กว่าจะเป๋นเจียงใหม่ ตอนที่ 1 กำเนิดนพบุรีศรีนครพิงค์

พญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งเมืองเชียงใหม่และอาณาจักรล้านนา

“พญามังราย” ราชโอรสของ “พระเจ้าลาวเมง” แห่งราชวงศ์ลวจักราช ผู้ครองหิรัญนครเงินยาง กับ “พระนางอั้วมิ่งจอมเมือง” ราชธิดาของท้าวรุ่งแก่นชายเจ้าเมืองเชียงรุ้ง พระองค์ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ แรม 9 ค่ำ เดือนอ้าย (ธันวาคม) ปีกุน เอกศกจุลศักราช 601 ซึ่งตรงกับพุทธศักราช 1781 เมื่อมีพระชนม์ได้ 16 พรรษา พระบิดาได้สู่ขอธิดาเจ้าเมืองเชียงลาบมาเป็นคู่อภิเษก แล้วโปรดให้มังรายเป็นมหาอุปราช เมื่อพระเจ้าลาวเม็งสวรรคตในปี พ.ศ. 1802 มังรายราชโอรสจึงได้ครองเมืองหิรัญนครเงินยาง (อ.เชียงแสนในปัจจุบัน) สืบแทน ในขณะที่มีพระชนม์ 21 พรรษา

ในขณะนั้น เมืองเล็กเมืองน้อยต่าง ๆ ในแคว้นล้านนาเกิดแตกความสามัคคี พญามังรายจึงมีพระดำริที่จะรวบรวมเมืองใหญ่น้อยทั้งหลายเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกัน ดังนั้นจึงมีพระราชสาสน์ไปยังเมืองต่าง ๆ ที่ตั้งตัวเป็นอิสระให้ยอมสวามิภักดิ์ หากเมืองใดแข็งข้อก็จะส่งกองทัพไปปราบ

เมื่อรวบรวมหัวเมืองฝ่ายเหนือได้แล้ว ก็คิดจะยกทัพไปปราบหัวเมืองฝ่ายใต้ต่อไป ในปี พ.ศ. 1805 ขณะยกทัพไปถึง “เมืองลาวกู่เต้า” และประทับอยู่ที่นั่น เมื่อเดินทางถึงดอยจอมทองริมฝั่งแม่น้ำกก ก็ทอดพระเนตรเห็นภูมิประเทศเป็นชัยภูมิที่ดี จึงสร้างพระนครขึ้น โดยก่อกำแพงโอบรอบ เอาดอยจอมทองไว้ภายใน ขนานนามว่า “เมืองเชียงราย” แล้วย้ายราชธานีจากเมืองหิรัญนครเงินยาง มาตั้งอยู่ที่เชียงรายนับแต่นั้นมา

ในปี พ.ศ. 1819 พญามังรายได้ยกกองทัพไปประชิดเมืองพะเยา “พญางำเมือง” ผู้ครองเมืองพะเยาออกมารับเสด็จด้วยไมตรี และยกตำบลบ้านปากน้ำให้แก่พ่อขุนเม็งรายแล้วปฏิญาณเป็นมิตรกัน ต่อมาราว 4 ปี “พ่อขุนรามคำแหงมหาราช” แห่งอาณาจักรสุโขทัย “พญางำเมือง” และ “พญามังราย” ได้กระทำสัตย์ปฏิญาณเป็นพระสหายกัน

3 กษัตริย์ผู้สร้างเชียงใหม่ พญางำเมือง, พญามังราย, พญาร่วง

และในปี พ.ศ. 1834 พญามังรายเสด็จไปสร้างเมืองใหม่ที่เชิงดอยสุเทพ ใช้เวลาสร้างนาน 5 ปี สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 1839 ทั้งสามพระองค์ จึงเสด็จสถาปนานครแห่งนี้ว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 1839 เวลาประมาณ 04.00 น. ถือเป็นกาลกำเนิดเมือง ครั้นสร้างเชียงใหม่แล้ว พญามังรายก็ได้ควบคุมเมืองบริวารต่าง ๆ ไว้ในการปกครอง ทรงมีพระโอรสชื่อ “ขุนคราม” (พญาไชยสงคราม) ช่วยสนับสนุนการปกครองของพระองค์

