ฝุ่นละออง PM2.5 อันตรายต่อสุขภาพ เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็ง!!!

ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่กำลังระบาดในเขตพื้นที่ภาคกลางและปริมณฑล รวมถึงอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เช่นเดียวกับจังหวัดเชียงใหม่ที่ติดอันดับเมืองที่มีค่าฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน จากการจัดอันดับจากเว็บไซต์ airvisual.com เปิดเผยค่าเฉลี่ยคุณภาพอากาศทั่วโลก เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเชียงใหม่ติดอยู่ในอันดับที่ 24 ของทั่วโลก ด้วยปริมาณฝุ่น PM2.5 อยู่ที่ 111 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 16 ด้วยปริมาณฝุ่น PM2.5 อยู่ที่ 156 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมาบอกถึงอันตรายที่เกิดจากฝุ่นละออง PM2.5 ที่มาพร้อมกับความเสี่ยงในการโรคต่าง ๆ

ฝุ่นละออง PM2.5 อันตรายอย่างไร ?

ฝุ่นละอองยิ่งมีขนาดเล็กยิ่งอันตราย ฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นฝุ่นร้ายที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ไม่มีกลิ่น ขนาดเล็กจิ๋วมาก สามารถผ่านเข้าไปในจมูก ในร่างกายเราลึกได้ถึงถุงลมปอด บางส่วนสามารถเล็ดรอดผ่านผนังถุงลมเข้าเส้นเลือดฝอยล่องลอยอยู่ในกระแสเลือด และกระจายตัวแทรกซึมไปทั่วร่างกายของเราได้ ฝุ่นเหล่านี้สามารถสร้างอนุมูลอิสระและเป็นมลพิษ เป็นผลทำให้หลอดเลือดเกิดการอักเสบได้ และเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้ตับสังเคราะห์ไขมันเพื่อมาเกาะตัวหนาในหลอดเลือดเพื่อป้องกันฝุ่นเหล่านี้ จึงเป็นผลทำให้หลอดเลือดตีบได้ทั้งหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง ในขณะเดียวกันหากฝุ่นเหล่านี้ก็ยังสามารถสร้างมลพิษจนทำให้เซลล์ต้องพยายามกลายพันธุ์ในสภาพแวดล้อมที่เป็นมลพิษนี้จนทำให้กลายเป็นเนื้องอกและมะเร็งในที่สุด

ความเสี่ยงในการเกิดโรค

เมื่อปี พ.ศ. 2555 องค์การอนามัยโลกได้ประมาณการเอาไว้ว่า 72% ของการเสียชีวิตก่อนวันอันควรที่มีความสัมพันธ์จากมลพิษทางอากาศนั้น มีสาเหตุของการเสียชีวิต ด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและโรคหลอดเลือดสมอง เสียชีวิตด้วยโรคทางเดินหายใจส่วนล่างเรื้อรัง 14% และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด 14%

เมื่อปี พ.ศ. 2556 สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ IARC ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งขององค์การอนามัยโลก ได้รวมเอามลพิษทางอากาศให้ขึ้นทะเบียนเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่นละอองขนาดเล็กที่อยู่ในองค์ประกอบของมลพิษทางอากาศ มีความสัมพันธ์กับอัตราความเสี่ยงของโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งปอด และยังมีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งทางเดินปัสสาวะ และโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะอีกด้วย

ทั้งนี้ ความเสี่ยงในการเสียชีวิตนั้น อาจมีมากกว่ามลพิษทางอากาศเพียงปัจจัยเดียวในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น ถ้ามีการสูบบุหรี่ควบคู่ไปกับการอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีมลพิษทางอากาศจะเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งปอดสูงขึ้น การป้องกันความเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดนั้นสามารถที่จะกระทำได้ทั้งการหาหนทางให้ได้รับอากาศที่มีมลพิษน้อยลง หรือลดการสูบบุหรี่

ผลกระทบต่อร่างกาย

ความน่ากลัวของเจ้าฝุ่นร้ายนี้ คือ กระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระ ลดระบบแอนตี้ออกซิแดนท์ รบกวนสมดุลต่าง ๆ ของร่างกาย และกระตุ้นยีนที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งสารอักเสบ ซึ่งมีอันตรายต่อเนื้อเยื่อในร่างกายของเรามาก แล้วส่งผลกระทบต่าง ๆ ตามมา ดังนี้

