“เจ้าน้อยพรหม” โศกนาฏกรรมความรักของเจ้าคุ้มนครลำพูน

ตำนานความรักของล้านนาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความรักระหว่างชนชั้นสูงกับสามัญชน ซึ่งจะมีความรักเป็นความรักต้องห้าม เนื่องจากอยู่คนละชนชั้นวรรณะ แต่ตำนานความรักที่เป็นอมตะของล้านนาที่ทำให้ล้านนาเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางคือ ตำนานความรักเรื่อง “มะเมี๊ย” ซึ่งเป็นความรักระหว่างหลานเจ้าเมืองเชียงใหม่กับหญิงสาวชาวพม่าแต่สุดท้ายทั้งคู่ก็ไม่ได้ครองรักกันอย่างที่สมหวัง ดังเรื่องของ “เจ้าน้อยพรหม” แห่งเมืองลำพูน

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” ได้นำเรื่องราวโศกนาฏกรรมความรักของเจ้าเมืองลำพูน ซึ่งเป็นความรักระหว่างเจ้าเมืองกับหญิงสาวรูปงามเป็นสามัญชนคนธรรมดา ความรักของทั้งสองคนจะเป็นอย่างไร มีเหตุการณ์สำคัญอะไรบ้าง โปรดติดตามได้ ณ บัดนี้

เมื่อกว่า 110 ปีที่แล้ว ที่ “หนองช้างคืน” ยังมีสาวงามนางหนึ่งชื่อ “บัวตอง” เป็นชาวบ้านธรรมดาสามัญ ทำไร่ไถนา ใช้ครกกระเดื่องตำข้าว และทอผ้าใช้เอง แต่ด้วยความสวยกิริยามารยาทที่เรียบร้อย และน้ำใจที่กว้างขวางของนาง แต่ละวันจึงมีหนุ่ม ๆ แวะเวียนมาหาอยู่สม่ำเสมอแต่นางก็ไม่ได้ชอบใจใครเลย กิตติศัพท์ความงามของนางลือกระฉ่อนจนถึงหูของ “เจ้าน้อยพรหมวงศ์” โอรสของเจ้าไชยลังกา และยังเป็นน้องชายต่างมารดาของ “เจ้าดาราดิเรกรัตน์” เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 7 ในบันทึกของฝรั่งกล่าวไว้ว่า “เป็นผู้มีร่างกายสมส่วน และหน้าตาดี” เมื่อทั้งสองได้พบกันแล้วก็เกิดจิตผูกพันกันจนเกิดเป็นความรัก หนุ่มสาวทั้งคู่ก็ตกลงปลงใจกันว่าจะครองเรือน และแก่เฒ่าไปด้วยกันจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะล้มหายตายจากไปก่อน

ภาพวาดสาวบัวตองกับเจ้าน้อยพรหม

วันหนึ่ง มีช้างพังเชือกหนึ่งอาละวาดวิ่งวุ่นขึ้นมาจะทำลายเรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน “หนองช้างคืน” “เจ้าน้อยพรหม” จึงแสดงความกล้าหาญโดยใช้ดาบฟันเข้าไปที่ตัวของช้างพังเชือกนั้นจนร้องด้วยความทุรนราย วิ่งหนีเข้าไปยังป่าละเมาะและล้มลงตรงนั้น ผลผลิตของชาวบ้านจึงปลอดภัย แต่ทว่า ไม่มีใครรู้เลยว่าช้างเชือกนั้นเป็นของ “พระเจ้าอินทวิชยานนท์และเจ้าแม่ทิพย์เกสร” เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ที่โปรดให้ผู้ถือสาส์นยืมขี่มาถึงนครลำพูน

เมื่อ “เจ้าราชสัมพันธวงศ์” ซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ในหมู่เจ้านายล้านนาและเป็นอาของ “พระเจ้าอินทวิชยานนท์” รู้เรื่อง ก็เรียกเจ้าน้อยพรหมไปตำหนิ แต่ “เจ้าแม่ทิพย์เกสร” ยังโกรธแค้นถือว่าเป็นการหมิ่นเกียรติเจ้านครเชียงใหม่ เมื่อเจ้าราชสัมพันธวงศ์ไปพักตากอากาศที่เมืองสันทราย เจ้าแม่ทิพย์เกสร จึงถือโอกาสล้างแค้น ด้วยการออกสาส์นในนามของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ขอตัว “เจ้าน้อยพรหม” ไปสอบสวน “เจ้าดาราดิเรกรัตน์” เห็นว่าเรื่องคงจบไปตั้งแต่ที่เจ้าราชสัมพันธวงศ์ตักเตือนไปแล้ว จึงส่งตัวเจ้าน้อยพรหมไปแต่โดยดี ก่อนจะเดินทางเจ้าน้อยพรหมซึ่งก็คิดเช่นเดียวกับเจ้าดาราดิเรกรัตน์ผู้พี่ ได้แวะไปบอกลา “สาวบัวตอง” เพื่อจะไปยังนครเชียงใหม่ สาวบัวตองจึงให้พวงมาลัยมะลิสดที่นางร้อยเองแก่เจ้าน้อยพรหมวงศ์เป็นการอวยชัย

พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7

ทว่า เรื่องกลับไม่เป็นอย่างที่คาดคิด เมื่อขบวนของ “เจ้าน้อยพรหมวงศ์” ออกจากเมืองลำพูนมาถึงท่าวังตาลแล้ว “เจ้าแม่ทิพย์เกสร” ก็สั่งให้ “เจ้าอุปราชบุญทวงศ์” ผู้มีอำนาจเทียบเท่ากับ “เจ้าอินทวิชชานนท์” ไปสกัดขบวน และจับเจ้าน้อยพรหมไปประหารชีวิต ณ ทุ่งหัวคนซึ่งเป็นเขตทหารของเชียงใหม่ โดยมี “หนานปัญญา” เป็นเพชรฆาต ก่อนที่หนานปัญญาจะลงดาบนั้น เจ้าน้อยพรหมก็ฝากพวงมาลัยมะลิของบัวตองไว้กับนายหนังสือที่ติดตามมาด้วยกันให้เอาไปคืน “บัวตอง” หนานปัญญาลงดาบครั้งแรกพลาดไปโดนไหล่ของเจ้าน้อยพรหม ครั้งที่สองจึงถูกที่คอจนหัวของเจ้าน้อยพรหมขาดสะบั้นหลุดออกจากบ่า โดยที่ใบหน้ามิได้แสดงถึงความเจ็บปวดหรือเกรงกลัวต่อความตายเลย

เจ้าทิพย์เกสร พระชายาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์

เมื่อข่าวไปถึงนครลำพูน “เจ้าดาราดิเรกรัตน์” และ “เจ้าราชสัมพันธวงศ์” ก็เศร้าโศกเสียใจมากถึงขนาดไม่ไปรับศพ “เจ้าน้อยพรหม” กลับมา “เจ้าแม่ทิพย์เกสร” จึงสั่งให้ฝังศพของเจ้าน้อยพรหม ณ ลานประหาร จากนั้นเจ้าดาราดิเรกรัตน์ก็ไม่เสด็จไปเยือนเจ้าแม่ทิพย์เกสรอีกเลย เจ้านายฝั่งลำพูน และเชียงใหม่ก็หน่ายแหนงแคลงใจกันแต่นั้นมา ส่วน “สาวบัวตอง” คนรักนั้น เมื่อได้รู้ข่าวก็ใจสลายไม่อาจมีชีวิตอยู่ต่อได้ วันรุ่งขึ้นจึงมีคนพบร่างไร้ชีวิตของนางแขวนคออยู่กับกิ่งไม้ที่นางกับเจ้าน้อยทอดรักกัน และนางบัวตองยังคงกำพวงมาลัยมะลิที่เป็นสัญญารักชิ้นสุดท้ายกับเจ้าน้อยพรหมไว้ในมืออย่างแน่น ราวกับว่าจะกำเอาความรักของนางไปพบกับเจ้าน้อยพรหมในปรโลกอีกครั้ง

เจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 7 ซึ่งเป็นพระเชษฐาของ “เจ้าน้อยพรหม”

สรุปแล้ว ตำนานโศกนาฏกรรมความรักของ “เจ้าน้อยพรหมกับสาวบัวตอง” ได้ให้ข้อคิดกับเราว่า เมื่อทำผิดเราก็ต้องยอมรับผิด ดังเช่นที่เจ้าน้อยพรหมได้ฆ่าช้างพังของ “เจ้าแม่ทิพย์เกสร” สุดท้ายก็ต้องรับโทษประหารชีวิต แต่ด้วยวิธีที่ไม่ชอบธรรมจึงทำให้สายตระกูลเชียงใหม่ และลำพูน ไม่ค่อยใกล้ชิดสนิทดังเดิม นอกจากเรื่องของการทำผิดแล้ว เรื่องของความรักนับว่า ทั้งสองคนมีความซื่อสัตย์ต่อกัน และกัน ดังเห็นได้จากเมื่อ “สาวบัวตอง” ทราบว่า “เจ้าน้อยพรหม” ถูกประหารชีวิต ก็คิดว่าตนไม่สามารถรักใครได้อีกแล้วในวันต่อมาสาวบัวตองจึงแขวนคอตาย ซึ่งเป็นการแสดงถึงรักแท้ที่มีต่อเจ้าน้อยพรหมนั่นเอง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
อ้างอิงข้อมูลจาก : หนานอินทร์แปง และเว็บไซต์ www.hugchiangkham.com
รูปภาพจาก : board.postjung.com และ th.wikipedia.org

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น