พญามังรายได้ย้ายเมืองหลวงจากเวียงกุมกามมาสถาปนาเมืองใหม่แห่งนี้ ให้เป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรล้านนา มีอำนาจเหนือดินแดนลุ่มแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำกก ถึงแม่น้ำโขงตอนกลางจนถึงหัวเมืองไทยใหญ่ (เงี้ยว) 11 หัวเมืองลุ่มแม่น้ำสาละวิน

ด้านทิศเหนือ ไปถึงแคว้นสิบสองพันนา

ด้านทิศใต้ ต่อเนื่องไปถึงเขตอาณาจักรสุโขทัย

ด้านตะวันออก จรดเขตอาณาจักรล้านช้าง

ด้านตะวันตก จรดฝั่งแม่น้ำสาละวิน

ในขณะที่พญามังรายครองราชย์ ราษฎรก็มีความผาสุข และได้ประกอบอาชีพด้วยวิธีการต่าง ๆ โดยสร้างตลาด และสะพานข้ามน้ำปิงที่เวียงกุมกาม สร้างเหมืองแก้วในเขตอำเภอแม่ริมเชียงใหม่ จัดสร้างแนวกั้นน้ำขนาดใหญ่มิให้น้ำเข้าท่วมเวียงกุมกามยาวถึง 30 กิโลเมตร

ในปี พ.ศ.1858 และ 1868 เชียงใหม่ได้ส่งทูตไปเมืองจีน และต่อมาก็ยังส่งทูตไปอีก 4 ครั้ง อาณาจักรล้านนาจึงเจริญรุ่งเรืองทั้งทางด้านการเมือง การปกครอง ศิลปะ และวัฒนธรรม เป็นที่ยอมรับของอาณาจักรข้างเคียง

พญามังรายทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาโดยการสร้างพระเจดีย์กู่คำที่เวียงกุมกาม ครั้นสร้างเมืองเชียงใหม่แล้วก็โปรดให้สร้าง “วัดเชียงมั่น” และสร้างเจดีย์ ณ บริเวณที่ประทับของพระองค์

ในปี พ.ศ. 1860 ขณะมีพระชนมายุ 80 พรรษา พญามังรายสิ้นพระชนม์โดยต้องอสุนีบาต ขณะทรงช้างไปตรวจตลาดกลางเมืองเชียงใหม่ หลังจากนั้นพญาไชยสงครามผู้เป็นพระโอรสได้จัดพิธีปลงพระศพ แล้วสร้างสถูปบรรจุอัฐิของพระบิดาไว้ที่ตลาดกลางเมือง ปลูกต้นโพธิ์ไว้ที่สถูปนั้น สร้างรั้วล้อม และได้สร้างกู่บรรจุอัฐิของพระราชบิดาไว้ ณ ดอยงำเมือง

พญาแสนภู ราชโอรสของพญามังราย

หลังจาก “พญามังราย” ได้มอบราชสมบัติให้ “พระเจ้าแสนภู” ราชโอรสให้ขึ้นครองนครเชียงใหม่แล้ว พระองค์ได้นำอัฐิพระราชบิดามาประทับอยู่ที่เมืองเชียงราย

“พญาไชยสงคราม” ได้เสวยราชย์สืบสันตติวงศ์เป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรล้านนา สืบต่อจาก “พญามังรายมหาราช” ในปี พุทธศักราช 1860 ขณะขึ้นเสวยราชย์พระองค์มีพระชนมายุได้ 55 ปี พญาไชยสงครามนับเป็นปิยราชโอรส เพราะทรงเป็นเสมือนพระพาหาเบื้องขวาของพญามังรายมหาราชพระราชบิดา ในการสถาปนาอาณาจักรล้านนาขึ้น หลังจากที่ทรงมีชัยชนะต่อ “พญาเบิก” เจ้าผู้ครองนครหริภุญชัย ในการรบครั้งใหญ่เมื่อปีพุทธศักราช 1839 และโปรดประทานเมืองเชียงดาวให้เป็นบำเหน็จรางวัลอีกด้วย

