“สล่า” คำเรียกผู้มีความชำนาญเฉพาะทางของชาวล้านนา

คำว่า “สล่า” เป็นคนคำที่คุ้นหูในแวดวงของการสร้างสิ่งต่าง ๆ ในดินแดนล้านนา สล่า ถือเป็นผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะทางถ้าเปรียบเทียบก็คล้าย ๆ กับพ่อครูแม่ครู แห่งวงการสร้างหรือประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น และยังสามารถเป็นอาชีพหลักในการหาเลี้ยงตนเองได้อีกด้วย เช่น สล่าไม้ สล่าเฮือน สล่าบั้งไฟ เป็นต้น คนเหล่านี้ล้วนมีเทคนิคเฉพาะของตนเองในการคิดค้นสร้างสิ่งของชิ้นหนึ่ง ๆ ขึ้นมา

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” ได้นำคำเมืองที่คนล้านนาคุ้นหูกัน แต่อาจจะไม่คุ้นหูสำหรับคนที่อื่น แต่หากผู้ใดที่สนใจหรือคนล้านนาที่ยังไม่รู้ความหมายของคำว่า “สล่า” ก็สามารถมาอ่านเพื่อเป็นความรู้ไว้บอกลูกหลานหรือความรู้ติดตัวเราเองไม่เสียหายแน่นอนครับ

“สะล่า” คือ ช่างคนล้านนา หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง “สล่า” อ่านว่า  “สะ-หล่า” “สล่า” เป็นคำที่ได้รับอิทธิพลมาจากพี่น้องชาวไต (ไทใหญ่) หากเราไปเที่ยวแถว ๆ เมืองเชียงตุง  พี่น้องชาวบ้านจะเรียกคนที่เก่งหรือเชี่ยวชาญอย่างใดอย่างหนึ่งว่า “สล่า” เช่น สล่าตีกลอง หมายถึง คนมีความเชี่ยวชาญในการตีกลอง เป็นต้น

ส่วนในเมืองล้านนาเรียกผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้าง การแป๋ง (ประดิษฐ์/ทำ) การตกแต่ง  หรือการกระทำด้วยฝีมือต่าง ๆ นั้นว่า “สล่า” ซึ่งมีดังต่อไปนี้

สล่าแป๋งโต๊ะ คือ นายช่างที่ทำโต๊ะ

สล่าแป๋งเฮือน คือ นายช่างที่สร้างบ้านเรือน

สล่าแต้ม คือ ผู้เชี่ยวชาญในการเขียน/แต่ง/วาดภาพ

สล่าต้อง คือ ผู้เชียวชาญในการฉลุลาย/ ทำดุนภาพ

สล่าแกะ คือ ผู้เชี่ยวชาญในการแกะหรือสลัก  อาจสลักแบบ  ลอยตัว หรือ ภาพนูน  ฯลฯ.

สล่าบอกไฟ คือ ช่างทำบ้องไฟ

การเรียกขานคำว่า “สล่า” มักจะใช้นำหน้าชื่อจริง แทนคำว่า “นาย” เช่น นายปั๋น เป็นช่างเรียกันว่า “สล่าปั๋น” หากเป็นภาษาไทยกลางอาจเรียกสั้น ๆ ว่า “ช่างปั๋น” ดังนั้น เมื่อเราไปทางล้านนาหากได้ยินผู้คนเรียกผู้ใดผู้หนึ่งเช่นว่า “สล่าแดง” , “สล่าโมะ” นั่นหมายความว่า “นายแดง” , “นายโมะ” คือ นายช่างนั่นเอง

มีข้อสังเกตว่า  ผู้ที่เชี่ยวชาญในการทำอาหารหรือปรุงอาหารไม่เรียกกันว่า “สล่า” แต่เรียกกันว่า “พ่อครัวหรือแม่ครัว” กล่าวมาถึงตอนนี้สามารถสรุปสั้น ๆ ได้ว่าหากเขียนอักษรว่า “สล่า” ต้องอ่านว่า “สะ-หล่า” ไม่อ่านว่า “สะ-ล่า” ดังที่เคยได้ยินผิด ๆ มา คำว่า “สล่า” ในภาษาล้านนาสรุปความหมายตรงกับคำว่า “ช่าง” ในภาษาไทยกลางนั่นเอง

สล่าบุญตัน ผู้ชำนาญด้านการตีมีด

สรุป คำว่า “สล่า” อ่านว่า “สะ-หล่า” ไม่ได้อ่านว่า “สล่า” นอกจากคำอ่านแล้ว ความหมายของสล่านั้นคือผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะทางในด้านนั้น ๆ ซึ่งมีรากฐานมาจากภาษาไต (ไทยใหญ่) สล่า ที่คนล้านนาส่วนใหญ่รู้จักกันก็เช่น สล่าแป๋งเฮือน สล่าแป๋งไม้ สล่าแป๋งบอกไฟ อื่นๆ เป็นต้น นอกจากนั้น คำว่าสล่าอาจจะเป็นคำสรรพนามเรียกชื่อคนได้ดังที่ยกตัวอย่างไว้ เช่น สล่าแดง คือ นายแดง เป็นต้น สุดท้ายแล้ว คำว่า “สล่า” ก็ตรงกับคำในภาษาไทยกลางว่า “ช่าง” นั่นเอง

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลจาก : นิคม พรหมมาเทพย์
ภาพจาก : www.bloggang.com, speed-home.com, เพจ ช่างเขียนโบสถ์ ช่างวาดภาพ, woodnature.tht.in, siamwoodcarving.blogspot.com, www.chiangraifocus.com และ freestlyeblog.blogspot.com/

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น