10 ความเข้าใจผิดของการขับรถที่หลายคนไม่เคยรู้

การขับขี่รถยนต์เป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนเพื่อให้เกิดความชำนาญ ดังนั้นผู้ขับรถจำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะในการขับให้ถูกต้องและปลอดภัย เนื่องจากพฤติกรรมการขับรถของแต่ละคนแตกต่างกัน เราจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการขับรถ แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบดีนักเกี่ยวกับพฤติกรรมการขับรถของตัวเองว่าสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องหรือไม่?

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะพาทุกคนไปดูเรื่องที่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดในการขับรถยนต์บนท้องถนน ว่าแต่จะมีเรื่องอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย

1.การเปิดไฟผ่าหมาก (ไฟฉุกเฉิน) ผ่านทางแยกหรือช่วงฝนตกหนัก

การเปิดไฟผ่าหมาก (ไฟฉุกเฉิน) ผ่านทางแยกหรือช่วงฝนตกหนัก

การเปิดไฟฉุกเฉินหรือไฟเลี้ยว 2 ข้างพร้อมกันในขณะขับผ่านทางแยก และเมื่อฝนตกหนัก ๆ นั้น นับเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะกรณีในการเปิดไฟฉุกเฉินจะเปิดเมื่อมีเหตุที่สมควร หรือการจอดรถฉุกเฉิน รถเสีย เป็นต้น กรณีเปิดไฟรถฉุกเฉินทางแยก เมื่อต้องการตรงไป รถทางฝั่งที่เห็นสัญญาณไฟจะมองได้ฝั่งเดียว จึงสามารถทำให้เกิดความเข้าใจผิดในด้านทิศทางของรถ ดังนั้น เมื่อต้องการขับรถผ่านทางแยกให้หยุดรถ และเมื่อเห็นว่าปลอดภัยค่อยเคลื่อนรถออกไปโดยไม่จำเป็นต้องเปิดสัญญาณใด ๆ กรณีเปิดไฟรถฉุกเฉินฝนตกหนัก เมื่อต้องการจะเปลี่ยนช่องทางหรือเลี้ยว ก็อาจทำให้รถที่ขับตามหลังหรือใกล้เคียงไม่เข้าใจและก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน ดังนั้น เมื่อฝนตกหนักไม่ควรเปิดไฟฉุกเฉิน เพียงแค่พยายามชิดซ้าย ชะลอความเร็ว เปิดไฟหน้า หรือหากมองไม่เห็นทาง ควรหาที่ปลอดภัยจอดรอให้ฝนหยุดก่อนจะปลอดภัยกว่า

2.อยู่ในวงเวียนแล้วต้องไปก่อน

อยู่ในวงเวียนแล้วต้องไปก่อน

เมื่อขับรถอยู่ในวงเวียนแล้ว หากดูแล้วว่าปลอดภัยสามารถไปก่อนได้ แต่เมื่อขับรถมาจากทางแยกอื่นที่อยู่นอกวงเวียน ควรลดความเร็วและหยุดให้รถในวงเวียนไปก่อน
ในแง่กฎหมาย

“มาตราที่ 71”
ภายใต้บังคับมาตรา 21 และมาตรา 26 ได้ระบุไว้ว่า เมื่อผู้ขับขี่รถมาถึงทางร่วมทางแยก ให้ผู้ขับขี่ปฏิบัติดังนี้
(1) ถ้ามีรถอื่นอยู่ในทางร่วมทางแยกผู้ขับขี่ต้องให้รถในทางร่วมทางแยกนั้นผ่านไปก่อน
(2) ถ้ามาถึงทางร่วมทางแยกพร้อมกันและไม่มีรถอยู่ในทางร่วมทางแยก ผู้ขับขี่ต้องให้รถที่อยู่ทางด้านซ้ายของตนผ่านไปก่อน เว้นแต่ในทางร่วมทางแยกใดมีทางเดินรถทางเอกตัดผ่านทางเดินรถทางโท ให้ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถในทางเอกมีสิทธิขับผ่านไปก่อน
(3)18 ถ้าสัญญาณจราจรไฟสีเขียวปรากฏข้างหน้า แต่ในทางร่วมทางแยกมีรถอื่นหยุดขวางอยู่จนไม่สามารถผ่านพ้นทางร่วมทางแยกไปได้ ผู้ขับขี่จะต้องหยุดรถที่หลังเส้นให้รถหยุดจนกว่าจะสามารถเคลื่อนรถผ่านพ้นทางร่วมทางแยกไปได้

“มาตรา 73”
ในกรณีที่วงเวียนใดได้ติดตั้งสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรนั้น ถ้าไม่มีสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรตามวรรคหนึ่ง เมื่อผู้ขับขี่ขับรถมาถึงวงเวียน ต้องให้สิทธิแก่ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถอยู่ในวงเวียนทางด้านขวาของตนขับผ่านไปก่อน

