“ชนเผ่ามราบรี” ผีเดินดินในถิ่นล้านนา

“ตองเหลือง” เป็นชื่อของชนเผ่าหนึ่งที่มีลักษณะเป็นคนป่า มักร่อนเร่อยู่ตามป่าลึก ไม่มีถิ่นกำเนิดที่แน่ชัด มีแต่การกล่าวขานเป็นตำนานไว้มากมายหลายแห่ง บ้างก็เล่าว่า เดิมถิ่นกำเนิดของตองเหลืองอยู่ที่บริเวณแขวงไชยบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แต่กลับไม่มีหลักฐานใดๆ ที่บ่งบอกว่าชนเผ่าตองเหลืองในไทยนั้นอพยพมาจากที่ใด

โดยที่มาของคำว่า “ตองเหลือง” นั้น เรียกตามวัสดุที่ใช้มุงหลังคาคือ ใบตอง เมื่อใบไม้ใบตองที่มุงหลังคาหรือทำเป็นซุ้ม เปลี่ยนเป็นสีเหลืองแล้ว คนเหล่านี้ก็จะย้ายไปอยู่ที่อื่นต่อไป ซึ่ง

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะพาคุณมารู้จักกับชนเผ่ามราบรี หรือ ที่เรียกกันว่า “เผ่าผีตองเหลือง” กันให้มากขึ้น

“Dr. H. Bernatzik” ชาวออสเตรียได้ทำการสำรวจพบเผ่าตองเหลือง เมื่อ พ.ศ.2479 ในดงทึบเขตจังหวัดน่าน คนกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า “ยำบรี” สันนิษฐานว่าเป็นพวกเดียวกับเผ่าตองเหลืองที่คณะสำรวจของสยามสมาคม ซึ่งมี “นายไกรศรี นิมมานเหมินท์” เป็นหัวหน้า โดยค้นพบเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2505

ชาวเผ่ามราบรีขณะกำลังสร้างที่พัก

แต่การเรียกชื่อตนเองของเผ่าตองเหลืองนั้น นายไกรศรี นิมมานเหมินท์ กล่าวว่าชนกลุ่มนี้เรียกตนเองว่า “มระบรี” ทำเพิงอาศัยอยู่ที่ริมห้วยน้ำทา ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดน่าน ก่อนนี้ “Mr.Oliver Gordon Young” รายงานว่าชาวแม้วและชาวมูเซอที่ดอยเวียงผา อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ได้พบเผ่าตองเหลืองในเขตของตนและว่าพวกนี้พูดภาษาว้ากับเรียกตนเองว่า “โพล” การที่เรียกตัวเองว่า “มระบรี –มราบรี” เพราะคำนี้แปลว่าคนป่า “มรา” แปลว่า คน “บรี” แปลว่า ป่า

ส่วนที่เรียกเผ่ามราบรี ว่า “ผีตองเหลือง” นั่นเป็นเพราะชนเผ่ามราบรีมักจะหวาดกลัวคนภายนอก เมื่อใดที่มีคนนอกกลุ่มเข้ามาใกล้ที่พักพวกเขาก็จะหลบหนีออกจากที่พักไป จึงเป็นที่มาของคำว่า “ผีตองเหลือง” เพราะเมื่อใครที่ไม่ใช่คนในกลุ่มเข้าไปถึงพี่พักก็จะไม่ได้มีโอกาสเจอพวกเขาจะเจอแต่ซากเพิงพักอาศัยที่มุงด้วยใบตองเหลือง

