สนง.ประชาสัมพันธ์ จ.ลำปาง จัดสัมมนาเครือข่ายสื่อให้ความรู้เรื่อง “การมีส่วนร่วมของสื่อมวลชนกับการเลือกตั้ง”

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดลำปาง จัดกิจกรรมสัมมนาเครือข่าย เชิญสื่อมวลชนทุกแขนงในพื้นที่ร่วมประชุมเสวนาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น สร้างความรู้ความเข้าใจในข้อกฎหมายใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง สานการมีส่วนร่วมเตรียมการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากรัฐสู่ประชาชน โดยได้มีการจัดกิจกรรมขึ้น ที่ ห้องวังธาร โรงแรมรีเจนท์ลอร์ด ตำบลหัวเวียง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง มีนายวีรยุทธ รวดเร็ว ประชาสัมพันธ์จังหวัดลำปาง เป็นหัวหน้าคณะนำทีมเจ้าหน้าที่ในสังกัดหน่วยงาน และสื่อมวลชนจากสื่อต่าง ๆ ทุกแขนงรวมจำนวนกว่า 70 คน เข้าร่วมประชุมเสวนาทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกัน

โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้มี นายชนวิท พิมพิลา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดลำปาง ได้ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ในประเด็นข้อกฎหมายใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง พร้อมขึ้นเวทีร่วมเสวนากับผู้แทนหน่วยงานองค์กรด้านการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลข่าวสารในจังหวัดลำปาง อาทิ นายวีรยุทธ รวดเร็ว ประชาสัมพันธ์จังหวัดลำปาง, นางศศิธร สุดเจริญ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดลำปาง, นายอัคเรศ สมเปิง อุปนายกสมคมผู้สื่อข่าวจังหวัดลำปาง คนที่ 2 เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นรับฟังข้อสงสัยประเด็นปัญหาในเรื่องต่าง ๆ จากผู้ร่วมประชุมเสวนา พร้อมแนะแนวทางวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการเลือกตั้ง ทั้งนี้เนื่องจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ ได้มีระเบียบใหม่เพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงจากระเบียบเดิมอยู่หลายประการ โดยทั้งหมดเพื่อให้การนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด

โดยการเสวนาได้มีการพูดคุยชี้แจงถึงประเด็นสำคัญ ๆ ในหลายประเด็นเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน อาทิเช่น เรื่องการเปิดรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของจังหวัดลำปางที่จะมีขึ้นในวันที่ 4 – 8 กุมภาพันธ์ 2562 นี้ ซึ่งจังหวัดลำปางจะมีการแบ่งเขตเลือกตั้งรวม 4 เขต โดยในแต่ละเขตผู้สมัครพรรคเดียวกันอาจได้หมายเลขประจำตัวเลือกตั้งไม่ตรงกัน เพราะครั้งนี้จะมีการจับฉลากเลือกหมายเลขผู้สมัครแยกกันเป็นของแต่ละเขตเลือกตั้ง, ประเด็นข้อกฎหมายใหม่ที่ได้มีการยุบตำแหน่ง กกต.จังหวัด ทำให้ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งขึ้นอยู่กับสำนักงาน กกต.กลาง โดยมีสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด เป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ส่งให้ส่วนกลางพิจารณา และกฎหมายใหม่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2560 ได้ตัดอำนาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครออกจากมือ กกต. แต่ให้เป็นอำนาจศาลพิจารณา และยังคงอำนาจการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ รวมไปถึงสั่งระงับยับยั้งการดำเนินการเลือกตั้งได้ในกรณีที่พบเห็นว่ามีการกระทำผิด หรือมีการงดเว้นการกระทำซึ่งส่งผลให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม

นอกจากนี้ในกรณีที่พบการกระทำของบุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริต ให้ กกต. แจก “ใบส้ม” คือ ระงับสิทธิรับสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครรายนั้นไว้เป็นการชั่วคราว(ไม่เกิน 1 ปี) แต่ต้องดำเนินการก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น ทั้งนี้ให้อำนาจดังกล่าวถือเป็นที่สุดไม่สามารถอุทธรณ์ได้ นอกจากนี้ได้พูดคุยประเด็นข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลคะแนนการเลือกตั้ง ที่กำหนดว่าเขตใดที่ผู้สมัครได้คะแนนเป็นอันดับ 1 แต่มีคะแนนน้อยกว่าคะแนนของผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน ผู้สมัครนั้นต้องหมดสิทธิ์ที่จะได้รับการเลือกตั้งและไม่มีสิทธิที่จะกลับเข้ามาสมัครรับเลือกตั้งใหม่ ตลอดจนได้พูดคุยชี้แจงถึงประเด็นข้อสงสัยอื่น ๆ เช่น การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ, การหาเสียงผ่านระบบออนไลน์ต้องทำอย่างไรและสามารถคิดเป็นค่าใช้จ่ายได้หรือไม่ รวมไปถึงประเด็นการชดใช้ค่าเสียหายกรณีต้องมีการเลือกตั้งใหม่ เป็นต้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น