นับกันอย่างไร? รวมวิธีการคำนวณหาศักราชต่าง ๆ ที่คุณอาจไม่เคยรู้

ศักราช ถือเป็นหน่วยของการนับเวลา ตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน ศักราชที่นิยมใช้เป็นสากลทั่วโลกคือ คริสต์ศักราช (ค.ศ.) สำหรับประเทศไทยนั้นจะใช้ พุทธศักราช (พ.ศ.) แต่ในเอกสารโบราณต่าง ๆ นั้น มีการใช้ศักราชที่แตกต่างกันไป เช่น มหาศักราช (ม.ศ.), จุลศักราช (จ.ศ.), รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) เป็นต้น ศักราชยังมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไม่ว่าที่ไหนบนโลกก็ตามเรื่องเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” ได้นำวิธีการเทียบศักราชต่าง ๆ มาให้ท่านได้เรียนรู้เพื่อเป็นประโยชน์ในการใช้การคำนวณหาศักราชที่แตกต่างกัน นอกจากนั้นแล้ว ยังมีความหมายของศักราชและประเภทของศักราชต่าง ๆ ไม่ว่าจะเริ่มต้นนับตามเหตุการณ์สำคัญของศาสดาในศาสนานั้น ๆ หรือการเริ่มสร้างเมือง เป็นต้น ซึ่งมีรายละเอียดต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

ความหมายของศักราช
ศักราช หมายถึง อายุเวลาซึ่งกำหนดตั้งขึ้นเป็นทางการ เริ่มแต่จุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นที่หมายเหตุการณ์สำคัญ เรียงลำดับกันเป็นปี ๆ ศักราชที่นิยมใช้กัน และที่สามารถพบในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้

เวลาในพื้นที่ต่าง ๆ บนโลก

การเริ่มนับศักราชต่าง ๆ
พุทธศักราช (พ.ศ.) เริ่มนับตั้งแต่ “พระพุทธเจ้า” ได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานซึ่งแต่เดิมนับเอาวันเพ็ญเดือนหก เป็นวันเปลี่ยนศักราช ต่อมาเปลี่ยนแปลงให้ถือเอาวันที่ 1 เมษายนแทน ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระอนันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ โดยเริ่มนับตามแบบสากล คือ วันที่ 1 มกราคม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2483 เป็นต้นมา

ภาพวาด “พระพุทธเจ้า” เสด็จปรินิพพาน โดย อ.กฤษณะ สุริยกานต์

คริสต์ ศักราช (ค.ศ.) เริ่มนับตั้งแต่ปีที่ “พระเยซู” ประสูติ เป็น ค.ศ. 1 ซึ่งในขณะนั้นได้มีการใช้ พุทธศักราชเป็นเวลาถึง 543 ปีแล้ว การคำนวณเดือนของ ค.ศ. จะเป็นแบบสุริยคติ ดังนั้นวันขึ้น ปีใหม่ของค.ศ. จะเริ่มในวันที่ 1 มกราคมของทุกปี

พระแม่มาเรียกำลังประสูติ “พระเยซู”

มหาศักราช (ม.ศ.) เริ่มนับเมื่อ “พระเจ้ากนิษกะ” แห่งราชวงศ์กุษาณะ กษัตริย์ผู้ครอง คันธาระราฐของอินเดียทรงคิดค้นขึ้น ภายหลังได้เผยแพร่เข้าสู่บริเวณสุวรรณภูมิ และประเทศไทย ผ่านทางพวกพราหมณ์ และพ่อค้าอินเดียที่เดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายในดินแดนแถบนี้

เหรียญ “พระเจ้ากนิษกะ” แห่งราชวงศ์กุษาณะ

จุลศักราช (จ.ศ.) เริ่มนับเมื่อ พ.ศ. ผ่านมาได้ 1,181 ปี โดยนับเอาวันที่พระเถระพม่ารูปหนึ่งนามว่า “บุพโสระหัน” ลึกออกจากการเป็นพระ เพื่อชิงราชบัลลังก์ในสมัยพุกามอาณาจักรการนับเดือน ปี ของ จ.ศ. จะเป็นแบบจันทรคติ โดยถือวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่

พระเถระ “บุพโสระหัน”

รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) เมื่อ พ.ศ. ผ่านมาได้ 2,325 ปี ซึ่งพระบาทสมเด็จ “พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” (รัชกาลที่ 5) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บัญญัติขึ้น โดยเริ่มนับวันที่ “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” (รัชกาลที่ 1) ทรงสร้างกรุงเทพมหานคร เป็น ร.ศ. 1 และวันเริ่มต้นปี คือ วันที่ 1 เมษายน ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่6) ได้ยกเลิกการใช้ ร.ศ.

“พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” รัชกาลที่ 1

ฮิจเราะห์ศักราช (ฮ.ศ.) เป็นศักราชทางศาสนาอิสลาม เริ่มนับเมื่อท่าน “นบีมุฮัมหมัด” กระทำ “ฮิจเราะห์” (Higra แปลว่า การอพยพโยกย้าย) คือ อพยพจากเมืองเมกกะ ไปอยู่ที่เมืองเมดินะ เป็นปีเริ่มต้นของศักราชอิสลาม

“นบีมุฮัมหมัด” กระทำฮิจเราะห์

การเปรียบเทียบศักราชต่าง ๆ
การเปรียบเทียบศักราชสามารถกระทำได้ง่าย ๆ โดยนำตัวเลขผลต่างของอายุศักราชแต่ละศักราชมาบวกหรือลบศักราขที่เราต้องการ ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
ม.ศ. + 621 = พ.ศ.
พ.ศ. – 621 = ม.ศ.
จ.ศ. + 1181 = พ.ศ.
พ.ศ. – 1181 = จ.ศ.
ร.ศ. + 2324 = พ.ศ.
พ.ศ. – 2324 = ร.ศ.
ค.ศ. + 543 = พ.ศ.
พ.ศ. – 543 = ค.ศ.
ฮ.ศ. + 621 = ค.ศ.
ค.ศ. – 621 = ฮ.ศ.
ฮ.ศ. + 1164 = พ.ศ.
พ.ศ. – 1164 = ฮ.ศ.

นาฬิกากับหนังสือเก่า ๆ

สรุปแล้ว ปัจจุบันศักราชที่นิยมใช้กันมาก คือ คริสต์ศักราช และพุทธศักราช เมื่อเปรียบเทียบศักราช ทั้งสองต้องใช้การบวกหรือลบกับเลข 543 แล้วแต่กรณี ถ้าเราสามารถเทียบศักราชได้คล่องจะทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ไทย หรือสากลได้ง่ายขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันนี้เวลามีค่าและมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ดังคำพูดที่ทุกคนเคยได้ยินว่า “เวลาไม่เคยรอใคร”

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
อ้างอิงข้อมูลจาก : www.dol.go.th
รูปภาพจาก : www.sanook.com, www.hbhelicopter.com, www.phuttha.com, th.wikipedia.org, my.dek-d.com, www.publicpostonline.net

ร่วมแสดงความคิดเห็น