คุณบุญเสริมช่างภาพชื่อดังชาวเชียงใหม่ กับชนเผ่ามราบรี

ลักษณะของชาวเผ่าตองเหลืองนั้นมีรูปร่างเล็ก ชายหญิงทุกคนต้องเจาะหูทั้งสองข้างตั้งแต่เด็ก ในสมัยก่อนมักจะนำดอกไม้มาเสียบไว้ในรูหูเพื่อเป็นของประดับ แต่ในปัจจุบันเมื่อติดต่อกับชนเผ่าอื่น ๆ ธรรมเนียมนี้ก็ลดความนิยมลงไป แต่ก็ยังมีปรากฏให้เห็นบ้าง ส่วนเครื่องนุ่งห่มมีแต่ผ้าเตี่ยวผืนเดียว และผ้านุ่งนี้จะใช้ก็ต่อเมื่อจำเป็นต้องเข้ามาในหมู่บ้านเพื่อเอาของป่ามาแลกกับข้าวสาร เกลือและของใช้ที่จำเป็น เช่น มีดหรือหอก

ชาวเผ่าตองเหลือง มีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งลึกลับ เช่น ภูตผีปิศาจ และวิญญาณต่าง ๆ โดยเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มีอำนาจเหนือวิถีชีวิตของพวกเขา จึงมีการเซ่นบวงสรวงสิ่งต่าง ๆ เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ลักษณะเพิงที่พักของชนเผ่าตองเหลือง คล้ายกับเพิงหมาแหงน ท้ายเพิงมักจะสูงกว่าหน้าเพิงพัก ใช้พื้นดินเป็นพื้นเพิง และนำหญ้าฟางแห้งหรือใบตองมาปูบนพื้น เวลานอนจะไม่หนุนหมอน แต่ตะแคงหูแนบพื้น เพื่อให้สามารถได้ยินฝีเท้าคนหรือสัตว์ที่เข้ามาใกล้เพิงพักได้ ผู้หญิงและเด็กจะอยู่ในกระท่อมที่สร้างบนภูเขาสูง เมื่อพวกผู้ชายไปล่าสัตว์หาของป่าหรืออาหารได้เพียงพอแล้ว จึงจะกลับไปหาครอบครัว และพวกเขาต้องย้ายที่อยู่เกือบทุก 5-10 วัน เพื่อหาที่อยู่แห่งใหม่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากว่า

เด็กน้อยเผ่ามราบรีในอ้อมกอดแม่

ในกรณีที่สมาชิกคนหนึ่งคนใดเสียชีวิต จากเดิมที่เคยเร่ร่อนอยู่ในป่าจะทำศพด้วยการเผา โดยจะสุมกองไม้แล้วนำศพไปวางไว้ข้างบนแล้วเผา แต่ในปัจจุบัน พวกเขาจะใช้วิธีฝังโดยพื้นที่ที่จะฝังต้องเป็นป่าที่ผู้คนเข้าไปถึงลำบาก พวกเขามีความเชื่อว่าเมื่อฝังแล้ว ถ้ามีคนไปพบเห็นจะทำให้เกิดความอัปมงคลกับผู้ที่ไปพบ

เผ่ามราบรีในชุมชนตองเหลือง จ.น่าน

ในปัจจุบันนี้ เผ่าตองเหลือง ในประเทศไทยนับว่าเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนน้อยที่สุดในประเทศ ทว่าพวกเขายังรักษาวัฒนธรรมประเพณีของชนเผ่าได้อย่างเหนียวแน่น อาจเป็นเพราะไม่นิยมคบค้าสมาคมกับคนนอกชนเผ่า อัตลักษณ์และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของพวกเขา จึงไม่ได้รับความเปลี่ยนแปลงไปมาก ส่วนชาวตองเหลืองอาศัยอยู่ที่จังหวัดน่าน เลิกใช้วิถีชีวิตแบบเร่ร่อน และได้ออกจากป่ามาปักหลักตั้งถิ่นฐานเป็นหมู่บ้านถาวรอยู่ที่ คุ้มที่ 5 ชุมชนตองเหลือง บ้านห้วยหยวก หมู่ 6 ตำบลแม่ขะนิง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลจาก : library.cmu.ac.th, www.bannok.com, oknation.nationtv.tv
ภาพจาก : pr.prd.go.th, www.weekendhobby.com, library.cmu.ac.th

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น