ไขมันพอกตับ ภัยเงียบ!! ตัวการทำตับอักเสบ

เมื่อพูดถึงโรคร้ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับ “ตับ” คนส่วนมากมักเข้าใจว่า โรคร้ายที่จะเกิดขึ้นตับนั้น เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ และการติดเชื้อไวรัสเท่านั้น ซึ่งจริง ๆ แล้ว ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ หรือเสียหายของเนื้อเยื่อตับ ในคนที่ไม่มีความเสี่ยงอื่น ๆ เลยได้เช่นกัน นั่นก็คือ “ภาวะไขมันพอกตับ” นั่นเอง

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ “โรคไขมันพอกตับ” ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และมีวิธีป้องกันให้ตัวเองห่างไกลจากโรคนี้ได้อย่างไร มาฝากทุกคนกันค่ะ

ตับ สำคัญต่อร่างกายอย่างไร?
ตับ อยู่ในช่องท้องซีกขวาด้านบนใต้กระบังลม เป็นอวัยวะที่สำคัญ และมีบทบาทสูงมากในการรักษาชีวิตให้เป็นปกติ ตับจะคอยทำหน้าที่คัดกรองสารต่าง ๆ ในร่างกาย และปรับสภาพให้เหมาะสมสำหรับการใช้งานในแต่ละอวัยวะ รวมทั้งเป็นแหล่งเก็บสะสมพลังงานสำรองของร่างกายอีกด้วย ซึ่งถ้าหากตับมีความผิดปกติไป คงต้องส่งผลร้ายต่อร่างกายเราอย่างแน่นอน

ไขมันพอกตับ คืออะไร?
ภาวะที่ไขมันเข้าไปแทรกที่เซลล์ของตับ ซึ่งหากสะสมมากกว่า 5-10% ของน้ำหนักตับ จะถือว่าเป็นภาวะไขมันพอกตับ ทำให้ตับเกิดการอักเสบ หรือเซลล์ตับตาย และเกิดพังผืดภายในตับ จนกลายเป็นโรคตับแข็งในที่สุด ซึ่งไขมันพอกตับอาจเกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์ หรือไม่ก็ได้ ซึ่งหากอาการของโรคเป็นไปจนถึงภาวะตับแข็ง จะไม่สามารถรักษาได้ด้วยยา หรือวิธีทางการแพทย์ใด ๆ ทำได้เพียงควบคุมอาการ และลดปริมาณไขมันในตับลงเท่านั้น

ภาวะไขมันพอกตับ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท

  1. ภาวะไขมันพอกตับจากการดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก หรือดื่มติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่งผลให้ตับทำงานได้ไม่เต็มที่ ไขมันจึงไปสะสมในเซลล์ตับ ซึ่งความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับชนิด ปริมาณ และระยะเวลาของการดื่ม
  2. ภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ การที่ร่างกายสะสมไขมันมากเกินไป หรือเกิดความผิดปกติของระบบเผาผลาญจากโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และไวรัสตับอักเสบซี

ภาวะไขมันพอกตับ เกิดขึ้นได้อย่างไร?

สาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ เกิดจากการที่ร่างกายสะสมไขมันมากเกินไป หรือเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับระบบเผาผลาญไขมัน จนมีไขมันส่วนเกินไปสะสมอยู่ในเซลล์ตับ กลายเป็นภาวะไขมันพอกตับ ซึ่งไขมันที่ไปแทรกตามเซลล์ตับ อาจไม่ได้เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงโดยตรง แต่อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ด้วย อย่างเช่น

  1. การรับประทานอาหารที่มากเกินไป และไม่ออกกำลังกาย
  2. การมีไขมันในเลือดสูง
  3. การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก
  4. เป็นโรคเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน
  5. การลดน้ำหนักผิดวิธีโดยการอดอาหาร
  6. มีความผิดปกติของลำไส้ในการดูดซึมอาหาร
  7. เป็นผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น อะมิโอดาโรน (Amiodarone) กลูโคคอร์ติซอล (Glucocorticoids) เป็นต้น
  8. การถ่ายทอดทางพันธุกรรม

อาการของภาวะไขมันพอกตับ

ในระยะแรกจะยังไม่แสดงอาการใด ๆ เพราะอาการของภาวะนี้ไม่ค่อยแสดงออกอย่างชัดเจน จนเริ่มเกิดการอักเสบขึ้น จึงจะเริ่มแสดงอาการคล้ายกับผู้ป่วยโรคตับจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น

  1. อ่อนเพลียง่าย
  2. เบื่ออาหาร
  3. ปวดแน่นบริเวณใต้ชายโครงขวา
  4. ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  5. ท้องผูก หรือท้องเสียเป็นประจำ
  6. คลื่นไส้ อาเจียน
  7. น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว
  8. สีผิวบริเวณท้ายทอย รักแร้ และข้อพับดำคล้ำ หรือสีผิวไม่สม่ำเสมอกัน
  9. ตัวเหลือง ตาเหลือง คล้ายอาการดีซ่าน
  10. ในรายที่มีไขมันพอกตับ เนื่องจากฤทธิ์ของสุรา อาจสังเกตตัวเองได้ว่า หลังจากดื่มสุราไปสักพัก จะเกิดอาการไม่สบายกาย เช่น ปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวาหนักมาก คลื่นไส้ อาเจียน อึดอัด แน่นท้อง ซึ่งหากเกิดอาการแบบนี้ทุกครั้งที่ดื่มแอลกอฮอล์ ก็พอจะเดาได้ว่าเสี่ยงที่จะเป็นภาวะไขมันพอกตับ

การป้องกันภาวะไขมันพอกตับ ทำได้อย่างไรบ้าง?

  1. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายเป็นประจำ ทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ผัก ผลไม้ และลดอาหารประเภทไขมัน เพื่อป้องกันโรคเรื้อรังอย่างโรคอ้วน และโรคเบาหวาน และป้องกันไม่ให้ระดับไขมันในเลือดสูง
  2. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก
  3. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้บรรจุกล่อง
  4. หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะอาหารเสริม
  5. สำหรับคนอ้วน ควรรักษาระดับน้ำตาล และไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติมากที่สุด
  6. ตรวจเลือดเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุเกิน 35 ปี

สรุป
อย่างที่ทราบกันไปแล้วนะคะว่า ภาวะไขมันพอกตับเป็นภัยเงียบ มักไม่แสดงอาการให้เราได้ทราบก่อนล่วงหน้า เพราะฉะนั้นแล้ว การป้องกันโรคนี้ที่ดีที่สุด คือ การดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเราเองให้ดี หากอ้วนควรลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ รวมถึงหมั่นตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำทุกปีด้วยค่ะ

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
อ้างอิงข้อมูลจาก : pobpad.com, health.kapook.com

ร่วมแสดงความคิดเห็น