

ผักคาวตองคืออะไร ?

ผักคาวตอง เป็นพืชล้มลุกที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Houttuynia cordata Thunb จัดอยู่ในวงศ์ผักคาวตอง (SAURURACEAE)  พบได้ทั่วไปในแถบทวีปเอเชีย ในแถบเทือกเขาหิมาลัย ไปจนถึงเวียดนาม ญี่ปุ่น รวมถึงไทยด้วย เป็นที่รู้จักกันดีในทางภาคเหนือ พบตามลำห้วย ลำธาร และที่ชื้นแฉะ ริมน้ำหรือใต้ต้นไม้ใหญ่ที่มีความชื้นสูง เป็นไม้ชอบที่ลุ่ม เจริญเติบโตได้ตลอดปี แตกหน่อแตกยอดดีในฤดูฝน นำเอาหน่อ หรือกิ่งที่มีรากงอกออกมาไปปักชำปลูกเป็นต้นใหม่ นำเอามาปลูกสวนหลังบ้านเพื่อไว้กิน และมีปลูกขายตลาดบ้าง ส่วนใหญ่จะพบตามร้านอาหารลาบเหนือ ลาบอีสาน

ต้นคาวตองมีประโยชน์อย่างไร ?

  • ทางด้านโภชนาการ ไม่มีข้อมูลสารอาหาร ทางอาหารสำหรับชาวล้านนานั้น ใช้ยอดอ่อนและใบอ่อน เป็นเครื่องเคียงลาบต่าง ๆ โดยเฉพาะลาบหมู
  • ทางยาทั้งต้น เช่น
    • แก้กามโรค
    • แก้โรคผิวหนัง
    • น้ำเหลืองเสีย
    • ทำให้แผลแห้ง
    • ฆ่าเชื้อโรคทางเดินปัสสาวะ
    • ขับปัสสาวะ
    • ทาภายนอกให้เลือดมาเลี้ยงผิวหนัง
    • ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร
    • ช่วยรักษาอาการหูชั้นกลางอักเสบ
  • ทางยาโดยใช้ใบ เช่น
    • แก้ไข้
    • ทำให้น้ำเหลืองแห้ง
    • ใช้เป็นยาระบาย อาหารไม่ย่อย
    • ช่วยแก้โรคไต
    • ช่วยรักษาแผลให้หายเร็วขึ้น
    • ช่วยรักษาโรคหนองใน
  • การประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ เช่น
    • ช่วยรักษาโรคไอกรน
    • ช่วยรักษาการอักเสบชนิดธรรมดาบริเวณแก้วตา
    • ช่วยรักษาโรคหลอดลมขยายตัวมากเกินไป
    • ช่วยรักษาอาการคั่งน้ำในอกจากโรคมะเร็ง
    • ช่วยรักษาอาการไตผิดปกติ
    • ช่วยรักษาโรคตับอักเสบชนิดดีซ่าน
    • ช่วยรักษาการอักเสบบริเวณกระดูกเชิงกราน
    • ช่วยป้องกันการติดเชื้อหลังผ่าตัด
  • ข้อควรระวัง ไม่ควรรับประทานมากนัก เพราะทำให้หายใจสั้นและถี่ อาจเป็นอันตรายได้ แต่เคยมีการทดลองโดยเภสัชกร และยืนยันว่า ผักคาวตองมีพิษน้อยมาก

ผักคาวตองต้านโรคร้ายได้จริงหรือ ?

คาวตองมีสารประกอบฟีนอลที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย เช่น สารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) อัลคาลอยด์ (Alkaloid) และสารเควอซิทิน (Quercetin) ซึ่งอาจมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการทำลายเซลล์ในร่างกาย และยับยั้งการอักเสบได้

ปัจจุบัน มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนที่พิสูจน์ความเชื่อเกี่ยวกับคุณสมบัติต่าง ๆ ของคาวตองไว้ ดังนี้