เมื่อพญาไชยสงครามได้ขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว ก็ทรงจัดการบ้านเมืองในเมืองเชียงใหม่ได้ 4 เดือน พระองค์ไม่โปรดที่จะประทับอยู่ ณ เมืองเชียงใหม่ จึงได้สถาปนาให้ “เจ้าท้าวแสนภู” พระราชบุตรองค์โตขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ ทำให้ในยุคนี้เมืองเชียงใหม่ได้ลดฐานะเป็นเพียงเมืองลูกหลวง พระเจ้าไชยสงครามองค์พระประมุขทรงย้ายราชธานีไปอยู่ที่เมืองเชียงราย และทรงแต่งตั้งให้ “เจ้าท้าวน้ำท่วม” พระราชบุตรองค์กลางไปครองเมืองฝาง ให้พระราชบุตรองค์เล็กคือ “เจ้าท้าวงั่ว” ไปครองเมืองเชียงของ

ฝ่ายเจ้าท้าวแสนภูได้ครองเมืองเชียงใหม่ได้ 1 ปี “เจ้าขุนเครือ” พระอนุชาของพญาไชยสงครามซึ่งครองเมืองนายอยู่นั้น ได้ทราบว่าพระราชบิดาสวรรคตแล้ว การที่เจ้าขุนเครือทรงทราบข่าวช้า ก็เพราะพญาไชยสงครามไม่โปรดในพระอนุชาองค์นี้ เพราะทรงก่อเรื่องร้ายแรงไว้หลายประการ เช่น ลอบทำชู้กับมเหสีของพญาไชยสงคราม ซึ่งยังความกริ้วให้แก่พระองค์เป็นอันมาก จึงไม่ยอมแจ้งข่าวให้พระอนุชาทรงทราบถึงการสวรรคตของพระราชบิดา

และเมื่อเจ้าขุนเครือทรงทราบ ก็ทรงดำริที่จะยกไพร่พลชาวไทยใหญ่มาตั้งทัพทำทีว่าจะเข้ามาทำการเคารพพระราชศพบิดา เมื่อตั้งทัพเสร็จแล้วเจ้าขุนเครือก็ยกเข้ามายังตลาดเมืองเชียงใหม่

ด้านฝ่าย “เจ้าท้าวแสนภู” นั้น เมื่อทรงทราบว่าเจ้าขุนเครือผู้อาได้ยกกองทัพเข้ามา ก็ให้จัดแต่งการป้องกันบ้านเมืองไว้อย่างแข็งแรง ฝ่ายเจ้าขุนเครือเมื่อส่งราชสาส์นถึงเจ้าแสนภูแล้ว ก็ถอยทัพไปตั้งอยู่ที่ “ประตูเชียงใหม่” และ “ประตูสวนดอก” (เวลานั้น ตลาดอยู่ข้างวัดพระสิงห์ปัจจุบัน) เจ้าขุนเครือตั้งทัพคอยทีอยู่ เพื่อจะเข้าจับกุมเอาตัวเจ้าแสนภูผู้หลานในขณะที่เจ้าแสนภูออกไปชมตลาดในตอนเช้า

