ตาแดง เผลอสบตา ติดต่อได้จริงเหรอ?

ตอนเด็กมีใครเคยได้ยิน ประโยคที่ว่า “ถ้าเจอคนตาแดง หากสบตา ให้แลบลิ้น” บ้าง หากเราทำแบบนั้น เราจะไม่ติดโรคตาแดงจากเพื่อนจริงเหรอ หรือจริง ๆ แล้วมีการป้องกันโรคตาแดงได้ดีกว่าการแลบลิ้นนะ

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมาเล่า การป้องกัน การติดต่อโรคตาแดง ให้ฟัง

โรคตาแดงคืออะไร

โรคตาแดง (Pink eye หรือ Conjunctivitis) เป็นการอักเสบหรือติดเชื้อของเยื่อบุตาซึ่งเป็นเนื้อเยื่อบางใสที่คลุมอยู่ด้านในของเปลือกตา และบนตาขาว โรคตาแดงเป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อย และมักระบาดในช่วงฤดูฝน

โรคตาแดง ไม่สามารถติดต่อผ่านการสบตาได้

การติดต่อของโรคตาแดง

โรคตาแดง สามารถติดต่อได้ง่าย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ พบได้บ่อยในเด็กเล็ก และนักเรียนชั้นประถมศึกษา เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายรุนแรง แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ทำให้ตาพิการได้ และโรคตาแดงไม่สามารถติดต่อกันผ่านการสบตาได้ เพราะสาเหตุของการติดต่อมีดังต่อไปนี้

1.ติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสกับน้ำตา ที่ติดมากับนิ้วมือ และแพร่จากนิ้วมือมาติดที่ตา
2.การติดต่อของโรค เกิดโดยตรงจากการใช้ของร่วมกัน
3.การไอจาม หรือกระทั่งการหายใจรดกัน
4.ปล่อยให้ฝุ่นละออง หรือน้ำสกปรกเข้าตา
5.ปล่อยให้แมลงวี่ หรือแมลงวันตอมตา
6.ไม่รักษาความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะมือ และใบหน้า

อาการของโรคตาแดง

โรคตาแดง อาจเกิดกับดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างก็ได้ กรณีที่เป็นสองข้าง ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการที่ดวงตาข้างหนึ่งก่อน แล้วจึงลามไปอีกข้างภายใน 2-3 วัน โดยอาการที่พบได้แก่

1.ตาแดง
2.ปวดเล็กน้อยในเบ้าตา
3.คันตา เคืองตา รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในดวงตา
4.น้ำตาไหล
5.เปลือกตาบวม อาจพบตุ่มเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไป
6.ในกรณีที่ติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย จะมีขี้ตามากทำให้ลืมตายากในช่วงตื่นนอน

ส่วนใหญ่จะเป็นตาแดงข้างเดียว

ระยะเวลาของโรคตาแดง

ระยะเวลาของโรคตาแดง อยู่ที่ประมาณ 2 สัปดาห์ โดยอาการเกิดได้ภายใน 1-2 วัน ระยะการติดต่อไปยังผู้อื่นประมาณ 14 วัน

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคตาแดง

ในระยะที่อาการตาแดงเริ่มดีขึ้น ในบางราย อาจมีอาการกระจกตาอักเสบจากเชื้อไวรัส ส่งผลให้มีอาการตาพร่ามัว มักเกิดในช่วงวันที่ 7-10 หลังเริ่มเป็นตาแดง ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาการตามัวอาจคงอยู่นานถึง 1-2 เดือน

คำบรรยาคือ ปิดตาเป็นครั้งคราว

การป้องกันโรค และดูแลตัวเอง

เนื่องจากโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส จึงยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่จึงให้รักษาตามอาการ

1.ยาปฏิชีวนะหยอดตา และป้ายตา เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งมักจะเกิดตามมา
2.ควรหยอดยาเฉพาะตาข้างที่เป็น และไม่ควรใช้ยาหยอดตาร่วมกับผู้อื่น
3.ถ้าตาอักเสบมาก แพทย์อาจพิจารณาให้ยาหยอดลดอาการอักเสบ
4.รับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล เมื่อมีอาการเจ็บตา เคืองตา
5.ถ้ามีขี้ตา ให้ใช้สำลีชุบน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว เช็ดบริเวณเปลือกตาให้สะอาด
6.ใส่แว่นกันแดด เพื่อลดอาการเคืองแสง
7.ควรปิดตาเป็นครั้งคราว เพื่อไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจาย
8.งดใส่คอนแทคเลนส์ จนกว่าตาจะหายอักเสบ
9.ควรพักผ่อนให้เต็มที่ และพักการใช้สายตา
10.งดว่ายน้ำในสระว่ายน้ำ ในช่วงที่โรคตาแดงระบาด
11.พักเรียน หรือพักงานอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อไม่ให้โรคแพร่กระจายสู่ผู้อื่น

แลบลิ้น ไม่ช่วยให้ไม่ติดเชื้อ

สรุป

การหลีกเลี่ยงการสบตา หรือการแลบลิ้น ไม่ได้ช่วยให้เราไม่เป็นโรคตาแดง เพราะแท้จริงแล้ว การที่เราทำแบบนั้น เป็นการสื่อแบบนัย ๆ ว่าเราไม่อยากเข้าใกล้เขานั่นเอง เราควรป้องกันตัวเอง โดยการหลีกเลี่ยงใช้ของร่วมกันดีกว่า แต่ถ้าหากเราเกิดติดโรคตาแดงมาแล้ว ควรได้รับการรักษาที่ถูกวิธี เพื่อป้องกันไม่ให้เป็น “กระจกตาอักเสบจากเชื้อไวรัส” ในอนาคตค่ะ

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

อ้างอิงข้อมูลจาก
www.thaihealth.or.th
www.bumrungrad.com
www.beid.ddc.moph.go.th

บทความที่เกี่ยวข้อง
ฝนตกปรอยๆ…ระวังโรคตามมา
ฝุ่นละออง PM2.5 ฆ่าคนเชียงใหม่ไม่รู้ตัว
หูอื้อ ทำหูหนวกได้
ฟันผุก่อมะเร็ง! ต้องรีบรักษา อย่าทิ้งไว้นาน

ร่วมแสดงความคิดเห็น