“ลา ลูแบร์” ผู้บันทึกเรื่องราวเมืองเหนือเมื่อ 110 ปีที่เเล้ว

อาณาจักรล้านนาเมื่อ 100 กว่าปีก่อน เป็นช่วงเดียวกับสยามที่กำลังปฏิรูปเปลี่ยนแปลงระบบราชการให้ทันสมัยตามแบบชาวตะวันตกเพื่อป้องกันการล่าอาณานิคมจากมหาอำนาจตะวันตกต่าง ๆ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดา (เนเธอร์แลนด์) เป็นต้น เมื่อสยามเห็นว่าพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษหรือเวียดนามตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ทำให้สยามต้องรับมือกับการล่าอาณานิคมแต่สุดท้ายสยามกลับเป็นแดนกันชนระหว่างอาณานิคมของฝรั่งเศสและอังกฤษ ล้านนาจึงถูกผนวกเข้ากับสยามแล้วเกิดการสำรวจพื้นที่ขึ้น โดย เริ่มแรกจะเป็นชาวต่างชาติที่เป็นผู้บันทึกข้อมูลในล้านนาเพราะว่าชาวต่างชาติมีวิธีการจดบันทึกที่เป็นระบบและยังมีเครื่องมือในการสำรวจที่ทันสมัยอีกด้วย

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” ได้นำบันทึกของชาวตะวันตกชื่อว่า “ลา ลูแบร์” ซึ่งเป็นการสำรวจเกี่ยวกับเมืองเหนือหรือล้านนา ในอดีตซึ่งจะพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ และสังคมภายในล้านนาเป็นส่วนใหญ่ บันทึกของลา ลูแบร์ ยังเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของชาวล้านนาในสมัยนั้น ๆ ซึ่งเราได้นำมาให้ท่านอ่านดังต่อไปนี้

“หัวเมืองเหนือนั้นมีเรือมากเพราะใช้เป็นพาหนะติดต่อ และบรรทุกสินค้ากับเมืองใต้ (ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง) เรือเมืองเหนือสร้างอย่างใหญ่โต และแข็งแรง ภายในแบ่งออกเป็นห้อง ๆ และกินน้ำตื้น เรือมีทั้งใช้ไม้พาย และถ่อ มีความยาวตั้งแต่หัวถึงท้ายเรือประมาณ 30 ฟุต แต่จำนวนเรือลดลง พร้อมกับการสร้างทางรถไฟ หากมีการสร้างทางรถไฟอย่างทั่วถึงกันแล้วเรือคงจะสูญหายไปอย่างแน่นอน ปัจจุบันนี้การเดินทางจากบางกอก (กรุงเทพมหานคร) ไปเมืองเชียงใหม่ใช้เวลาประมาณ 3 อาทิตย์หรือ 3 เดือนซึ่งขึ้นอยู่กับระดับน้ำ ช่วงหน้าแล้งต้องขุดสันดอนทรายกลางแม่น้ำออกเพื่อให้เรือแล่นผ่านไปได้

บันทึกเมืองเหนือของลาลูแบร์ ในหนังสือ UPPER SIAM

หัวเมืองเหนือมีความสูงเฉลี่ย 1,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล เมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นเมืองหลวงของหัวเมืองเหนือนั้นมีความสูงประมาณ 1,000 ฟุต แต่ดอยสุเทพที่ใช้เวลาเดินทางจากตัวเมืองไปประมาณ 1 ชั่วโมงนั้นมีความสูงประมาณ 5,000 ฟุต เหมาะเป็นสถานที่พักผ่อนในหน้าร้อนมาก มรสุมจะพัดพาฝนมา ส่วนเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนเมษายนนั้นจะเป็นหน้าแล้ง ฝนไม่ตก ปริมาณน้ำฝนในเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมมีประมาณ 40 นิ้ว

โดยทั่วไปหัวเมืองเหนือนั้น มีสุขอนามัยที่ดี โรคภัยไข้เจ็บที่เป็นกันประจำนั้นคือ ไข้ป่า และฝีดาษ คอพอกมีให้เห็นอยู่ทั่วไป ส่วนอหิวาตกโรคนั้นมีน้อยมาก การแพทย์สมัยใหม่ จากคณะมิชชันนารีชาวอเมริกันกำลังเป็นที่นิยม บรรดาเจ้านายได้อนุญาตให้ตั้งโรงพยาบาลเพื่อรักษาผู้ป่วยอยู่หลายแห่ง

นายแพทย์ อี. ซี. คอร์ท คณะมิชชั่นนารีจากอเมริกา

พลเมืองในหัวเมืองเหนือนั้น ส่วนใหญ่เป็นชาวลาว ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของชนชาติไทที่มีหลายกลุ่ม เวลานี้มีแต่ชาวสยามเท่านั้นที่เป็นอิสระ รับวัฒนธรรมตะวันตกมาใช้พัฒนาบ้านเมืองจนเจริญก้าวหน้า ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือมีชาวเขาเช่น มูเซอร์ และแม้วอาศัยอยู่หลายหมู่บ้าน ซึ่งอพยพมาจากประเทศจีน ในเมืองน่าน ยังมีชาวลื้อซึ่งอพยพจากสิบสองพันนาเพราะบ้านเมืองเกิดจลาจลมาสู่ดินแดนสยามเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว ชาวลื้อค้าขายเก่ง และมีสินค้าหัตถกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ หมู่บ้านของชาวลื้อนั้นงดงามเป็นระเบียบ และสะอาดสะอ้านมาก

