แม่แจ่มจัดยิ่งใหญ่ “งานมหกรรมผ้าตีนจกและผลิตภัณฑ์ชนเผ่าแม่แจ่ม” ครั้งที่ 26 ประจำปี 2562 วันที่ 1-5 ก.พ.นี้

นายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ นายอำเภอแม่แจ่ม เชิญชวนทุกท่านเที่ยวชม งานมหกรรมผ้าตีนจกและผลิตภัณฑ์ชนเผ่าแม่แจ่ม ครั้งที่ 26 ประจำปี 2562 โดยการจจัดงานในครั้งนี้เพื่อประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของอำเภอแม่แจ่ม และสืบทอดศิลปะ มรดกทางวัฒนธรรมล้านนา อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่โดดเด่น ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของผ้าตีนจก และผ้าทอชนเผ่า ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษนับร้อยปี รวมทั้งเป็นการส่งเสริมอาชีพของประชาชนให้มีรายได้สูงขึ้น และส่งเสริมการท่องเที่ยวของอำเภอแม่แจ่มให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ตามคำขวัญของอำเภอแม่แจ่ม “เที่ยวบ่อน้ำแร่ ล่องแพแม่แจ่ม พักแรมน้ำตก ผ้าตีนจกยอดน้ำมือ”

สำหรับ การจัดงานครั้งนี้ มีกิจกรรมภายในงาน เช่น นิทรรศการ การประกวดถ่ายภาพ “Memory in Maejam”, การประกวดผ้าตีนจก, การประกวดผ้าชนเผ่า, งานขันโตก, เดินแฟชั่นโชว์การกุศล, กาดหมั้วคัวฮอม, การออกร้านที่ได้นำเอาผลิตภัณฑ์ผ้าตีนจกและผ้าชนเผ่ามาให้เลือกสรร และการจัดกิจกรรมสืบสานภูมิปัญญาของแม่แจ่มอีกมากมาย

โอกาสนี้ จึงขอเชิญชวนประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ร่วมงานมหกรรมผ้าตีนจกและผลิตภัณฑ์ชนเผ่าแม่แจ่ม ครั้งที่ 26 โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 5 กุมภาพันธ์ 2562 ณ บริเวณลานหน้าที่ว่าการอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

อำเภอแม่แจ่ม หรือ “เมืองแจ๋ม” นั้นแต่เดิมเรียกกันว่า “เมืองแจม” มีเรื่องเล่าว่า ในครั้งโบราณกาลว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระมหากัจจายนะได้จาริกผ่านมาทางยอดดอยอ่างกา (ดอยอินทนนท์) เช้าวันหนึ่งเมื่อพระองค์เสด็จออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ มีย่าลัวะเฒ่า (หญิงชราชาวลัวะ) คนหนึ่งนำปลาปิ้งเพียงครึ่งตัวมาใส่บาตรถวาย พระบรมศาสดาทอดพระเนตรด้วยความเมตตาและความสงสัย จึงตรัสถามย่าลัวะว่า “แล้วปลาอีกครึ่งตัวล่ะอยู่ไหน” ย่าลัวะทูลตอบว่า “เก็บไว้ให้หลาน” พระองค์จึงทรงรำพึงว่า “บ้านนี้เมืองนี้มันแจมแต๊นอ” ซึ่งต่อมาดินแดนนี้จึงได้ชื่อว่า “เมืองแจม” คำว่า “แจม” เป็นภาษาลัวะแปลว่า มีน้อย ไม่พอเพียง หรือขาดแคลน ต่อมาเมื่อกลุ่มคนไท (ไต) -ยวน มาอยู่ จึงเรียกชื่อตามสำเนียงไท-ยวนว่า “เมืองแจ๋ม” และเพี้ยนเป็นเมืองแจ่มหรือ “แม่แจ่ม” อันเป็นนามมงคล หมายถึงให้เมืองนี้เป็นเมืองแห่งความแจ่มใส ลบความหมายของคำว่า “แจม”

ผ้าตีนจก แบบดั้งเดิมของแม่แจ่ม สืบสายสกุล มาจากกลุ่มไทยวน นิยมใช้ฝ้ายย้อมสีธรรมชาติสำหรับ การจกลวดลาย ซึ่งค่อนข้างแน่น ด้ายเส้นยืนสีดำเป็นพื้นที่ สำหรับลวดลายจก ส่วนเส้นยืนสีแดงใช้เป็นพื้นที่สำหรับเล็บ (ช่วงล่างสุด) ของตีนจก จะไม่มีลวดลายจก ยกเว้นลวดลาย เป็นเส้นเล็กๆ สีขาวดำ เรียกว่า “หางสะเปา” การทอจก แบบดั้งเดิมของชาวอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ทอโดย ให้ด้านหลังของจกอยู่ด้านบน

“ผ้าซิ่นจก (ตีนจก) มีความละเอียดประณีตอ่อนช้อย มีความหมายในตัวเอง ความประณีตของลวดลายเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้มีอารมณ์เยือกเย็นสุขุม กฎเกณฑ์ บางครั้งอาจซ่อนเร้นเรื่องราวและเนื้อหาที่สามารถเล่าขานถึงความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชน การตั้งถิ่นฐาน เชื้อชาติ สภาพภูมิศาสตร์ ความเชื่อ ประเพณี”

จากประวัติผู้หญิงแม่แจ่มในอดีต จะถูกฝึกหัดให้รู้จักทอผ้าตั้งแต่วันเด็ก เพื่อพร้อมที่จะทอผ้าสำหรับนุ่งห่มของตนเอง และครอบครัว ในทุกวันนี้ชุมชนแม่แจ่มส่วนใหญ่ก็ยังนิยมทอและใช้ผ้าทอที่ทำขึ้นในท้องถิ่น เช่น เสื้อผ้า สะลี (ที่นอน) หมอน ผ้าต้วบ (ผ้าห่ม) ซิ่นแบบต่างๆ ได้แก่ ซิ่นหอมอ้วน ซิ่นตาล่อง ซิ่นแอ้ม ซิ่นตาตอบ ซิ่นลัวะ ซิ่นยาง ตลอดจนซิ่นตีนจก ซึ่งเป็นการทอเพื่อนำมาต่อกับผ้าถุงหรือที่ชาวบ้านภาคเหนือ เรียกว่า “ซิ่น” นอกจากนี้ ยังมีผ้าที่ใช้เทคนิคการจกในการตกแต่งลวดลาย ได้แก่ ผ้าเช็ด ผ้าพาด ผ้าหลบ (ผ้าปูที่นอน) และหน้าหมอนจก เป็นต้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น