  1. ยับยั้งเซลล์มะเร็ง
    • เชื่อกันว่า คาวตอง เป็นสมุนไพรที่อาจมีฤทธิ์ต้านมะเร็งได้ มีงานวิจัยหนึ่งที่สกัดสารชีวภาพกลุ่มอัลคาลอยด์หลายชนิดจากคาวตอง แล้วนำมาใช้ทดลองในตัวอย่างเซลล์มะเร็งของมนุษย์ พบว่าสารชนิดนี้อาจมีคุณสมบัติต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้
    • งานวิจัยหนึ่งที่ทดลองใช้คาวตองปริมาณ 250 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร กับตัวอย่างเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ และไส้ตรงระยะแรกเริ่มในห้องทดลองเป็นเวลา 1 วัน พบว่าคาวตองอาจยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และอาจทำลายเซลล์มะเร็งชนิดนี้ได้
  2. ต้านการอักเสบ
    • คาวตองมีสารต่าง ๆ ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และอาจช่วยป้องกันการทำลายเซลล์ในร่างกาย
    • มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งเผยว่า น้ำมันหอมระเหยจากคาวตองมีกลไกการออกฤทธิ์คล้ายกับยาต้านอักเสบกลุ่ม NSAIDs ดังนั้น คาวตองจึงอาจมีประสิทธิผลต้านการอักเสบได้
    • ส่วนงานวิจัยที่ทดลองประสิทธิภาพของคาวตองในตัวอย่างเซลล์มนุษย์ พบว่าสารสกัดจากคาวตองอาจช่วยยับยั้งการอักเสบของเซลล์ผิวหนังได้
    • ในขณะที่อีกหนึ่งงานวิจัยซึ่งฉีดสารสกัดจากคาวตองในหนูทดลองเพื่อดูประสิทธิภาพทางการรักษาอาการอักเสบ พบว่าคาวตองอาจช่วยยับยั้งภาวะหูอักเสบบวมน้ำได้
  3. รักษาโรคเบาหวาน
    • โรคเบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน จนทำให้มีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ คาวตองเป็นผักที่ไม่มีน้ำตาล และมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพหลายชนิด จึงเชื่อว่าการบริโภคคาวตองอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและรักษาโรคเบาหวานได้
    • ซึ่งมีงานวิจัยหนึ่งศึกษาประสิทธิผลในด้านนี้ โดยให้หนูทดลองที่เป็นโรคเบาหวานรับน้ำมันระเหยจากคาวตองหลังการทดลอง พบว่า น้ำมันระเหยจากคาวตอง อาจช่วยปรับระดับกลูโคส อินซูลิน และฮอร์โมนอดิโพเนคทิน ซึ่งอาจช่วยให้ร่างกายลดภาวะดื้อต่ออินซูลินลงได้
    • เช่นเดียวกับอีกงานวิจัยหนึ่ง ที่ศึกษาการใช้สารสกัดจากคาวตองในหนูทดลองที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าสารสกัดดังกล่าวอาจช่วยลดระดับโปรตีนและสารอัลบูมินในปัสสาวะ และอาจช่วยลดภาวะดื้อต่ออินซูลินได้อย่างมีนัยสำคัญ

อาหารเสริมที่ผลิตจากคาวตอง

ในประเทศไทย การผลิตอาหารเสริมจากคาวตองนั้น ได้รับการควบคุมมาตรฐานและกำหนดกระบวนการผลิตอย่างเคร่งครัด แต่เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยสูงสุดของตัวผู้บริโภคเอง ควรคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากคาวตอง

  • สุขภาพร่างกาย ผู้บริโภคควรมีสุขภาพดีและไม่มีโรคประจำตัว เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลข้างเคียงหลังใช้สารสกัดจากคาวตอง
  • กระบวนการผลิต กระทรวงสาธารณสุขกำหนดว่า ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมคาวตองต้องใช้กระบวนการสกัดด้วยการบดผง หรือสกัดด้วยน้ำจากใบคาวตองเท่านั้น ดังนั้น ผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานดังกล่าวและได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง
  • ปริมาณสารเควอซิทิน ไม่ควรบริโภคสารเควอซิทินจากอาหารเสริมเกิน 1 กรัม/วัน เพราะหากร่างกายได้รับสารเควอซิทินมากเกินไป อาจทำให้ไตเสียหายได้ ซึ่งผู้บริโภคศึกษาข้อมูลได้จากฉลากผลิตภัณฑ์

สรุป

แม้คาวตองมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอยู่มาก และไม่ก่อให้เกิดอันตรายสำหรับคนทั่วไป หากบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมจากการรับประทานอาหาร แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลหรือการทดลองใดยืนยันชัดเจน ได้ว่า คาวตองมีประสิทธิผลทางการรักษาหรือป้องกันโรคต่าง ๆ ในมนุษย์ได้ ผู้บริโภคจึงควรระมัดระวังในการบริโภคคาวตอง โดยเฉพาะในรูปผลิตภัณฑ์อาหารเสริม โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย เผยว่า ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือโรคไต ควรระมัดระวังในการบริโภคอาหารเสริมจากคาวตองเป็นพิเศษ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจได้รับผลข้างเคียงจากคาวตองจนทำให้เกิดอาการบวมน้ำและมีภาวะไตวายเฉียบพลัน ได้

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

ข้อมูลและภาพจาก : medthai.com, www.pobpad.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น