แต่เจ้าแสนภูทรงไหวตัวทันก็ทรงอพยพครัวหนีออกจากเชียงใหม่ไปทาง “ประตูหัวเวียง” คือ “ประตูช้างเผือก” (เวลานั้นยังไม่เรียกว่าประตูช้างเผือก ชื่อประตูช้างเผือกนี้เพิ่งมาเรียกในสมัยหลังในรัชกาลของพระเจ้าแสนเมืองมา) เจ้าแสนภูพาครอบครัวหนีไปหา “เจ้าท้าวน้ำท่วม” อนุชาซึ่งครองเมืองฝาง พ่อท้าวน้ำท่วมก็จัดแต่งผู้คนออกไปส่งเจ้าแสนภูเชษฐาและครอบครัวถึงเมืองเชียงราย เจ้าแสนภูจึงนำความกราบบังคมทูลพญาไชยสงครามพระราชบิดาให้ทรงทราบทุกประการ พญาไชยสงครามทราบก็ทรงพระพิโรธพระอนุชาเป็นอันมาก ทรงมีพระราชดำรัสต่อหน้าบรรดามุขมนตรีทั้งหลายว่า ขุนเครือนี้ได้กระทำความผิดอย่างร้ายแรงถึง 3 ประการ

“ประการที่ 1 ลอบทำมิจฉาจารต่อภริยาของกูที่เมืองเชียงดาว
ประการที่ 2 แย่งชิงเอาเมืองเชียงดาวที่พระราชบิดาประทานให้แก่กู
ประการที่ 3 บังอาจยกไพร่พลมาแย่งชิงเมืองเชียงใหม่จากลูกของกูอีก ฉะนั้นกูจะยกไปปราบมันเสียให้จงได้”

ทรงมีพระราชดำรัสดังนั้นแล้ว ก็โปรดให้จัดแต่งกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ในเดือน 7 (เมษายน) ขึ้น 1 ค่ำ ปีวอก ตรงกับพุทธศักราช 1862 โปรดให้เจ้าท้าวน้ำท่วมราชบุตรองค์ที่ 2 เป็นทัพหน้ายกไปยังเมืองเชียงใหม่ก่อน เจ้าท้าวน้ำท่วมยกไปถึงเมืองเชียงใหม่ในเวลาใกล้รุ่งตั้งทัพอยู่ที่ตำบลทุ่งแสนตอ เจ้าท้าวน้ำท่วมจึงจัดแต่งกลศึกอันมีชื่อว่า “ราชปัญญา” คือ แต่งคนเอาเครื่องศึกใส่หาบดังประหนึ่งมาเข้าเวรยาม

พวกไพร่พลที่ปลอมตัวไปนั้น ก็เข้าไปประจำอยู่ทุกประตูเมือง แล้วพระองค์จัดแต่งทหารอีกกองหนึ่ง ยกเรียงรายกันล้อมตัวเมือง ครั้นได้ยามดี เจ้าท้าวน้ำท่วมกับทหารร่วมพระทัย ก็ลอบยกเข้าไปถึงประตูเมือง ไพร่พลที่ปลอมเข้าไปก็เปิดประตูเมืองออกรับกองทัพของเจ้าท้าวน้ำท่วมเข้าเมืองได้ แล้วไพร่พลทั้งหลายก็พากันโห่ร้องยิงปืนตีฆ้องกลองอย่างสนั่นหวั่นไหว ชาวเมืองทั้งหลายของเจ้าท้าวน้ำท่วมจึงไล่ฆ่าฟันไพร่พลของเจ้าขุนเครือล้มตายลงเป็นอันมาก

ข้างฝ่ายเจ้าขุนเครือนั้นเสพสุรามึนเมานอนหลับอยู่ในหอคำ นายประตูที่เฝ้ารั้งคุ้มหลวงอยู่เห็นไพร่พลของเจ้าท้าวน้ำท่วมบุกเข้ามาเช่นนั้นก็รีบเข้าไปปลุกร้องว่า  

“กองทัพเจ้าท้าวน้ำท่วมผู้หลานเจ้า ตนครองเมืองฝางนั้น ยกเข้าเมืองได้แล้ว และกำลังยกเข้ามายังคุ้มหลวง ขอเจ้าเร่งรีบหนีเอาตัวรอดเถิด”

