เป็นมะเร็งในช่องปากนะ! ถ้าบ้วนน้ำยาอย่างเดียวไม่แปรงฟัน

หลายคนคงเคยได้ยินประโยคนี้ “เพราะกลิ่นปาก ไม่ใช่เรื่องตลก” เพราะในชีวิตของคนเราต้องสนทนากับผู้อื่นอยู่เป็นประจำ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า กลิ่นปากที่สะอาด ช่วยสร้างความประทับใจได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้พูดคุยและพบกัน คนส่วนใหญ่จึงมักเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเองด้วยการใช้น้ำยาบ้วนปาก เพราะคิดว่า แค่แปรงฟันคงจะไม่เพียงพอ

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมาบอกถึง อันตรายของน้ำยาบ้วนปาก หากใช้ไม่ถูกวิธี เสี่ยงช่องปากพังหนักกว่าเดิม

น้ำยาบ้วนปากคืออะไร ?

น้ำยาบ้วนปาก เป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดภายในช่องปากสำหรับต้านเชื้อจุลินทรีย์ กำจัดคราบอาหาร ทำให้ช่องปากสะอาด ลมหายใจมีกลิ่นหอม และรู้สึกสดชื่น มักใช้ควบคู่หลังการแปรงฟันหรือไม่สามารถแปรงฟันได้ตามปกติ

ประโยชน์ของน้ำยาบ้วนปาก

  1. ลดการก่อตัวของไบโอฟิมล์ในช่องปาก
  2. ลดและต้านเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นโทษในช่องปาก โดยมีความจำเพาะต่อเชื้อโรคที่เป็นโทษ
  3. ไม่มีผลระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อในช่องปาก
  4. มีผลต่อเชื้อจุลินทรีย์ที่ไม่ทำให้เกิดการดื้อยาหรือต้านยาบางชนิด
  5. ออกฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ได้นาน
  6. มีรส และกลิ่นน่าใช้
  7. มีความจำเพาะให้เลือกใช้ เช่น ชนิดเหมาะสำหรับผู้ป่วยเยื่อบุในช่องปากอักเสบ ผู้ป่วยในระยะบำบัดมะเร็ง เป็นต้น
  8. อาจมีผลกระตุ้นการหลั่งน้ำลายสำหรับผู้ที่มีน้ำลายน้อย

วิธีการใช้น้ำยาบ้วนปากที่ถูกต้อง

ไม่แนะนำให้ใช้น้ำยาบ้วนปากทดแทนการแปรงฟันและการใช้ไหมขัดฟัน แต่ให้ใช้เสริมการแปรงฟันเท่านั้น และไม่แนะนำให้ใช้เป็นกิจวัตรประจำ โดยทันตแพทย์จะแนะนำให้ใช้กรณีที่มีข้อบ่งชี้ เช่น เมื่อไม่สามารถทำความสะอาดฟันได้ตามปกติ ผู้ป่วยทางสมองหรือผู้ป่วยอื่น ๆ ที่ไม่สามารถขยับแขนได้ หลังการผ่าตัดเหงือก เมื่อเกิดแผลหรือติดเชื้อในช่องปาก หรือคนที่มีแนวโน้มฟันผุง่าย เป็นต้น

