ปากนกกระจอก เป็นง่าย หายยาก

หลายคนเข้าใจว่า “ปากนกกระจอก” เกิดขึ้นแค่กับวัยเด็กเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วปากนกกระจอก สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แล้วทุกคนเคยสงสัยกันไหม ทำไมถึงชื่อว่า “ปากนกกระจอก” มันเกิดขึ้นได้อย่างไร และมีวิธีป้องกันอย่างไรบ้าง

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะเล่าเรื่อง ปากนกกระจอก ให้ฟัง

ทำไมจึงชื่อ “ปากนกกระจอก”

เหตุผลที่ชื่อของโรคนี้ ชื่อ “ปากนกกระจอก” เพราะเมื่อเราเป็นโรคปากนกกระจอก ปากของเราจะเกิดแผล และมีลักษณะคล้ายปากลูกนกกระจอกนั่นเอง

โรคปากนกกระจอก คืออะไร

มีลักษณะคล้ายปากของลูกนกกระจอก

โรคปากนกกระจอก คือ ภาวะอักเสบบริเวณมุมปาก เกิดแผลบริเวณมุมปากด้านใดด้านหนึ่ง หรือทั้งสองด้าน มีรอยแตก และแยกออกจากกัน หากไม่รับการรักษาอาจทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิม เช่น เป็นอุปสรรคต่อการรับประทานอาหาร หรือการพูดคุย มักเกิดขึ้นเมื่อร่างกายอ่อนแอ และมีภูมิต้านทานต่ำ

โรคปากนกกระจอก เป็นโรคติดต่อหรือไม่

โรคปากนกกระจอก ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่สามารถสร้างความเจ็บปวด และความวิตกกังวล ให้กับเราได้ โดยส่วนมากเมื่อเป็นปากนกกระจอก จะสามารถหายได้เองภายใน 7-10 วัน แต่บางคนอาจนานกว่านี้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดปากนกกระจอกด้วย

เป็นได้ทั้งเด็กแลพผู้ใหญ่

สาเหตุของโรคปากนกกระจอก

1.ปัญหาจากโรคผิวหนัง เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก (Atopic dermatitis) เป็นสาเหตุของโรคปากนกกระจอกที่พบได้บ่อยที่สุด
2.การขาดสารอาหาร เกิดจากการขาดวิตามิน B2 หรือไรโบฟลาวิน (Riboflavin) ขาดธาตุเหล็ก วิตามินซี และโปรตีน
3.การติดเชื้อบางชนิด อย่างเชื้อรา (Candida albicans) เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส เช่น เชื้อเริมที่ริมฝีปาก (Herpes simplex)
4.ผู้สูงอายุที่ไม่มีฟัน มักมีรูปปากที่ผิดปกติ ทำให้เกิดการกดทับที่มุมปาก และกลายเป็นจุดอับชื้น ทำให้เกิดแผลระคายเคืองที่มุมปาก และอาจเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนจากเชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรียตามมาได้อีก
5.ภาวะน้ำลายออกมากกว่าปกติ (Hypersalivation) เช่น คนที่พูดแล้วมักมีน้ำลายเอ่อที่มุมปาก ทำให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนังที่มุมปาก จนเกิดเป็นแผลได้ง่ายยิ่งขึ้น
6.โรคปากนกกระจอกอาจเกิดปัญหาของระบบภูมิคุ้มกัน หรือเกิดจากพันธุกรรม

อาการของโรคปากนกกระจอก

1.แผลเปื่อยแตก เป็นร่องที่มุมปาก
2.เจ็บ คัน ระคายเคืองที่มุมปาก
3.เกิดรอยแดง และเลือดออก
4.มีตุ่มพอง และของเหลวด้านใน
5.เกิดสะเก็ดแผล
6.ปากบวม ลอก แห้ง แตก ตึง

ข้าวกล้องช่วยป้องกันโรคปากนกกระจอก

วิธีป้องโรคปากนกกระจอก

1.กินอาหารที่มีวิตามินบี 2 เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ผักใบเขียว เนื้อปลา และถั่ว เป็นต้น
2.กินอาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น เนื้อแดง ใบกะเพรา หอย ไข่แดง ธัญพืช
3.เลิกนิสัยชอบเลียมุมปาก ไม่กัดหรือเลียริมฝีปาก เมื่อแห้งหรือแตก
4.งดผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดการแพ้ และระคายเคืองที่ริมฝีปากอย่าง ลิปสติก ยาสีฟัน
5.ทาปากด้วยลิปบาล์ม เพื่อความชุ่มชื้นของผิว ลดอาการปากแห้ง และการระคายเคืองทางผิวหนัง
6.ไม่ใส่ฟันปลอมขณะนอนหลับ ดูแลความสะอาดอยู่เสมอ
7.รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่

สรุป

เมื่อเราเป็นโรคปากนกกระจอก ข้อห้ามที่สำคัญคือ ห้ามใช้ลิ้นเลียมุมปาก เพราะจะทำให้แผลแห้ง และตึงยิ่งกว่าเดิม เมื่ออ้าปากกว้างมีโอกาสเลือดออกได้ อาการของโรคปากนกกระจอกที่บ่งบอกว่ารุนแรง คือ มีเลือดออก ถ้าหากเป็นโรคปากนกกระจอกบ่อย ๆ ซ้ำไปซ้ำมา จะเกิดแผลเป็นบริเวณมุมปากได้ ดังนั้นเราควรพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติมของการเกิดโรคซ้ำค่ะ

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

อ้างอิงข้อมูลจาก
www.thaihealth.or.th
www.vaseline.com
www.medthai.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

ข้าวพันธุ์ไหน กินดีที่สุด เพื่อสุขภาพของคุณ

ถั่วเหลือง…สุดยอดธัญพืชต้านโรค

5สีลิปสติกที่เหมาะกับคนปากคล้ำมากที่สุด

รอยแผลเป็นใครๆก็ไม่อยากเป็น



ร่วมแสดงความคิดเห็น