“บะข่างโว่” ของเล่นล้านนา ที่กำลังจะสูญหาย

“บะข่างโว่” ของเล่นล้านนาที่กำลังจะสูญหายไป เด็ก ๆ รุ่นใหม่คงไม่เคยได้ยินชื่อนี้ แต่ก่อนบะข่างโว่ ถือเป็นของเล่น ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่ต้องมาเลิกเล่นไปเพราะเหตุการณ์ ๆ หนึ่ง พอนำกลับมาเล่นอีกครั้ง กลับไม่เป็นที่น่าจดจำเหมือนเคย เพราะมีของเล่นอย่างอื่นสร้างขึ้นมาทดแทน ด้วยเหตุที่กลัวว่าบะข่างโว่จะสูญหาย พ่อหลวงอานนท์ และลุงพันธ์ ชาวบ้านสันทรายต้นกอก จึงเริ่มนำบะข่างโว่ กลับเข้ามาในชุมชนอีกครั้ง

“บะข่างโว่” คืออะไร? ทำไมจึงใกล้สูญหายไปจากวิถีชีวิต วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะเล่าให้ฟัง

บะข่างโว่คืออะไร
“บะข่างโว่” คือของเล่นพื้นบ้านล้านนา ที่ทำมาจากไม้ไผ่ โดยมีลักษณะการเล่นคล้ายกับลูกข่าง แต่บะข่างโว่จะเกิดเสียงดังกว่า และมีขนาดใหญ่กว่า สันนิษฐานว่าบะข่างโว่ เกิดขึ้นมาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

ทำไมถึงชื่อบะข่างโว
เหตุผลที่ต้องชื่อ “บะข่างโว่” เพราะมันมีเสียงดัง โว่ ๆ ซึ่งแต่ก่อนเสียงของบะข่างโว่จะดังมาก เพราะบรรยากาศที่เงียบสงบ ทำให้เสียงดังไปถึงอีกหมู่บ้านหนึ่งได้ เมื่อหมู่บ้านตรงข้ามได้ยิน ก็จะพากันเล่นบะข่างโว่เป็นการส่งเสียงตอบโต้กัน “บะข่างโว่” จึงกลายเป็นของเล่น ที่เชื่อมความสัมพันธ์ไปโดยปริยาย

ประวัติของบะข่างโว่

“บะข่างโว่” หรือสำเนียงท้องถิ่นออกเสียงว่า “บะข่างโหว้” เป็นของเล่นพื้นบ้าน จากภูมิปัญญาบรรพบุรุษ ในอดีต ผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุจะเล่นให้เด็กดู เพื่อให้เด็กเล่นบริเวณบ้าน หรือลานวัด ในช่วงที่ออกไปปลูกนานั่นเอง คนแต่ก่อนชอบเล่นบะข่างโว่บริเวณวัด ในช่วงวันสำคัญ ๆ เช่น ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีลอยกระทง

แต่มีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่บะข่างโว่ถูกห้ามเล่น คือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะเสียงที่คล้ายกับเสียงเตือนภัย หรือเสียงเครื่องบินทิ้งระเบิด ทำให้ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องหยุดเล่นไปชั่วระยะหนึ่ง พอพ้นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไป ชาวบ้านก็นำบะข่างโว่กลับมาเล่นใหม่ แต่ครั้นจะให้มันนิยมเหมือนเดิม ก็คงไม่ได้ เพราะสภาพสังคม และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ประกอบกับมีของเล่นที่น่าสนใจเพิ่มขึ้น จึงทำให้ความนิยมเล่นบะข่างโว่ลดลง และเริ่มสูญหายไป

จนกระทั่งปี 2538 ได้มีบุคคลนำบะข่างโว่ กลับเข้ามาใหม่ นั่นก็คือ นายอานนท์ ไชยรัตน์ หรือพ่อหลวงอานนท์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 บ้านสันทรายต้นกอก และนายคัณโท อินทแกล้ว หรือลุงพันธ์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์ขี้เฝ่าและกรรมการหมู่บ้านสันทรายต้นกอก ซึ่งทั้งสองคนเป็นแกนนำสำคัญ ที่นำบะข่างโว่มาจัดกิจกรรมแข่งขันขึ้น โดยจัดขึ้นครั้งแรกในงานสรงน้ำพระธาตุ ณ วัดสันทรายต้นกอก ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา และนับตั้งแต่นั้นมา การแข่งขันบะข่างโว่ ก็กลายเป็นกิจกรรมแข่งขัน ที่จัดขึ้นทุกปีจนถึงปัจจุบัน

