6 เป็ง ไหว้สาพระธาตุแช่แห้งเมืองน่าน

ไม่มีใครเคยคิดว่าเมืองเล็ก ๆ ทางตะวันออกสุดของภาคเหนือที่ชื่อเมืองน่านนั้น จะซุกซ่อนตัวเองในท่ามกลางระหว่างเทือกเขาผีปันน้ำและหลวงพระบาง บ่มเพาะเก็บงำเรื่องราววัฒนธรรมประเพณีอันเป็นรากเหง้าของตัวเองได้สมบูรณ์แบบจนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มี ที่ใดเหมือน ด้วยความที่เมืองน่านถูกโอบล้อมด้วยภูดอยนี่เอง ทำให้มีลำน้ำเล็ก ๆ อยู่มากมายก่อให้เกิดแม่น้ำหลายสาย ทั้งยังมีประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของผู้คนล้านนาอันอุดมสมบูรณ์ไม่แพ้กัน

ศิลปวัฒนธรรมวัฒนธรรมของชาวไทลื้อเมืองน่าน ถูกถ่ายทอดในงานจิตรกรรมปรากฏตามวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะงานจิตรกรรมฝาผนังของวัดภูมินทร์ถือได้ว่าผลงานระดับมัสเตอร์พีทของช่างสกุลล้านนา ที่บรรจบแต่งแต้มเรื่องราวทางพุทธชาดกเอาไว้อย่างยอดเยี่ยม ใครก็ตามที่ไปเยือนเมืองน่านแล้วไม่ได้เที่ยววัดภูมินทร์ก็เหมือนว่าเที่ยวเชียงใหม่แล้วไม่ได้ไปดอยสุเทพยังไงยังงั้น วัดแห่งนี้หาง่ายอยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานงาช้างดำคู่บ้านคู่เมือง จะแวะไปดูก่อนก็ไม่เสียหาย ส่วนในวัดภูมินทร์ที่เด่นสุดก็คือ พระวิหารและอุโสบถในหลังเดียวกันทรงจตุรมุขมีนาคสะดุ้งแห่แหนรอบพระอุโบสถงดงามมาก ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระประธานจตุรพักตร์และฝาผนังด้านในโบสถ์มีภาพเขียนจิตรกรรมล้านนาที่ได้ชื่อว่างดงามที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศเลยทีเดียว นักวิชาการสันนิษฐานว่าเป็นผลงานของช่างชาวไทลื้อที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 150 ปี

ห่างออกไปทางทิศตะวันออกของเมืองประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของวัดพระบรมธาตุแช่แห้ง ปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองน่านมาช้านาน พระบรมธาตุแห่งนี้มีอายุราว 600 ปีเป็นโบราณสถานที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในแผ่นดินล้านนา ทุก ๆ ปีจะมีงานนมัสการพระบรมธาตุแช่แห้ง ระหว่างวันขึ้น 11 ค่ำถึง 15 ค่ำเดือน 6 เหนือ หรือประเพณีเดือน 6 เป็งไหว้สาพระธาตุแช่แห้ง

พระบรมธาตุแช่แห้ง เป็นศาสนสถานที่มีมานาน ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เมืองน่านมีเจ้าผู้ครองนครติดต่อกันจำนวน 64 พระองค์ แต่เริ่มมีความเด่นชัดในสมัยพระกานเมืองครองเมืองน่านระหว่างปี พ.ศ.1896-1906 ซึ่งตรงกับสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ครองกรุงสุโขทัย พระมหาธรรมราชาลิไทได้เกณฑ์พระยากานเมืองไปสร้างวัดหลวงอภัยขึ้น ณ สถานที่ตั้งของสวนหลวงที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช โปรดให้ปลูกมะม่วง ต่อมาภายหลังวัดแห่งนี้ได้ชื่อว่า “วัดป่ามะม่วง”

