สถาปัตยกรรมไตลื้อที่วัดต้นแหลงเมืองน่าน

ความมหัศจรรย์ของเมืองน่านก็คือ วัฒนธรรมชาวไทลื้อที่อพยพเข้ามาจากสิบสองปันนา เมื่อกว่า 200 – 300 ปีก่อน จนวัฒนธรรมของไทลื้อนี้เองได้กลายเป็นจุดเด่นของจังหวัดน่าน ที่นักท่องเที่ยวหลายคนรู้จักกันเป็นอย่างดี ซึ่งปรากฏร่องรอยทางประวัติศาสตร์ให้ได้พบเห็นตามวัดวาอารามต่าง ๆ ที่มีอยู่ในเมืองน่าน นอกจากนั้นยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังระดับมัสเตอร์พีทของวัดหนองบัว อำเภอท่าวังผากับวัดภูมินทร์ ฝีมือช่างสกุลไทลื้อที่มีอายุมากกว่า 150 ปี ว่ากันว่าภาพเขียนจิตรกรรมของจังหวัดน่านสวยสดงดงามมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศหาที่ใดเสมือน

หากใครที่มาเยือนน่านแล้วไม่ได้ไปนมัสการวัดไตลื้อในเมืองน่านก็ยังนับว่ามาไม่ถึงเมืองน่าน วัดสำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา ถือได้ว่าเป็นหมู่บ้านไทลื้อเก่าแก่หมู่บ้านหนึ่งที่ตั้งขึ้นมาเมื่อราว 300 กว่าปีก่อน นอกจากบ้านหนองบัวจะเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ของไทลื้อแล้ว ที่หมู่บ้านแห่งนี้ยังมีอาคารศิลปกรรมไทลื้อและภาพเขียนสีฝาผนังที่สมบูรณ์สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในล้านนา คือวิหารวัดหนองบัว สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2405 โดยการนำของครูบาหลวงสุนันต๊ะร่วมกับชาวบ้านหนองบัวช่วยกันสร้างขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วิหารวัดหนองบัวแห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบไทลื้อที่สมบูรณ์และหาดูยาก

วัดไตลื้ออีกแห่งหนึ่งที่มีความสวยงามและเก่าแก่ จนได้รับการยกยองว่าเป็นวัดไตลื้อที่ยังคงสภาพทางสถาปัตยกรรมได้ดีไม่แพ้วัดหนองบัว ก็คือ วัดต้นแหลง อำเภอปัวเมืองน่าน เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ.2127 หรือประมาณ 432 ปีมาแล้ว โดยช่างชาวไตลื้อ
ถือเป็นศิลปกรรมสกุลไตลื้อในยุคแรก ๆ ตัววิหารถูกรื้อแล้วสร้างใหม่ เนื่องจากสร้างอยู่ริมตลิ่งทำให้ในฤดูน้ำหลากจึงถูกน้ำท่วมและพังทลายลง

สันนิษฐานว่าวัดต้นแหลงน่าจะสร้างขึ้นสมัยกรุงสุโขทัยตอนปลาย เพราะลักษณะของหลังคาเป็นทรงสามชั้นมุงด้วยไม้ทั้งหมด นาคบนหลังคาเป็นนาคสามเศียรคล้าย ๆ กับนาคของประเทศลาว ลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรมของวัดต้นแหลงอยู่ที่ตัววิหาร ซึ่งนักโบราณคดีต่างให้ความเห็นว่าได้รับวิวัฒนาการมาจากวิหารไม้หลังเดิม หลังคาทรงคุ่มลาดเอียง ต่อมาได้เกิดการชำรุดเนื่องจากปลวกแมลงและความชื้นจากดิน จึงต้องเปลี่ยนผนังใหม่เป็นผนังก่ออิฐและเพิ่มช่องหน้าต่างขนาดเล็กขึ้น เพื่อให้แสงสว่าง

ตัววิหารเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า บริเวณฐานชุกชีค่อนไปทางหลังวิหารสามารถเดินได้รอบ ฐานวิหารยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตรส่วนบริเวณกึ่งกลางพระวิหารมีประตูทางเข้าซึ่งเป็นประตูไม้เปิดปิดได้โดยเจาะรูผนังแกนหมุนเพื่อรับบานประตูขนาดใหญ่ ภายในวิหารยังคงกลิ่นไอแบบไตลื้อ สังเกตได้จากพระประธานซึ่งสร้างขึ้นตามแบบศิลปะไตลื้อ ภายในวิหารไตลื้อวัดต้นแหลง มีศาสนใช้สอยประกอบกันได้แก่ ฐานชุกชี ธรรมมาสน์และอาสนสงฆ์ ซึ่งถือว่ามีพื้นที่น้อยมากเมื่อเทียบกับตัววิหารซึ่งเป็นอาคารแบบโล่ง สำหรับให้ชาวบ้านใช้ฟังธรรมเทศนา นอกจากนั้นบรรยากาศของวิหารวัดต้นแหลง ยังสลัว ๆ เนื่องจากมีช่องสำหรับให้แสงเข้าน้อยมาก โดยเฉพาะพระประธานจะอยู่ความสลัวลางท่ามกลางความมึด นัยว่าเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ให้กับองค์พระมากขึ้น ในบรรยากาศยามเช้าแสงสว่างจะลอดผ่านเป็นลำพุ่งตรงจากประตูผ่านเสาวิหารที่เรียงกันเป็นทิวแถวตรงเข้าสู่องค์พระประธานซึ่งลอยเด่นอยู่ท่ามกลางแสงสลัว ๆ ทึม ๆ อันทำให้ผู้พบเห็นเกิดความปิติศรัทธาขึ้นมาอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว

นอกจากนั้นความสวยงามของวิหารไตลื้อวัดต้นแหลง อยู่บริเวณหน้าบันด้านนอก ซึ่งประดับด้วยไม้โปร่งเป็นรัศมีแฉกเล่นลวดลายสีสันสวยงาม เป็นความตั้งใจของช่างสกุลไตลื้อที่ต้องการสื่อให้เป็นความโดดเด่นทางศิลปะ รวมทั้งให้ผู้ผ่านไปมาเกิดความความสนใจ
จึงทำให้วิหารหลังนี้ดูแปลกกว่าวิหารทั่วไป ลักษณะหน้าบันของวัดประกอบด้วยตัวลำยองนาคและช่อฟ้าแบบพื้นบ้าน เป็นลักษณะเริ่มต้นของศิลปะตกแต่งแบบไตลื้อ การตกแต่งเชิงชายหรือชายน้ำด้วยไม้ซี่แหลมรอบ ๆ อาคาร บริเวณหลังคาวิหารมุงด้วยกระเบื้องไม้ แต่เดิมตามประวัติของวัดกล่าวว่าหลังคามีสภาพทรุดโทรม จึงได้ทำการมุงขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.2499 ซึ่งช่างได้ทำแบบพื้นบ้านอาจจะไม่สวยงามเหมือนงานช่างของชาวไตยวน ทว่าก็เป็นงานศิลปกรรมที่แท้จริงแบบไตลื้อที่มีความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาของพวกเขา

ปัจจุบันวัดต้นแหลง ถือเป็นวัดเก่าแก่ที่ยังคงสภาพของวัดไตลื้อที่สมบูรณ์ที่สุด และหาชมได้ยาก ทางวัดจึงได้ทำการอนุรักษ์โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเพื่อเป็นสมบัติให้กับคนรุ่นได้ศึกษาค้นคว้าต่อไป

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น