  1. มีผลกระทบต่อสุขภาพในอาการเบื้องต้น ได้แก่ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ เหนื่อยง่าย มองไม่ชัด หอบหืด
  2. มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม มีน้ำมูก คัดจมูก แสบจมูก เจ็บคอ ไอแบบมีเสมหะ หรืออาจส่งผลให้เป็นไซนัสอักเสบได้ หรืออาจส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น อึดอัดแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก เจ็บหน้าอก
  3. กระตุ้นให้คนที่มีโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ โดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  4. อันตรายกับหัวใจ หากร่างกายได้รับฝุ่นละออง PM 2.5 ปริมาณมากและเป็นระยะเวลานาน จะมีผลต่อระบบหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นแรงขึ้น มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เกิดภาวะหัวใจวาย และหลอดเลือดสมองตีบจนถึงตายได้
  5. สำหรับผลระยะยาวจะทำให้การทำงานของปอดถดถอย อาจเกิดโรคถุงลมโป่งพองได้แม้จะไม่สูบบุหรี่ก็ตาม และเพิ่มโอกาสทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ด้วย
  6. อันตรายต่อปอด หากเราหายใจเอา ฝุ่นละออง PM 2.5 เข้าไปมาก ๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของปอดเพราะฝุ่นละอองขนาดเล็กเหล่านี้สามารถเข้าไปจนถึงถุงลมในปอดได้ จะทำให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้น หายใจสั้นถี่ และยังอาจส่งผลให้เป็นโรคร้าย เช่น โรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดแข็งจากภาวะฝุ่นจับปอด (Pneumoconiosis)
  7. อันตรายต่อดวงตา อาจทำให้เกิดอาการแสบตา ตาแดง ระเคืองตา ตาอักเสบ ซึ่งผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับดวงตาอาจทำให้รุนแรงขึ้น เช่น ต้อลม ต้อเนื้อ ภูมิแพ้ขึ้นตา
  8. โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุหลอดลม ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอปนเลือด มีเสมหะ อาจหายใจมีเสียงดังหวีด หากมีอาการเกิน 3 สัปดาห์ก็อาจจะทำให้เป็นโรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง
  9. มะเร็งระบบทางเดินหายใจ ฝุ่นละอองขนาดเล็กเมื่อสัมผัสกับปอดนาน ๆ อาจเข้าสู่ระบบน้ำเหลืองหรือระบบเลือด จะทำให้เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ จนก่อให้เกิดโรคปอดเรื้อรัง หรือ มะเร็งปอด
  10. อันตรายต่อผิวหนัง อาจส่งผลให้เกิดอาการลมพิษ ระคายเคืองคันตามร่างกาย ผิวหนังอักเสบ ปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนัง ผื่นกำเริบ ผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายหรือผู้ที่เป็นโรคผิวหนังอยู่แล้วควรระวังเพื่อไม่ให้โรคกำเริบได้
  11. อันตรายต่อกลุ่มเสี่ยงเพราะอาจทำให้โรคกำเริบได้ ยิ่งกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ โรคปอด โรคถุงลมในปอดโป่งพอง โรคมะเร็งปอด โรคเกี่ยวกับหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวทำให้มีโอกาสหัวใจวายเฉียบพลัน ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงทั้งหลายควรอยู่แต่ในอาคารบ้านเรือน
  12. อันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์ ถ้าได้รับฝุ่นพิษเป็นเวลานานๆ ก็มีความเสี่ยงส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็กเหล่านี้สามารถซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางรกทำให้มีผลต่อน้ำหนักเด็กแรกเกิดน้อยผิดปกติ แล้วยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแท้งบุตร หรือ คลอดก่อนกำหนด และยังอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและระบบสมองของลูก

วิธีป้องกันตนเองจากฝุ่นพิษ PM 2.5

  1. ลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัว ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ
  2. หลีกเลี่ยงการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง เผาพื้นที่เพื่อเตรียมการทำเกษตรกรรม เผาขยะ หรือวัสดุเหลือใช้
  3. ควบคุมกระบวนการก่อสร้างให้มีฝุ่นน้อยที่สุด
  4. ออกกำลังกายในที่ร่ม ฝุ่นน้อย ๆ และไม่ควรใส่หน้ากากอนามัยเวลาออกกำลังกาย
  5. รับประทานอาหารเสริม อาหารที่มีวิตามินซี และวิตามินอีสูง เช่น ถั่ว ปลา
  6. ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่จำเป็นต้องออกข้างนอกบ้าน หรือที่โล่งแจ้ง ให้ใส่หน้ากากพิเศษชนิดที่เรียกว่า “N95” โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบการหายใจหรือโรคหัวใจเรื้อรัง
  7. สำหรับคนทั่วไปอย่างน้อยให้ใส่ “หน้ากากอนามัย” โดยต้องใส่ให้ถูกต้องวิธี คือ หันด้านที่เป็นสีเขียวและเป็นมันออกด้านนอก ให้ส่วนที่มีแผ่นเสริมความแข็งแรงและช่วยการเข้ารูปอยู่ด้านบนของจมูก สังเกตรอยพับของผ้าด้านหน้าต้องพับลง หากใส่ผิดรอยพับจะกักเก็บฝุ่นละอองในรอยพับ ทำให้หายใจลำบาก

สรุป 

ฝุ่นละออง PM2.5 ยังเป็นปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้ อีกทั้งยังเป็นมลพิษต่ออากาศและร่างกาย ควรป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ทุกครั้ง ขณะอยู่ที่โล่งแจ้งหรืออยู่ข้างนอกอาคารสถานที่ หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มภูมิต้านทาน และทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หากมีอาการผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรค เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงของเรา

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

ข้อมูล : www.airvisual.com, www.bbc.com/thai/thailand, mgronline.com, health.mthai.com, honestdocs.co

ภาพจาก : สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น