หลังจากเสร็จภาระกิจทั้งปวง พระมหาธรรมราชาลิไทได้มอบพระบรมธาตุให้แก่พระยากานเมือง พร้อมพระราชทานพระพิมพ์เงิน พระพิมพ์ทองอย่างละ 20 องค์ เพื่อนำไปประดิษฐานที่เมืองวรนคร ครั้นเมื่อพระยากานเมืองกลับถึงเมืองวรนครแล้วจึงได้นำความปรึกษาหารือกับพระมหาเถระธรรมบาล สังฑราชในยุคนั้นว่าควรจะบรรจุสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มนุษย์และเทวดาพึงกราบไหว้ไว้ในแผ่นดินวรนคร ณ ที่แห่งใด พระมหาเถระธรรมบาลได้กราบทูลว่า ภูมิสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของแผ่นดินมหาบพิตรก็คือ เนินศรีภูเพียง

พระยากานเมือง จึงโปรดให้สร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นและได้อัญเชิญพระบรมธาตุมาบรรจุไว้ ให้ชื่อว่าพระธาตุศรีภูเพียง ปี พ.ศ.1902 พระยากานเมืองจึงได้ย้ายเมืองวรนครมาตั้งอยู่บริเวณบ้านหนองเต่า หากสืบไปภายหน้าบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองขึ้น ก็สามารถขยายเมืองให้กว้างขวางออกไปจนถึงเขตเมืองแพร่ ทว่าในปี พ.ศ.1911 แม่น้ำน่านได้เปลี่ยนสาย เมืองวรนครของพระยากานเมืองเกิดความแห้งแล้งขาดน้ำ พระยาผากอง โอรสของพระยากานเมืองจึงได้ย้ายเมืองอีกครั้งมาตั้งที่บ้านห้วยไค้ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมือง

ในปัจุบัน ปล่อยทิ้งให้พระธาตุศรีภูเพียงตั้งอยู่ท่ามกลางความแห้งแล้งริมฝั่งน่านนทีที่เปลี่ยนสาย ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกชื่อพระธาตุองค์นี้ว่า “พระธาตุแช่แห้ง” ทุก ๆ ปีเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 6 เหนือ ชาวเมืองน่านจึงพร้อมใจกันจัดงานเทศกาลนมัสกาลพระธาตุแช่แห้ง หรือที่รู้จักชื่อในงาน “6 เป็งไหว้สา พระธาตุแช่แห้ง” เพื่อน้อมนำเอาพุทธศาสนามาปกป้องเมืองน่านให้ร่มเย็นเป็นสุข และให้ชาวเมืองน่านตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดี

งาน “6 เป็งไหว้สา พระธาตุแช่แห้ง” แสดงให้เห็นถึงแรงศรัทธาต่อพุทธศาสนาของชาวบ้าน พอใกล้ถึงวันงาน พุทธศาสนิกชนจากต่างถิ่นจะพากันเดินทางรอนแรมมาพักค้างบริเวณศาลารายรอบองค์พระธาตุอยู่ก่อนหลายวัน เพื่อที่จะมาใส่บาตรและสักการะองค์พระบรมธาตุ ในพงศาวดารเมืองน่านตอนหนึ่งบันทึกเกี่ยวกับศรัทธาของชาวเมืองน่านที่มารอร่วมทำบุญในงาน 6 เป็งไหว้สา พระธาตุแช่แห้งว่า สมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองเมืองน่าน (ครองราชระหว่างปีพ.ศ.2395-2434) มีการนำบอกไฟมาจุดบูชาพระบรมธาตุแช่แห้ง โดยต้องใช้เวลานานถึง 3 วัน 3 คืนถึงจะหมด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแรงศรัทธาของพุทธศาสนาของคนเมืองน่านที่เนืองแน่นขนัด และหากอยากรู้ว่าแรงศรัทธาของคนเมืองน่านนั้น ยิ่งใหญ่ขนาดไหนลองไปสัมผัสได้ด้วยตัวเองในงานประเพณี “6 เป็งไหว้สา พระธาตุแช่แห้ง” ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ราวปลายเดือนมีนาคม แล้วบางทีเราอาจรับรู้ด้วยตาว่า แรงศรัทธาของคนเมืองน่านนั้นไม่ธรรมดาจริง ๆ

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น