“Anorexia” คลั่งผอม โรคร้ายอันตรายถึงชีวิต!!

ถ้าพูดถึง ความอ้วน คงเป็นคำที่น่ากังวลใจสำหรับใครหลาย ๆ คน เพราะปัจจุบันนี้ ผู้คนหันมาดูแลรูปร่างกันเป็นอย่างดี เพราะไม่ว่าใครก็ตาม ล้วนแต่ต้องการมีรูปร่างที่ดีกันทั้งนั้น ยิ่งไปกว่านั้นในสังคมปัจจุบัน ใครที่อ้วนเกินไปก็มักจะถูกล้อ ถูกแซว จนทำให้ต้องเก็บไปคิดมาก ด้วยเหตุผลนี้ ความอ้วน จึงเป็นคำต้องห้ามสำหรับใครหลายคนที่อาจกลัวอ้วนจนเกินไป ทำให้มีพฤติกรรมเข้าข่าย “โรคคลั่งผอม” หรือ (Anorexia Nervosa) ที่อาจอันตรายถึงชีวิตได้

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะพาทุกคนมารู้จักกับ “โรคคลั่งผอม” ว่าคืออะไร อาการของโรคเป็นอย่างไร และโรคนี้อันตรายมากขนาดไหน ให้ทุกคนได้ทราบกันค่ะ

โรคคลั่งผอม คืออะไร?

โรคคลั่งผอม หรือโรคอะนอเร็กเซีย ภาวะกลัวอ้วนมากเกินไป เป็นความผิดปกติทางจิตใจชนิดหนึ่ง ที่ผู้ป่วยจะหมกมุ่นอยู่กับรูปร่างของตัวเอง ต้องการให้ตัวเองผอมลงเรื่อย ๆ กลัวอย่างรุนแรงว่าตัวองเองจะอ้วน ทำให้เกิดอาการผิดปกติที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการกิน โดยผู้ป่วยโรคคลั่งผอมจะมีพฤติกรรมกินอาหารน้อย หรือไม่ยอมกินอาหาร พยายามลดน้ำหนักอย่างหนักด้วยวิธีการต่าง ๆ เพราะกลัวว่าตัวเองจะอ้วน หรือคิดว่าร่างกายยังผอมไม่พอ แม้จะอดอาหารจนเหลือเพียงหนังหุ้มกระดูก ก็ยังคงคิดว่าตัวเองอ้วนอยู่ ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้อาจป่วยเป็นโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ร่วมด้วย และประสบภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับสุขภาพกายหลายอย่างอันนำไปสู่การเสียชีวิตได้


อีเลียนน่า รามอส และลุยเซล รามอส

ผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคคลั่งผอมจนเสียชีวิตในต่างประเทศ
อีเลียนน่า รามอส และลุยเซล รามอส สองพี่น้องนางแบบชาวอุรุกวัย เป็นผู้ที่ป่วยเป็นโรคคลั่งผอมจนถึงขั้นเสียชีวิตทั้งคู่ หลังจาก ลุยเซล รามอส พี่สาววัย 22 ปี เสียชีวิตกะทันหัน ขณะเดินแฟชั่นโชว์ที่ Montevideo หลังจากนั้น 6 เดือน อีเลียนน่า รามอส น้องสาววัย 18 ปี ก็ได้เสียชีวิตตามพี่สาวไป ด้วยโรคคลั่งผอมเช่นเดียวกัน

โรคคลั่งผอม เกิดจากอะไร?

ถึงแม้ว่าสาเหตุของโรคคลั่งผอมนั้นอาจจะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดขึ้นจากอะไร แต่ทางการแพทย์พบว่า ผู้ป่วยโรคคลั่งผอม มักจะเป็นคนที่ชอบความสมบูรณ์แบบ มีภาวะย้ำคิดย้ำทำ และมีทัศนคติผิด ๆ เกี่ยวกับรูปร่าง โดยอาจมีบุคคลตัวอย่างเป็นคนผอม หุ่นดี ทำให้รู้สึกอยากผอม มีรูปร่างที่ดีตาม นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยโรคคลั่งผอมบางราย มีภาวะกดดันจากสังคม กดดันจากการถูกล้อเลียน และต้องการเป็นที่ยอมรับในสังคม จึงไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองอ้วน

อาการของโรคคลั่งผอม

ผู้ป่วยโรคนี้มักแสดงสัญญาณ หรืออาการทางสุขภาพกาย ที่เกี่ยวกับลักษณะของคนที่อดอาหาร อย่างไรก็ตาม อาการป่วยของโรคนี้ยังเกี่ยวเนื่องกับอารมณ์ พฤติกรรม และความรู้สึก โดยอาการของโรคคลั่งผอม แบ่งออกเป็นอาการของสุขภาพกาย และอาการทางด้านอารมณ์ และพฤติกรรม ได้ดังนี้

อาการของสุขภาพกาย

  1. อดอาหาร ไม่ยอมกินอาหารเพราะกลัวอ้วน
  2. มีพฤติกรรมชอบวัดสัดส่วน หรือชั่งน้ำหนักบ่อย ๆ
  3. มีอาการเบลอ หลงลืมง่าย
  4. น้ำหนักลดลงเป็นอย่างมาก
  5. อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง เป็นลมบ่อย
  6. ประจำเดือนขาดเนื่องจากฮอร์โมนแปรปรวน
  7. มีภาวะซีด จากการขาดสารอาหาร
  8. ผิวแห้งแตก ผมหยาบกระด้าง ผมร่วง
  9. เครียด ย้ำคิดย้ำทำว่าตัวเองยังอ้วนอยู่ตลอด นอนไม่หลับ
  10. บางรายมีพฤติกรรมออกกำลังกายอย่างหนัก ถึงวันละ 4-5 ชั่วโมงติดต่อกัน

