วิธีเตรียมตัวรับมือกับ “แผ่นดินไหว”

จากกรณี เกิดแผ่นดินไหวเมื่อเวลา 06.06 น. เช้าวันที่ 29 มกราคม 2562 ขนาด 2.6 ลึก 2 กิโลเมตร บริเวณ หมู่ 6 บ้านโปง ต.ป่าไผ่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ ถือว่าเกิดเป็นครั้งที่สามแล้วนี้ในพื้นที่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ หลังจากเกิดแผ่นเหตุไหวก่อนหน้านี้ ได้ไม่ถึง 2 อาทิตย์ เบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมาบอกวิธีเตรียมตัวรับมือกับแผ่นดินไหว ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต

การปฏิบัติตัวเมื่อเกิดแผ่นดินไหว

ก่อนเกิดแผ่นดินไหว

1. จัดเตรียมสิ่งที่จำเป็น เช่น ไฟฉาย อุปกรณ์ดับเพลิง น้ำดื่ม น้ำใช้ ยา อาหารแห้ง ไว้ใช้ในกรณีไฟฟ้าดับ หรือกรณีฉุกเฉิน และเพียงพอกับจำนวนสมาชิกภายในบ้าน

2. ชาร์ทแบตโทรศัพท์ และพกพาวเวอร์แบงค์ ให้มีแบตเพียงพอต่อการใช้งาน

3. ศึกษาถึงการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

4. ควรทราบตำแหน่งของวาล์ว เปิด-ปิดน้ำ ตำแหน่งของสะพานไฟฟ้าเพื่อตัดตอนการส่งน้ำและไฟฟ้า



5. ควรตอกยึดผูกเครื่องเรือน เครื่องใช้ ภายในบ้าน ที่ทำงาน และในสถานศึกษาให้แน่น 



6. ไม่ควรวางสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก ๆ ไว้ในที่สูง เพราะอาจหล่นลงมาทำความเสียหาย หรือเป็นอันตรายได้



7. บอกตำแหน่งจุดที่ปลอดภัยภายในบ้านให้สมาชิกทุกคนรับทราบ อย่างเช่น ใต้โต๊ะหรือข้างผนัง พร้อมกับวิธีป้องกันตัวจากสิ่งของ ควรมีการเตรียมการอพยพเคลื่อนย้าย หากถึงเวลาที่จะต้องอพยพ มีการวางแผนจุดนัดหมาย ในกรณีที่ต้องพลัดพรากจากกัน เพื่อมารวมกันอีกครั้ง ในภายหลัง

8. สร้างอาคารบ้านเรือนให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว

9. เตรียมเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินเอาไว้ให้พร้อม และตรวจสอบให้แน่ใจด้วยว่า เบอร์โทรศัพท์ที่ได้มาเป็นเบอร์โทรศัพท์ที่ยังเปิดให้บริการอยู่

จัดเตรียมสิ่งของที่จำเป็น
เตรียมพร้อมด้วยเบอร์โทรฉุกเฉินและบอกพิกัด

ขณะเกิดแผ่นดินไหว

  1. ตั้งสติ คืออย่างแรกเลยที่ต้องทำให้ได้ เพื่อคิดหาทางรับมือและหาทางหนีทีไล่ต่อไป ท่องไว้ค่ะ สติมาปัญญาเกิด
  2. ถ้าอยู่ในอาคาร ควรยืนหรือหมอบ ตรงบริเวณที่มีโครงสร้างแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักได้มาก เช่น โต๊ะที่แข็งแรง อยู่ให้ห่างจากประตู ระเบียง หน้าต่าง ไม่แนะนำให้รีบวิ่งออกจากตัวอาคาร เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุอื่น ๆ ได้ เช่น ล้ม สิ่งของตกใส่ เป็นต้น และกรณีที่เป็นอาคารสูง การออกนอกอาคารไม่ควรใช้ลิฟต์โดยเด็ดขาด รีบหนีให้ห่างจากสิ่งที่จะล้มทับได้
  3. ถ้าอยู่นอกอาคาร ควรหาที่โล่งเพื่อหลบ และให้หลักเลี่ยงกำแพงสูง สะพาน ถนนแคบๆ กองสิ่งของ เสาไฟฟ้า และสิ่งห้อยแขวนต่าง ๆ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการถล่มทับ ยกกระเป๋าสะพายขึ้นมาป้องกันศีรษะเอาไว้
  4. อพยพตัวเองไปยังที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นสถานที่หลบภัยตามที่ทางรัฐบาลกำหนดไว้ แต่ไม่ควรรีบอพยพไปในทันที ให้ตรวจสอบสถานการณ์โดยรอบ ดูหรือทำตามคำแนะนำของคนญี่ปุ่น แล้วค่อย ๆ อพยพไปยังสถานที่หลบภัยที่ใกล้ที่สุด
  5. ให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปใกล้กำแพงของบ้านที่มีเฟอร์นิเจอร์ เครื่องแก้ว หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่
  6. หากอยู่ในที่โล่งหรือขณะขับรถ ให้รีบหยุดรถทันที และให้อยู่ให้ห่างจากเสาไฟฟ้า ใต้สะพาน และป้ายโฆษณา
  7. ขณะเกิดเหตุอย่าใช้เทียน ไม้ขีดไฟ เพราะอาจมีการแก๊สรั่วในพื้นที่
  8. หากอยู่ใกล้กับชายฝั่งให้อพยพไปยังที่สูง เหนือระดับน้ำทะเล 30 เมตร หรือเท่ากับเข้าไปในฝั่งประมาณ 3 กิโลเมตร เพราะอาจเกิดคลื่นสึนามิได้
การปฏิบัติขณะเกิดแผ่นดินไหว

