ทำความรู้จักกับลิปสติก เครื่องสำอางยอดฮิตตลอดกาล

ลิปสติกที่สามารถเนรมิตลุคให้คุณได้ไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน แน่นอนว่าการที่คุณแต่งแต้มลิปสติกลงบนริมฝีปาก มีความเป็นไปได้สูงที่คุณอาจกลืนลงท้องโดยไม่รู้ตัว มีงานวิจัยรองรับว่าผู้หญิงกินลิปสติกไปประมาณ 2.7 กิโลกรัมตลอดชีวิต ซึ่งหากใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็จะเกิดการสะสมของสารเคมีปนเปื้อนในร่างกาย ส่งผลให้เกิดอันตรายและโรคภัยทั้งหลายตามมา

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะพาคุณไปรู้จักกับส่วนประกอบหลักของลิปสติกว่ามีอะไรบ้าง และมีสารปรุงแต่งใดบ้างที่คุณควรหลีกเลี่ยง เพราะความสวยความงามต้องมาพร้อมกับความปลอดภัยเสมอ จะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลยค่ะ

ปัจจุบันมีการพัฒนาคุณสมบัติของลิปสติกออกมาอย่างหลากหลาย เช่น ลิปสติกนีออน ที่สามารถเรืองแสงในที่มืดได้

ส่วนประกอบหลักของลิปสติก

1.น้ำมัน (Oil)
น้ำมันในลิปสติกนั้นทำหน้าที่เหมือนกับมอยส์เจอร์ไรเซอร์ ช่วยให้ริมฝีปากนุ่มชุ่มชื้น สยบปัญหาปากแห้งแตก เป็นขุยได้อย่างดี รวมถึงช่วยผสานส่วนผสมอื่น ๆ ให้เนียนเป็นเนื้อเดียวกัน ทำให้ใช้ทาปากได้ง่าย ไม่สะดุดอีกด้วย โดยน้ำมันที่นิยมใช้กัน มีดังนี้
• น้ำมันลาโนลิน (Lanolin oil) สกัดมาจากน้ำมันบนขนแกะ ที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้ขนแกะมีความนุ่มนิ่มอยู่เสมอ ไม่ว่าอากาศจะแห้งแล้งหรือหนาวขนาดไหน ซึ่งนับเป็นไขมันบริสุทธิ์จากธรรมชาติที่มีคุณสมบัติไม่เหนียวเหนอะหนะ ซึบซาบเข้ากับผิวหนังได้ง่าย ไม่อันตรายและไม่ระคายเคืองผิว
• น้ำมันแคสเตอร์ (Castor oil) หรือน้ำมันสกัดจากเมล็ดละหุ่ง มีกรดริซิโนเลอิก (Ricinoleic Acid) ที่ช่วยกระตุ้นการผลิตคอลลาเจนและอีลาสติน ทำให้เนื้อลิปเกาะตัวกันได้ดี และทำให้ริมฝีปากนุ่มนวลมากขึ้นด้วย
• น้ำมันโจโจ้บา (Jojoba Oil) น้ำมันยอดฮิตในวงการเครื่องสำอาง สกัดจากเมล็ดของโจโจ้บา ซึ่งเป็นไม้พุ่มพื้นเมืองในทวีปอเมริกา และมีคุณสมบัติเป็นผู้ช่วยบำรุงผิวพรรณชั้นยอด ทั้งลดเลือนริ้วรอบเหี่ยวย่น กักเก็บความชุ่มชื้นของผิว และอ่อนโยนเหมาะกับผิวแพ้ง่าย
นอกจากนี้ ยังมีน้ำมันสกัดจากพืชชนิดอื่น ๆ ที่นิยมใช้แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับต้นทุนของลิปสติกแต่ละแบรนด์