อาการทางด้านอารมณ์

  1. คิดฟุ้งซ่านเกี่ยวกับการรับประทานอาหารอยู่เสมอ
  2. กังวล และกลัวว่าน้ำหนักตัวจะเพิ่ม หรืออ้วนขึ้น ทั้งที่น้ำหนักตัวน้อยเกินไป
  3. หมกมุ่นอยู่กับการมีรูปร่างที่ดี รวมทั้งไม่ยอมรับว่าน้ำหนักตัวต่ำ จนอยู่ในเกณฑ์อันตราย
  4. ไร้อารมณ์ หรือไร้ความรู้สึกกับสิ่งรอบตัว รวมทั้งแยกตัวออกจากสังคม
  5. หงุดหงิด และฉุนเฉียวง่าย หรือรู้สึกซึมเศร้า
  6. ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องเพศลดลง
  7. คิดฆ่าตัวตาย

โรคคลั่งผอม อันตรายแค่ไหน?

โรคคลั่งผอม ไม่เพียงแต่ทำให้ร่างกายซูบผอม แต่ผู้ป่วยมีอาการปฏิเสธอาหาร กินเข้าไปแล้วรู้สึกผิด จึงพยายามทำทุกวิธีเพื่อให้อาหารที่กินเข้าไปออกมาจากร่างกายโดยเร็วที่สุด ซึ่งบางครั้งร่างกายยังไม่ได้ย่อยอาหารเหล่านั้น และไม่ได้ดูดซึมสารอาหารที่ได้รับไปใช้เป็นพลังงาน และภาวะที่ร่างกายขาดสารอาหารจะนำโรคต่าง ๆ มาให้มากมาย เช่น เสี่ยงต่อภาวะโลหิตจาง กระดูกพรุน ยิ่งหากผอมมาก ๆ ชั้นไขมันแทบไม่มี อาจเสี่ยงต่อภาวะกระดูกทิ่มแทงอวัยวะข้างในร่างกายได้ เพราะชั้นไขมันในร่างกายหนาไม่พอ นอกจากนี้เมื่อขาดสารอาหาร ร่างกายจะเกิดภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล อาจส่งผลต่อจิตใจ ทำให้ไม่มีเรี่ยวแรง รู้สึกห่อเหี่ยว คิดหมกมุ่นอยู่แต่กับเรื่องรูปร่าง มีพฤติกรรมแยกตัว เสี่ยงทำร้ายตัวเอง ใช้ยาเสพติด หรือเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายอีกด้วย

โรคคลั่งผอม รักษาได้ไหม?

การรักษาโรคคลั่งผอม สามารถรักษาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนความคิด และทัศนคติเรื่องรูปร่างเสียใหม่ แต่ว่าผู้ป่วยโรคคลั่งผอมส่วนใหญ่ จะไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วย ทำให้ขาดโอกาสในการรักษา กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ตอนที่สุขภาพร่างกายย่ำแย่มาก ๆ แล้ว ดังนั้นการรักษาผู้ป่วยโรคคลั่งผอม จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจกับผู้ป่วยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ควรพูดคุยกับผู้ป่วยด้วยเหตุผล พยายามโน้มน้าวให้กลับมาดูแลตัวเอง หรือหากลองพูดคุยแล้วอาการของผู้ป่วยยังไม่ดีขึ้น ก็ควรพาไปพบจิตแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี

สรุป
อย่างไรก็ตาม หากต้องการรักษารูปร่าง หรือลดน้ำหนัก ควรดูก่อนว่าโดยเฉลี่ยแล้ว เราเป็นคนรูปร่างระดับไหน การลดน้ำหนักเพื่อให้เข้ากับลักษณะสังคม โดยมีความพอดี และเหมาะสม ก็คงพอยอมรับได้ แต่หากลดแล้วกลายเป็นว่าหมกมุ่น ใช้เวลากับมันค่อนข้างมาก เสียการงาน เสียการเรียน เสียเพื่อนฝูง เสียความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง แล้วน้ำหนักที่ลดลงไปเร็วมากกว่าปกติ จนสภาพร่างกายเปลี่ยนแปลงไป อันนี้ถือว่าเป็นอันตรายมาก ควรหยุดพฤติกรรมเหล่านั้นทันที เพื่อป้องกัน และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคคลั่งผอมนั่นเองค่ะ

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
อ้างอิงข้อมูลจาก : health.kapook.com, pobpad.com, gedgoodlife.com, women.mthai.com
ภาพจาก : freepik.com, women.mthai.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคซึมเศร้าคืออะไร? ทำไมใครๆก็เป็น

อารมณ์ขึ้นๆลงๆ นี่เรากำลังเป็นโรคไบโพลาร์รึเปล่า?

ความโกรธทำให้ความดันขึ้นจริงหรือ ?

ความกลัวกับโรคกลัวต่างกันอย่างไร ?

ร่วมแสดงความคิดเห็น