ส่วนประกอบของบะข่างโว

  1. เดือย การาทำเดือย ต้องใช้ไม้เนื้อแข็ง ความยาวประมาณ 2.5 – 3 เท่าของตัวบะข่างโว่ นำมาเหลาจนได้ปลายแหลม โดยเดือยต้องสอดคล้อง กับขนาดของบะข่างโว่
  2. ฝาปิดด้านบน ใช้ไม้แผ่นบาง ความหนาประมาณ 2 – 3 มิลลิเมตร ขนาดพอดีกับกระบอกไม้ไผ่ ปัจจุบันสามารถใช้ไม้อัดแทนได้
  3. ฝาปิดด้านล่าง ฝาปิดด้านล่าง และฝาปิดด้านบนต้องมีขนาดเท่ากัน
  4. ตัวบะข่างโว ใช้ไม้ไผ่ทรงกลม ความหนาประมาณ 3 – 4 มิลลิเมตร ความยาวตามความต้องการ แต่ปกติจะใช้ความยาวอย่างน้อย 2.5 นิ้ว ซึ่งความหนา และความยาวมีผลต่อการเกิดเสียง ทั้งยังส่งผลต่อน้ำหนัก และแรงที่ใช้ในการหมุนเหวี่ยงด้วย
  5. ลิ้น การทำลิ้น ควรทำช่องให้เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความยาวประมาณ 3 – 4 เซนติเมตร มีความกว้างประมาณ 3 – 5 มิลลิเมตร และใช้มีดคว้านขอบด้านหนึ่งทแยง 45 องศา ลาดเอียงเข้าหาด้านในตัวบะข่างโว่
  6. ช่องรับลม ช่องรับลมกว้างหรือแคบ จะส่งผลต่อเสียงของบะข่างโว่ด้วย
  7. ไม้ดันเชือก หรือไม้ชัก ใช้ไม้แผ่นบาง ขนาดพอดีมือ ความยาวประมาณ 6 – 7 นิ้ว กว้างไม่เกิน 1 นิ้ว ใช้สำหรับการร้อยเชือก เพื่อชักบะข่างโว่
  8. เชือก ต้องมีขนาด 2 – 3 มิลลิเมตร ความยาว 1 เมตร หรือประมาณ 1 ช่วงไหล่ ไม่ควรใช้เชือกไนลอน หรือเชือกสังเคราะห์

วิธีการเล่นบะข่างโว

  1. เริ่มแรกคือ พันเชือกจากด้านล่างเดือยขึ้นด้านบน ใช้นิ้วมือข้างหนึ่งกดปลายเชือกไว้ แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งหมุนเชือกพันเดือย
  2. เมื่อเชือกใกล้เต็มเดือยให้รูดเชือกลงมา เรียงเชือกให้เป็นระเบียบ เหลือปลายเชือกไว้ไม่น้อยกว่า 1 คืบ เพื่อใช้ชัก
  3. หลังจากนั้น นำเชือกมาร้อยผ่านรูไม้ดันเชือก โดยร้อยเชือกผ่านรูเข้าหาตัวคนเล่น
  4. ใช้มือข้างหนึ่ง จับไม้ดันเชือกไว้ พร้อมกับใช้นิ้วชี้ประครอง ให้บะข่างโว่ตั้งตรง มืออีกข้างหนึ่งม้วนปลายเชือก แล้วล็อคเข้ากับนิ้วมือ
  5. ควรตั้งบะข่างโว่บนพื้น หรือให้สูงจากพื้นเล็กน้อย ไม่ควรยกบะข่างโว่สูงจากพื้นเกิน 1 คืบ ดึงเชือกผ่านรูของไม้ดันเชือก ออกไปอย่างรวดเร็ว

ทำไมบะข่างโว่จึงเกิดเสียง
เสียงดังของบะข่างโว่ เกิดจากการที่อากาศอัดผ่านช่องรับลม เข้าไปในตัวบะข่างโว่ที่กำลังหมุน การเจาะ และคว้านช่องลม รวมทั้งความเร็วในการหมุน จะทำให้เกิดเสียง โว่ ๆ ขึ้น ทั้งนี้บะข่างโว่ อาจส่งเสียงออกมาทันที หรือส่งเสียงดัง หลังจากหมุนไปแล้วระยะหนึ่งก็ได้ แต่กรณีที่บะข่างโว่แตก ร้าว หรือมีรูรั่ว จะทำให้บะข่างโว่หมุนโดยไม่เกิดเสียง

คุณค่า และประโยชน์ของบะข่างโว

  1. ช่วยบริหารสมอง ฝึกการใช้ความคิด เพราะต้องค้นหาเทคนิค และวีธีกราที่จะทำให้บะข่างโว่หมุนได้นิ่ง นาน และเกิดเสียงดัง
  2. ช่วยบริหารกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพราะต้องร้อยเชือก ออกแรงดึงเชือก และเดินไปเก็บบะข่างโว่
  3. ช่วยให้เกิดความสนุกสนาน และความเพลินเพลิด ฝึกให้มีน้ำใจนักกีฬา
  4. ช่วยให้ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของเด็กไทยในอดีต และเกิดความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ
  5. ช่วยฝึกความอดทน ความมุ่งมั่นตั้งใจ เพราะขั้นตอนในการทำบะข่างโว่ใช้เวลา และเป็นงานฝีมือ
  6. สามารถนำภูมิปัญญาเกี่ยวกับการทำและการเล่นบะข่างโว่ ไปบูรณาการกับการเรียนการสอนได้ เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ ในหัสข้อเกี่ยวกับแรงหมุน ที่มาของของเสียง และการเกิดเสียงได้

สรุป
หากใครสนใจ หรืออยากทราบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ การทำบะข่างโว่ การแข่งขันบะข่างโว่มากขึ้น สามารถติดต่อได้ที่ “ศูนย์เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนาสลีปิงจัยแก้วกว้าง” ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 บ้านสันทรายต้นกอก ตำบลฟ้าฮ่าม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ หรือโทร. 0-5324-1209 , 08-9433-7395 ซึ่งจะมีการแข่งขันบะข่างโว่ทุกปี ในงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุ วันวิสาขบูชา ณ วัดสันทรายต้นกอก

“ของกิ๋น ถ้าบ่กิ๋น ก็จักเน่าบูด ของเก่า ถ้าบ่เล่า มันก็ลืม เหมือนกับ บะข่างโว่ ของเล่นพื้นบ้านล้านนาที่มีอายุนานกว่า 100 ปี” พ่ออุดม รังสี ผู้ที่ได้รับรางวัลเพชรราชภัฏ-เพชรล้านนา ประจำปี พ.ศ.2553

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

อ้างอิงข้อมูขจาก
หนังสือบะข่างโว่ ของเล่นล้านนา…ของเล่นภูมิปัญญา

ร่วมแสดงความคิดเห็น