ในเมืองน่านนั้นยังพบว่ามีชาวเย้าซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับชาวจีนอาศัยอยู่ด้วย ผู้ชายไว้ผมเปีย และใช้ผ้าสีขาวโพกศีรษะ ชุดของผู้หญิงนั้นปักลวดลายอย่างสวยงาม ชาวขมุอาศัยอยู่ทั่วไปในหัวเมืองเหนือซึ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่ของ ส่วนใหญ่พวกเขามาทำงานป่าไม้ บางคนกลับบ้านไปพร้อมความมั่งคั่ง และบางคนก็อยู่กินกับหญิงสาวชาวลาว (ล้านนา)

หญิงชาวล้านนาขณะหาบของขายในตลาด

ทางตะวันตก และตะวันตกเฉียงใต้มีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่มาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงขาว และแดง ประกอบอาชีพเพาะปลูก นอกจากนี้ ยังมีชาวไทใหญ่อาศัยอยู่ทั่วไป พวกเขามาจากรัฐฉานซึ่งอยู่ระหว่างประเทศจีน และประเทศพม่า ชาวไทใหญ่ค้าขายเก่งมาก โดยเฉพาะการค้าไม้สัก ชาวไทใหญ่นั้นมีฐานะ และมักตั้งชุมชนอยู่เป็นเอกเทศ

จำนวนประชากรในหัวเมืองเหนือของสยามมีดังนี้
เชียงใหม่ 225,000 คน
ลำพูน 45,000 คน
ลำปาง 100,000 คน
น่าน 90,000 คน
เถิน 10,000 คน
แพร่ 38,000 คน
รวม 508,000 คน

หัวเมืองเหนือส่วนใหญ่จะค้าขายกับประเทศจีน และประเทศพม่า เพราะการขนส่งสินค้ามายังบางกอก (กรุงเทพมหานคร) เสียค่าใช้จ่ายสูงมาก พวกพ่อค้าจะใช้สัตว์เช่น ลาหรือฬ่อ บรรทุกสินค้าไปขาย สินค้าหลักที่นำเข้ามาจากประเทศจีนคือ เครื่องทองเหลือง ม้า และไหม ผลวอลนัทก็นำเข้ามามากแต่หนักไม่คุ้มกับค่าขนส่ง การเดินทางค้าขายนั้นใช้เวลาประมาณ 30 วัน สินค้าที่นำเข้าจากประเทศพม่าเป็นสินค้าจิปาถะ ฝิ่น และม้า ส่วนสินค้าส่งออกของหัวเมืองเหนือนั้นได้แก่ ครั่ง เขาสัตว์ งาช้าง ขี้ผึ้ง และสินค้านำเข้าอื่น ๆ”

เครื่องทองเหลืองจากจีน

สรุป จากบันทึกของ “ลา ลูแบร์” ซึ่งถอดความจากคุณสุทธิศักดิ์ ได้ทำให้เราเห็นถึงเครื่องมือเครื่องใช้ในอดีตของคนล้านนาที่ต้องค้าขายกับส่วนกลางคือสยามโดยต้องใช้เรือล่องตามลำน้ำไปเนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของล้านนาที่มีภูเขาเป็นกำแพงธรรมชาติอีกทั้งเทคโนโลยียังไม่เจริญเท่าปัจจุบันการขนส่งจึงใช้เวลานาน แต่รถไฟในสมัยนั้นถือว่าเป็นการขนส่งที่เร็วทำให้การขนส่งทางน้ำหายไป นอกจากนั้นยังได้พูดถึงลักษณะสังคมของชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในล้านนา รวมถึงยังมีการสำรวจจำนวนประชากรในล้านนาตามหัวเมืองสำคัญต่าง ๆ สุดท้ายลาลูแบร์ ก็ได้พูดถึงสินค้านำเข้าและส่งออกของล้านนาโดยสรุปว่าล้านนาในอดีตจะค้าขายกับจีนและพม่าเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากติดต่อกันได้ง่าย แต่กลับกันการค้าขายกับสยามยากลำบากและระยะเวลาขนส่งนาน แต่เมื่อรถไฟเข้ามาถึงเชียงใหม่การขนส่งทางรถไฟนิยมใช้เป็นหลักการขนส่งทางเรือก็หายไป การค้าขายกับจีนและพม่าก็หายไป เนื่องจากอุดมการณ์ “รัฐชาติ” เข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วนั่นเอง

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ถอดความโดย : สุทธิศักดิ์
อ้างอิงข้อมูลจาก : The kingdom of Siam : A General description of Siam A. C. Carter Published 1904 และเว็บไซต์ www.hugchiangkham.com
รูปภาพจาก : เพจ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา, www.mccormick.in.th, ทัวร์เซี่ยงไฮ้ราคาถูก.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น