ตำนานนางสีดาฆ่านกหัสลิงค์

ชาวอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช ซึ่งมีบรรพบุรุษสืบเชื้อสายมาจากเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน เชื่อว่าหากเจ้านายเชื้อสายอาญาสี่ คือ เจ้าเมือง อุปฮาช ราชวงศ์ ราชบุตร สิ้นลง ลูกหลานชาวเมืองจะต้องทำพิธีศพแบบนกหัสดีลิงค์ หรือออกตามสำเนียงพื้นถิ่นว่า “นกสักกะไดลิง” ตามประเพณีที่สืบทอดมากว่า ๒๒๒ ปี โดยมีพิธีกรรมสำคัญคือจะต้องเชิญ นางเทียมเจ้านางสีดามาประกอบพิธีฆ่านก

ตามตำนานพื้นถิ่นเล่าว่า นางสีดา เป็นธิดาของเจ้าเมืองตักศิลา เป็นวีรสตรีที่กล้าหาญอาสาไปปราบนกหัสดีลิงค์ที่คาบพระศพเจ้าเมืองเชียงรุ่งได้สำเร็จ จึงสร้างหอแก้วบรรจุพระศพเชิญขึ้นหลังนก แล้วเผาไปพร้อมกัน

โดยนัยตามปรัมปราคติดังกล่าว เมื่อเจ้านายอาญาสี่ สิ้นลง ท้าวนางลูกหลานจะทำเมรุนกหัสดีลิงค์ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้วายชนม์ ชักลากมาเผาที่ทุ่งศรีเมือง การทำศพแบบนักหัสดีลิงค์นั้น จำกัดเฉพาะกลุ่มเจ้านายอุบลฯ เท่านั้น ไม่อนุญาตให้สามัญชนทำศพแบบนี้ มาภายหลังเมื่อ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เสด็จมาเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ปกครองมณฑลอุบลฯ ให้ยกเลิกประเพณีการเผาศพที่กลางทุ่งศรีเมืองเสีย และทรงอนุญาตให้ทำเมรุนกหัสดีลิงค์สำหรับพระเถระชั้นผู้ใหญ่ได้ด้วย

การทำเมรุนกหัสดีลิงค์นี้ปรากฏหลักฐานทั้งที่ล้านนา และล้านช้าง แต่ที่เมืองอุบลฯ มีประเพณีเฉพาะคือ ต้องเชิญนางเทียมเจ้านางสีดามาทำพิธีฆ่านกตามจารีตเดิม โดยมีกระบวนการสำคัญ 3 ช่วง คือ การบวงสรวงก่อนไปฆ่านก โดยตัวแทนเจ้านายอาญาสี่ต้องแต่งคายหน้า มีขันห้า เงิน/ ทอง มาอัญเชิญเจ้านางสีดาไปฆ่านกฯ ช่วงต่อมาคือการแห่ไปปราบนก และขั้นตอนสุดท้ายคือ การบวงสรวงหลังจากเสร็จสิ้นพิธีการฆ่านก เรียกว่าคายหลัง หรือเรียกขั้นตอนนี้ว่า พิธีกินลาบนก ภายหลังจากการฆ่านก 3วัน

นางเทียมเจ้านางสีดาต้องเป็นผู้สืบเชื้อสายกันมาในหมู่เครือญาติ โดยนับทางฝ่ายหญิง ตามประวัติผู้เป็นนางเทียมเจ้านางสีดาที่ประกอบพิธีฆ่านกฯในเมืองอุบลฯ มีดังนี้
1.ญาแม่นางงัว ฆ่านกฯครั้งแรกปี 2324
2.ญาแม่สุกัญ ปราบภัย (บุตรีญาแม่นางงัว)
3.ญาแม่มณีจันทร์ ผ่องศิลป์ (บุตรีญาแม่สุกัญ)
4.คุณยายสมวาสนา รัศมี (บุตรีญาแม่มณีจันทร์)
5.คุณยายประทิน วันทาพงษ์ (บุตรีญาแม่มณีจันทร์, พี่สาวคุณยายสมวาสนา)
6.คุณเมทินี หวานอารมย์ (หลานคุณยายประทิน)

ถือเป็นประเพณีสำคัญอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยโดยแท้จริง
ขอขอบคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิศปัตย์ ชัยช่วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น