Jojoba oil ได้รับความนิยมมากในอุตสาหกรรมความงาม เพราะหาง่าย และราคาค่อนข้างถูก

2.แว็กซ์ (Wax)
ผู้ช่วยสำคัญที่ช่วยทำให้ส่วนผสมเนื้อเหลวทั้งหมด ขึ้นรูปกลายเป็นแท่งและคงตัวอยู่ในแพ็กเกจได้โดยไม่ละลาย ทำให้เนื้อลิปสติกเกาะตัวเข้าด้วยกันได้ดี มีแว็กซ์ที่นิยมใช้ มีดังนี้
• แคนเดลลิลลา แว็กซ์ (Candelilla Wax) สกัดจากต้นแคนเดลลิลลา มีคุณสมบัติเป็นของแข็ง สีเหลืองน้ำตาล และโปร่งแสง นิยมใช้กับลิปสติกที่ต้องการเนื้อเงางาม ดึงดูดสายตา และน่าใช้สอยมากยิ่งขึ้น
• คาร์นูบา แว็กซ์ (Carnauba Wax) สกัดจากต้นปาล์มพื้นเมืองของประเทศบราซิล มีคุณสมบัติเด่นเฉพาะตัวคือ ทนความร้อนได้มากถึง 87 องศาเซลเซียส นิยมใช้กับลิปสติกสูตรเนื้อแน่น แท่งแข็ง ไม่ละลายง่ายแม้อากาศจะร้อนแค่ไหนก็ตาม
• ขี้ผึ้ง (Bees wax) สกัดมาจากน้ำผึ้งในบริเวณท้องน้อยที่ผึ้งผลิตขึ้นมาเพื่อสร้างรัง มีลักษณะเป็นของแข็งเนื้ออ่อนนุ่ม ช่วยในเรื่องของการดูดซับน้ำมัน เพิ่มความนุ่มชุ่มชื้น แต่ไม่ช่วยให้ลิปสติกคงตัวเป็นแท่ง เวลาใช้จึงต้องผสมกับแว็กซ์ชนิดเนื้อแข็งอื่น ๆ
ลิปจิ้มจุ่มนั้นจะมีส่วนผสมของแว็กซ์อยู่น้อยหรือแทบจะไม่มีเลย เพราะไม่ต้องการการคงตัวของเนื้อลิป ส่วนลิปเนื้อแมตต์นั้นจะเพิ่มส่วนผสมอย่าง ผงซิลิกา (Silica) ที่มีคุณสมบัติดูดซับน้ำมันได้ดี เพื่อลดประกายและความเงางามของเนื้อลิปลง

ขี้ผึ้ง (Bees wax) สกัดมาจากน้ำผึ้งในบริเวณท้องน้อยที่ผึ้งผลิตขึ้นมาเพื่อสร้างรัง

3.สีย้อม (Dye)
เนื่องจากมีกฎหมายห้ามใช้สารปรอทในเครื่องสำอาง ปัจจุบันวงการผู้ผลิตจึงหันมาใช้สีสังเคราะห์ที่ผ่านมาตรฐานการรับรอง สามารถเข้าปากได้แบบไม่เป็นอันตราย เหมือนกับสีประเภทเดียวกับที่ใช้ทำอาหาร หรือไม่ก็สีสังเคราะห์จากธรรมชาติเสียส่วนใหญ่ สีย้อมที่นิยมใช้มีดังนี้
• สีสกัดจากผักและผลไม้ เช่น สีเหลืองจากขมิ้น และสีแดงจากบีทรูท หรือทับทิม
• สีสกัดจากดอกไม้ เช่น สีน้ำเงินจากดอกอัญชัน หรือดอกอัลคาเนต (Alkanet) และสีเหลืองจากดอกดาวเรืองฝรั่ง (Calendula)
• สีสกัดจากแมลงและสัตว์ เช่น ผงสกัดจากแมลงปีกแข็งจะให้สีแดงเลือดหมู และผงสกัดจากเกล็ดปลาจะให้สีเงิน เพิ่มความประกายมุกให้กับลิปสติก

นอกเหนือจาก 3 ส่วนผสมหลักข้างต้นแล้ว ลิปสติกยังมีส่วนผสมอื่น ๆ อย่างเช่น วิตามินบำรุงผิวพรรณ และน้ำหอมเกรดที่ได้รับมาตรฐานการรับรองว่าปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายอยู่ด้วยเช่นกัน

สีของลิปสติกได้มาจากการผสมสีหลายๆสีเข้าด้วยกัน โดยมีสีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน และสีขาวเป็นหลัก