3.ขับเร็วตามกำหนดวิ่งขวา

ขับเร็วตามกำหนดวิ่งขวา

รถยนต์สามารถใช้ความเร็วไม่เกิดกฎหมายกำหนดตั้งแต่ 60 กม./ ชม. จนถึง 120 กม./ชม.ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะของถนต่างๆ เรามักจะเห็นว่ารถยนต์บางคันขับชิดขวาตลอดทาง ถึงแม้ข้างหน้าจะว่างก็ยังคงแช่ขวาอยู่ การขับรถแช่ขวานั้นผิดหรือไม่ อยู่ที่กฎหมายกำหนดว่า “รถช้ากว่าคันอื่นชิดซ้าย” หมายความว่า หากรถคันที่วิ่งขวาอยู่ใช้ความตามกฎหมายกำหนดแล้วก็ตาม เมื่อเห็นว่าทางด้านซ้ายว่างก็ควรกลับเข้าสู่ช่องทางซ้ายเสมอ ดังนั้นเมื่อเจอรถที่กำลังจะแซงขึ้นหน้าไปใช้ความเร็วสูงกว่าที่กำหนดก็จะจับปรับตามกฎหมายไปเอง
ในแง่กฎหมาย

“ มาตรา 357 ”
รถที่มีความเร็วช้าหรือรถที่มีความเร็วต่ำกว่าความเร็วของรถคันอื่นที่ขับในทิศทางเดียวกัน ผู้ขับขี่ต้องขับรถให้ใกล้ขอบทางเดินรถด้านซ้ายเท่าที่จะกระทำได้ผู้ขับขี่รถบรรทุก รถบรรทุกคนโดยสาร รถจักรยานยนต์ในทางเดินรถซึ่งได้แบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ ตั้งแต่สองช่องขึ้นไป หรือได้จัดช่องเดินรถประจำทางด้านซ้ายไว้โดยเฉพาะ ต้องขับรถในช่องเดินรถด้านซ้ายสุดหรือใกล้เคียงกับช่องเดินรถประจำทางแล้วแต่กรณี

4.แซงไหลทาง

แซงไหลทาง

ไหล่ทางเป็นช่องทางสำหรับรถฉุกเฉิน รถเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับความปลอดภัย หรือว่ารถจอดเสียชั่วคราวเท่านั้น การแซงไหลทางจึงอันตรายมากเพราะเสี่ยงต่อรถที่ออกจากฝั่งซ้าย และรถที่ออกมาจากทางขวาเพื่อเบี่ยงซ้ายเข้าถนนหรือเข้าซอยที่อาจจะมองไม่เห็น
แม้ว่าในปัจจุบันเจ้าหน้าที่จราจรได้แก้ปัญหาด้วยการให้ให้วิ่งไหล่ทางได้ในช่วงเวลาเร่งด้วยรถติดมากๆ แต่ก็ไม่อนุญาตให้วิ่งตลอดเวลา และสามารถใช้เฉพาะบางเวลาเท่านั้น หากสภาพการจราจรคลี่คลายคล่องตัวแล้วก็ไม่ควรใช้ไหล่ทาง

5.การเปิดไฟตัดหมอกตลอดเวลา

การเปิดไฟตัดหมอกตลอดเวลา

การเปิดไฟตัดหมอกวิ่งตลอดเวลา เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย เพราะเป็นการรบกวนสายตารถที่วิ่งสวนทางมาและอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ไฟตัดหมอกควรเปิดเฉพาะเวลาที่ทัศนะวิสัยไม่ดี เช่น มีหมอกหรือควันหนา ฝนตกหนักๆ หรือขับขี่ในทางมืดๆ ที่ไม่มีรถสวนทางมา เป็นต้น

6.การขับรถนั่งชิดพวงมาลัย

การขับรถนั่งชิดพวงมาลัย

การนั่งชิดพวงมาลัยมากเกินไป จะยิ่งทำให้การกะระยะรอบๆ ตัวรถนั้นยากมากขึ้น เพราะทัศนะวิสัยผู้ขับขี่จะเห็นชัดเจนในช่วงด้านหน้ารถถึงบริเวณระดับแนวเดียวกับที่นั่งขับอยู่เท่านั้น และสายตาจะไม่สามารถมองเห็นส่วนด้านข้างตัว เพราะระดับผู้นั่งร่นมาด้านหน้ามากเกินไป และทำให้มุมมองแคบลงกว่าผู้ที่นั่งในแนวระดับที่ถอยมาอยู่ใกล้เสากลางตัวรถ (B-Pilar) และยังทำให้การมองกระจกมองข้างต้องหันหรือละสายตาจากด้านหน้ารถมากขึ้น จึงเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณใบหน้า หน้าอก จากถุงลมนิรภัยที่ระเบิดออกมาเมื่อเกิดการชน ยิ่งทำให้อันตรายมากขึ้นด้วย