หลังจากเกิดแผ่นดินไหว

  1. ให้ออกจากอาคารที่ชำรุดโดยด่วน เพราะอาจเกิดการพังทลายลงมา
  2. ใส่รองเท้าหุ้มส้นเสมอ เพราะอาจมีเศษแก้ว หรือวัสดุแหลมคมอื่น ๆ และสิ่งหักพังแทง
  3. ตรวจการบาดเจ็บ และทำการปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน เพื่อให้แพทย์ทำการรักษาต่อไป
  4. ตรวจระบบน้ำ ไฟฟ้า หากมีการรั่วซึม หรือชำรุดเสียหาย ให้ปิดวาล์ว เพื่อป้องกันน้ำท่วมเอ่อ ยกสะพานไฟฟ้าเพื่อป้องกันไฟรั่ว ไฟฟ้าดูด หรือไฟฟ้าช็อต
  5. ตรวจระบบแก๊ส โดยวิธีการดมกลิ่นเท่านั้น หากพบว่ามีการรั่วซึมของแก๊ส (มีกลิ่น) ให้เปิดประตูหน้าต่าง แล้วออกจากอาคาร รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ป้องกันภัยผู้ที่รับผิดชอบได้ทราบ
  6. ห้ามใช้โทรศัพท์โดยไม่จำเป็น
  7. อย่ากดน้ำล้างส้วม จนกว่าจะมีการตรวจระบบท่อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะอาจเกิดการแตกหักของท่อในส้วม ทำให้น้ำท่วมเอ่อ หรือส่งกลิ่นที่ไม่พึงปรารถนาออกมาทำลายสุขภาพจิต
  8. ให้ไปรวมกัน ณ ที่หมายที่ได้ตกลงนัดหมายกันไว้ และตรวจนับจำนวนสมาชิกว่าอยู่ครบหรือไม่
  9. ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ได้เข้าปฏิบัติงานในบริเวณที่ได้รับความเสียหาย ผู้ไม่มีหน้าที่ หรือไม่เกี่ยวข้อง ไม่ควรเข้าไปในบริเวณนั้น ๆ หากไม่ได้รับการอนุญาต อย่าเป็นไทยมุง
  10. ออกจากชายฝั่ง เพราะอาจเกิดคลื่นใต้น้ำซัดฝั่งได้ แม้ว่าการสั่นสะเทือนของแผ่นดินจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม
  11. อย่าแพร่ข่าวลือผิด ๆ
  12. เปิดรับข่าวสาร และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด
ไม่เข้าไปในบริเวณที่เกิดเหตุ

สรุป

แม้ว่าเราจะไม่สามารถป้องกันการเกิดแผ่นดินไหวได้ แต่เราสามารถเตรียมพร้อมและรับมือแผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้น หากเกิดความรู้ความเข้าใจ อย่างน้อยจะช่วยบรรเทาความเสียหาย และป้องกันชีวิตที่อาจถึงแก่อันตราย

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

ข้อมูล : กรมอุตุนิยมวิทยา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : อีกเเล้ว! เกิดเเผ่นดินไหวที่ อ.สันทราย ใกล้กับอ่างเก็บน้ำห้วยโจ้

ร่วมแสดงความคิดเห็น