สารในลิปสติกที่ควรหลีกเลี่ยง

1.สารกลุ่มเรตินอยด์ส์ (Retinoids) เช่น กรดวิตามินเอ (Retinoic acid), เรตินัลดีไฮด์ (Retinaldehyde) และเรตินิล พัลมิเทต (Retinyl Palmitate) เป็นสารสังเคราะห์วิตามินเอเข้มข้นที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในยาเพียงเท่านั้น ซึ่งก็มีผู้ผลิตที่นำมาใส่ในผลิตภัณฑ์แล้วชูโรงว่ามีคุณสมบัติช่วยฟื้นฟูผิวพรรณ ปากเนียนสวย แต่ในความเป็นจริงสารกลุ่มนี้เป็นสารที่มีปฏิกิริยาต่อแสงแดด ส่งผลร้ายต่อ DNA ในร่างกาย ทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังได้

2.สารสังเคราะห์วิตามินอี (Tocopheryl Acetate) ใช้เพื่อเพิ่มความคงตัวให้กับผลิตภัณฑ์ หากเราใช้ทาบ่อย ๆ เป็นประจำโดยไม่ทำความสะอาดให้ดี สารตัวนี้จะสะสมและทำให้ริมฝีปากระคายเคือง แห้งแตก รวมถึงเป็นขุยได้

3.สารสกัดจากน้ำมันในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม อย่าง มิเนรัล ออยล์ (Mineral Oil) หรืออีกชื่อคือ พาราฟินเหลว (Liquid paraffin), ปิโตรเลียม เจลลี่ (Petrolatum), ไซลีน (Xylene), โทลูอีน (Toluene) ที่ช่วยในเรื่องของความชุ่มชื้น แต่มีสารเสี่ยงอันตรายอย่าง PAHs ที่ก่อให้เกิดสิวอุดตัน ผิวหน้าระคายเคืองอยู่ในตัว

4.ตะกั่ว (Lead) และ ปรอท (Mercury) สารที่เป็นอันตรายโดยตรงต่อผู้หญิงตั้งครรภ์ หากเผลอกินลิปสติกเข้าไปแล้วอาจไปกระทบถึงการเจริญเติบโตของลูกน้อย เพราะเป็นสารที่ทำให้เสี่ยงเกิดมะเร็ง ทำลายระบบประสาท ลดการทำงานของไต บางรายอาจมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย

5.สารกันเสีย ได้แก่ สารเคมีกลุ่มพาราเบน เช่น เมทิลพาราเบน (Methylparaben) หรือ โพรพิลพาราเบน (Propylparaben) รวมถึงสารกันหืน BHT (Butylated Hydroxytoluene) และ BHA (Butylated Hydroxyanisole) ที่อาจส่งผลให้อวัยวะภายในร่างกายเสี่ยงเป็นพิษเรื้อรัง ตามมาด้วยอาการปวดหัว อาเจียน และหายใจไม่ออก

ตัวอย่างอาการแพ้ลิปสติก

สรุป
ลิปสติกเป็นสิ่งที่ผู้หญิงขาดไม่ได้ ต้องมีติดกระเป๋าตลอด หากวันไหนไม่ได้ทาลิปก็จะขาดความมั่นใจไปทั้งวัน แนะนำว่าควรเลือกใช้ลิปสติกที่มียี่ห้อชัดเจน รู้ที่มาที่ไป มีมาตรฐานการผลิตที่ดี หรือไม่ก็เลือกใช้ลิปสติกออร์แกนิก ที่เริ่มมีการผลิตออกมาจำหน่าย เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองจะดีกว่านะคะ

เรียบเรียงโดย: “เชียงใหม่นิวส์”
อ้างอิงข้อมูลจาก: women.kapook
ขอบคุณภาพจาก: LightField Studios, Sheis และ beautyheaven

บทความเกี่ยวกับความงามที่เกี่ยวข้อง

ผิวแพ้ง่าย? เช็คได้ด้วยตัวคุณเอง

5สีลิปสติกที่เหมาะกับคนปากคล้ำมากที่สุด

ริมฝีปากคล้ำทำไงดี!!!

ร่วมแสดงความคิดเห็น