อันตรายจากการใช้น้ำยาบ้วนปาก

  1. ห้ามใช้น้ำยาบ้วนปากแทนการแปรงฟันโดยเด็ดขาด เพราะน้ำยาบ้วนปากเป็นส่วนที่เสริมเพิ่มเติมจากการแปรงฟันตามปกติ การใช้น้ำยาบ้วนปากเป็นเพียงเพิ่มกลิ่นหอมสดชื่นให้กับช่องปากเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่คราบจุลินทรีย์ เศษอาหาร และอื่น ๆ ยังคงอยู่ตามซอกเหงือกซอกฟัน รวมไปถึงกระพุ้งแก้ม ลิ้น และอื่น ๆ ซ้ำยังส่งผลให้สุขภาพช่องปากไม่ดี และอาจนำไปสู่โรคมะเร็งช่องปากและลำคอได้
  2. การใช้น้ำยาบ้วนปากติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจจะทำให้ไปทำลาย เชื้อแบคทีเรียที่ดีที่อาศัยอยู่ในปากให้ตายไปด้วย อาจนำมาซึ่ง เชื้อราในช่องปาก ทำให้ตุ่มรับรสของลิ้นเพี้ยนไป สีเคลือบผิวฟันหรือสีวัสดุอุดเปลี่ยนแปลงไป หรือทำให้เกิดหินน้ำลายได้ง่าย
  3. น้ำยาบ้วนปาก ไม่สามารถรักษาอาการต่างๆ ของโรคในช่องปากได้ หลายคนอาจใช้ในการอมไว้บริเวณเหงือก หรือจุดที่มีฟันผุ เพื่อหวังจะช่วยลดอาการเหงือกบวมอักเสบ หรือรักษาฟันผุได้ รวมไปถึงอาการเสียวฟัน ที่แม้ว่าน้ำยาบ้วนปากจะมีส่วนผสมที่ช่วยในเรื่องของอาการเสียวฟัน แต่หากเป็นอาการเสียวฟันที่มีสาเหตุมาจากคอฟันสึก แล้วเราใช้น้ำยาบ้วนปากช่วย แล้วเพิกเฉยต่ออาการดังกล่าว อาจทำให้เราไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีจากแพทย์ และอาการคอฟันสึกก็แย่ลง ไม่อุดคอฟัน จนทำให้คอฟันสึกลึกลงไปถึงโพรงประสาทฟัน จนปวดฟัน แล้วต้องเปลี่ยนไปรักษารากฟันแทนการอุดคอฟันที่รักษาง่ายกว่า หรือหากเป็นโรคปริทันต์อักเสบ น้ำยาบ้วนปากก็ไม่ได้ช่วยรักษาโรคจากต้นเหตุจริงๆ หากปล่อยไว้อาจทำให้เราเพิกเฉยต่อโรคจนมีอาการหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ
  4. หากเลือกใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หรือกรดแรงจนเกินไป อาจทำให้เยื่อบุภายในช่องปากระคายเคือง ผิวฟันบางลง จนอาจทำให้เกิดอาการเสียวฟันตามมา จนอาจนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็ง โดยผู้ที่มีเลือดออกตามเหงือกและผู้ที่ใส่ฟันปลอมมีความเสี่ยงสูง ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวยังจะมีผลต่อกล่องเสียงรวมทั้งหลอดอาหาร จึงไม่แนะนำให้ใช้น้ำยาบ้วนปากทดแทนการแปรงสีฟันและไหมขัดฟัน

สรุป

ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่า การใช้น้ำยาบ้วนปากมีไว้เพื่อกำจัดกลิ่นปาก แต่ที่จริงแล้ว เป็นเพียงการกลบกลิ่นปากด้วยกลิ่นของน้ำยาในระยะสั้นเท่านั้น จากนั้นไม่นานก็กลับมามีกลิ่นปากเช่นเดิม สาเหตุของกลิ่นปาก เกิดทั้งจากภายใน และภายนอกช่องปาก เช่น มีแผลในช่องปาก ฟันผุ เป็นโรคปริทันต์หรือเหงือกอักเสบ การสูบบุหรี่ โรคในระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น หากรู้สึกว่ามีกลิ่นปากควรมาพบทันตแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของกลิ่นปาก และแก้ไขที่ต้นเหตุของกลิ่นปากจึงจะได้ผลดีที่สุด นอกจากนี้ หากมีอาการเสียวฟัน ไม่ควรใช้แต่น้ำยาบ้วนปากบรรเทาอาการเสียวฟันซึ่งส่อให้เห็นว่าสุขภาพฟันกำลังมีปัญหา ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อรักษาที่ต้นเหตุด้วยเช่นกัน

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

ข้อมูล : กระทรวงสาธารณสุข, คลินิกปริทันตวิทยา, เดลินิวส์

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น