7.ไม่หลีกทางให้รถฉุกเฉิน

ไม่หลีกทางให้รถฉุกเฉิน

เมื่อพบ รถฉุกเฉิน รถพยาบาลหรือรถดับเพลิง สิ่งแรกที่ควรทำคือ ให้สัญญาณไฟเลี้ยวในทิศทางที่ต้องการจะหลบ และเมื่อดูว่าปลอดภัย ต้องรีบหลบหรือเบี่ยง เพื่อให้รถฉุกเฉินผ่านไปได้อย่างปลอดภัย ไม่ควรขับแช่ในช่องทางวิ่งเดียวกัน และรอให้รถฉุกเฉินแซงไปเอง เพราะว่าการที่รถฉุกเฉินต้องเปลี่ยนช่องทางบ่อยๆ อาจเกิดอันตรายแก่ผู้บาดเจ็บหรืออุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ภายในรถได้ นอกจากนี้ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องสังเกตเหตุการณ์รอบๆ ทั้งด้านหน้า ด้านข้างและด้านหลัง

8.เข้าเกียร์ว่างเมื่อใกล้หยุดรถหรือลงสะพาน (เกียร์อัตโนมัติ)

เข้าเกียร์ว่างเมื่อใกล้หยุดรถหรือลงสะพาน (เกียร์อัตโนมัติ)

ในเกียร์อัตโนมัติ เมื่อขับลงทางลาดชันหรือก่อนรถจะหยุดนิ่ง เพราะจะทำให้ภายในระบบชุดเกียร์เกิดการเสียหายเร็วกว่าปกติ เนื่องจากชุดเฟืองและชุดคลัทช์ภายในระบบเกียร์หมุนในความเร็วสูง แล้วถูกสั่งให้หยุดหมุนอย่างรวดเร็ว ระหว่างนั้นจะเกิดการเสียดสีขึ้นมากกว่าการปลดเกียร์ว่างที่ความเร็วต่ำ และอาจส่งผลให้เกิดอันตรายในกรณีขับขี่ทางลงเขาหรือเนินชันมากๆ ระบบเบรคจะทำงานหนักจนเกิดความร้อนและประสิทธิภาพลดลง นอกจากนี้หากต้องการจะเร่งแซงอีกครั้งต้องเข้าตำแหน่ง “D” อีกครั้งยิ่งทำให้ชุดเกียร์สึกหรอมากกว่าปกติ จึงไม่ควรทำอย่างเด็ดขาด

9.เข้าเกียร์ “P” เมื่อติดสัญญาณไฟ (เกียร์อัตโนมัติ)

เข้าเกียร์ “P” เมื่อติดสัญญาณไฟ (เกียร์อัตโนมัติ)

การจอดรถติดสัญญาณไฟแดงไม่ควรเข้าเกียร์ “P” เนื่องจากเสี่ยงต่อการเสียหายของระบบล็อคในชุดเกียร์ในกรณีที่มีรถมาชนท้าย ทำให้ชุดเฟืองล็อคเสียหายและค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ดังนั้นหากจอดติดไฟแดงก็ควรเลื่อนมาตำแหน่ง “N” และดึงเบรคมือไว้ก็เพียงพอแล้ว ส่วนตำแหน่งเกียร์ “P” ใช้สำหรับจอดทิ้งไว้นานๆ ในที่จอดปลอดภัยและหากจอดรถในทางลาดชันให้ดึงเบรคมือจนรถจอดได้สนิทก่อนแล้วค่อยในตำแหน่ง “P” เพื่อเวลาปลดเกียร์ไปตำแหน่งอื่นๆ จะทำได้ง่ายกว่า เพราะระบบล็อคเฟืองในชุดเกียร์อยู่ในจังหวะที่ไม่ขัดตัวมากนัก แถมยังถนอมเกียร์ได้อีกด้วย

10.เลี้ยงคลัทช์เมื่อจอดทางลาดชัน (เกียร์กระปุก)

เลี้ยงคลัทช์เมื่อจอดทางลาดชัน (เกียร์กระปุก)

รถยนต์ที่ใช้เกียร์ธรรมดาหรือเกียร์กระปุก เมื่อจำเป็นต้องจอดติดสัญญาณไฟหรือรถติดบริเวณคอสะพานหรือทางลาดชัน ไม่ควรใช้การเลี้ยงคลัทช์ให้รถไม่ไหลถอยหลัง เนื่องจากจะทำให้ระบบคลัทช์สึกหรอมากขึ้นและเกิดความร้อนสะสมในระบบเกียร์เพิ่มขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการพุ่งไปชนรถคันหน้า

ปัจจุบันปริมาณรถยนต์มีเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้นการขับรถยนต์จำเป็นต้องเรียนรู้และปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายจราจร และที่สำคัญคือ การมีน้ำใจและไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน จะสามารถช่วยลดอุบัติเหตุได้มากขึ้นด้วย ด้วยความปรารถนาดีจาก “เชียงใหม่นิวส์”

เรียงเรียงข้อมูล : “เชียงใหม่นิวส์”
อ้างอิงข้อมูลจาก : ww.checkraka.com
ภาพจาก : www. footballshoes08.org

บทความที่เกี่ยวข้อง

รถสีอะไร!? ขายต่อแล้ว ได้ราคาดีที่สุดในปี 2019

โทษใหม่ ขับรถแช่ขวา ปรับจริง 500 บาท

“ฟังก์ชั่น”รถยนต์ที่ดีที่สุดในปัจจุบัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น