เชียงใหม่ ไข้หวัดใหญ่ช่วงนี้เยอะมาก คางทูม ก็เช่นกัน เตือน!! ไม่ควรเข้าไปอยู่ในที่แออัด

ฤดูหนาวตั้งแต่มกราคมจนถึงเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นช่วงที่โรคไข้หวัดใหญ่ระบาด ซึ่งไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรง และมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน จนถึงขั้นเสียชีวิตได้มากกว่าโรคไข้หวัดทั่วไป

เฟซบุ๊กแฟนเพจ คลินิกหมอจารึก หู คอ จมูก ซึ่งโพสต์โดย ผศ.นพ.จารึก หาญประเสริฐพงษ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยคณบดี คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่า “คางทูมและไข้หวัดใหญ่ในเชียงใหม่ ช่วงนี้เยอะมาก ไม่ควรเข้าไปอยู่ในที่แออัด เพราะเชื้อแพร่ทางการหายใจ ดูแลสุขภาพกันนะครับ” เป็นการโพสต์เตือนด้วยข้อความสั้นๆ แต่ทำให้เราได้รู้ว่า ช่วงนี้โรคที่ประชาชนเป็นเยอะ คือ คางทูมและไข้หวัดใหญ่ ควรป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงการเข้าไปยังสถานที่แออัด เพราะสามารถรับเชื้อโรคได้ทางการหายใจนั่นเอง

สำหรับ ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อ ที่เกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ อาจมีอาการเล็กน้อยไปถึงรุนแรง อาการที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ ไข้สูง คัดจมูก เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ไอและรู้สึกเหนื่อย อาการเหล่านี้ จะออกอาการหลังได้รับไวรัส 2 วัน และส่วนมากอาการอยู่นานไม่เกินสัปดาห์ ทว่า อาการไออาจกินเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ได้

โดยทั่วไป ไข้หวัดใหญ่ติดต่อผ่านอากาศ โดยการไอหรือจาม ซึ่งปลดปล่อยละอองลอยที่มีไวรัสไข้หวัดใหญ่ ยังสามารถส่งผ่านโดยการสัมผัสโดยตรง กับมูลหรือสารคัดหลั่งจากจมูกของนก หรือผ่านการสัมผัสกับพื้นผิวที่ปนเปื้อน คาดกันว่าละอองลอยที่มาทางอากาศ ก่อให้เกิดการติดเชื้อมากที่สุด แต่ยังไม่ทราบช่องทางการส่งผ่านที่สำคัญที่สุด ไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถลดฤทธิ์ด้วยแสงแดด สารฆ่าเชื้อและสารชะล้างได้ การล้างมือบ่อย ๆ ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ เพราะสบู่สามารถลดฤทธิ์ไวรัส

ส่วนโรคคางทูม ก็เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่นกัน ที่พบได้บ่อยกับเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน MMR อาการของโรคที่เด่นชัดที่สุดคือ อาการปวดที่ด้านข้างของใบหน้า ณ ตำแหน่งใต้ใบหูลงไป (ส่วนต่อมน้ำลายข้างกกหู) จนทำให้ใบหน้าส่วนนั้นบวมออก จนมีใบหน้าคล้ายหนูแฮมส์เตอร์

โรคคางทูมแพร่กระจายได้ด้วยวิธีเดียวกับไข้หวัดธรรมดาและไข้หวัดใหญ่ คือผ่านละอองสารคัดหลั่งจากน้ำลายที่เข้าไปในจมูกผ่านการสูดดม หรือหยิบจับสิ่งของที่มีเชื้อ และนำไปสัมผัสกับจมูกหรือปาก

เมื่อผู้ติดเชื้อสัมผัสจมูกของปากของตนเอง พวกเขาจะสามารถส่งต่อเชื้อไปยังสิ่งของต่าง ๆ อย่างลูกบิดประตู หรือโต๊ะทำงานได้ และหากผู้อื่นสัมผัสกับสิ่งของเหล่านี้ จะทำให้เชื้อกระจายเข้าไปสู่ระบบหายใจได้ ผู้ป่วยจะแพร่เชื้อได้ง่ายมากในช่วงไม่กี่วันแรก หลังแสดงอาการ ระหว่างช่วงแพร่เชื้อ สิ่งที่ควรทำคือการป้องกันการแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่น โดยเฉพาะกับวัยรุ่นและผู้ใหญ่อายุน้อย ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน

ทั้งสองโรคนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถรับเชื้อได้ทางการหายใจ ดังนั้น เตือน ช่วงนี้ หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่แออัด จะช่วยป้องกันการรับเชื้อได้ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอกันด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น