สิ้นเสียงแล้วนายประตูก็รีบหนีเอาตัวรอดไป ทางฝ่ายเจ้าขุนเครือได้ยินดังนั้นก็ตกพระทัยเป็นอันมาก รีบลุกขึ้นจากที่บรรทมวิ่งไปตีกลองสัญญาณเรียกไพร่พลแต่หามีผู้ใดมาไม่ เพราะหนีศึกไปก่อนแล้ว ไพร่พลของเจ้าท้าวน้ำท่วมเข้าไปก็จับกุมเอาตัวเจ้าขุนเครือนำไปถวายเจ้าท้าวน้ำท่วมโดยง่าย และควบคุมตัวไว้เพื่อรอให้พญาไชยสงครามพระราชบิดาทรงพิจารณาโทษด้วยพระองค์เอง

เมื่อเจ้าท้าวน้ำท่วมจัดการบ้านเมืองจนเข้าสู่ความสงบ ก็ส่งข่าวไปกราบทูลให้พระราชบิดา ณ เมืองเชียงรายให้ทรงทราบ พญาไชยสงครามทรงยินดีเป็นที่ยิ่ง ทรงตรัสชมเชยพระราชบุตรองค์ที่ 2 ว่าแกล้วกล้าในการสงครามสมควรที่จะได้ครองเมืองเชียงใหม่แทนเจ้าแสนภูต่อไป และทำพิธีปราบดาภิเษกให้เจ้าท้าวน้ำท่วมเป็นพญาครองเมืองเชียงใหม่ในเวลาต่อมา

เมื่อ “เจ้าท้าวน้ำท่วม” ได้ครองบัลลังก์เมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 1865 ทรงมีพระชนมายุได้ 30 ชันษา ส่วนเจ้าขุนเครืออนุชานั้นทรงมีพระเมตตาอยู่เพราะเป็นเชื้อพระวงศ์เดียวกัน และยังเป็นอนุชาองค์เดียว จึงไม่ลงพระอาญาฆ่าฟัน เพียงแต่ให้จำขังไว้ ณ ที่มุมเมืองทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ เจ้าขุนเครือถูกคุมขังอยู่ได้ 4 ปีก็พิราลัย

หลังจากเจ้าท้าวน้ำท่วมครองเมืองเชียงใหม่ได้ 2 ปี ในพ.ศ. 1867 มีผู้ไปกราบทูลพญาไชยสงครามว่า เจ้าท้าวน้ำท่วมคิดกบฏ พญาไชยสงครามจึงโปรดให้เจ้าท้าวงั่วราชบุตรองค์เล็กมาคุมตัวเจ้าท้าวน้ำท่วมไปยังเมืองเชียงราย ทรงไต่สวนทวนความดูก็ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าพระราชบุตรองค์ที่ 2 คิดทรยศ จึงโปรดให้ไปครองเมืองเชียงตุง และโปรดให้อภิเษกเจ้าแสนภูราชบุตรองค์โตเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่เป็นครั้งที่ 2 ครั้นเสร็จจากพิธีอภิเษกเจ้าแสนภูแล้ว ก็เสด็จกลับคืนไปยังเมืองเชียงราย สถิตสำราญอยู่ได้ 2 ปี ก็ทรงพระประชวรสวรรคต สิริรวมพระชนมายุได้ 72 ชันษา

“เจ้าแสนภู” ราชบุตรองค์โตได้เถลิงราชสมบัติสืบต่อมา และได้ทรงไปบูรณะเมืองเชียงแสนซึ่งเป็นเมืองร้างอยู่นั้น พญาแสนภูสวรรคตที่เมืองเชียงแสนหลังจากเสวยราชย์เพียงแค่ 9 ปีเท่านั้น ก็ทรงสวรรคตเมื่อ พ.ศ.1877 จึงทำให้ “ท้าวคำฟู” พระราชโอรสที่มีสถานะเป็นอุปราชได้ขึ้นครองราชย์ต่อเป็นพญาคำฟูกษัตริย์แห่งล้านนาองค์ต่อไป

พญาคำฟู กษัตริย์ลำดับที่ 4 แห่งอาณาจักรล้านนา

หลังจากที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 1877 แล้วพระองค์ก็เริ่มวางรากฐานของอาณาจักรแล้วแผ่อิทธิพลของล้านนาไปทั่วทุกสารทิศ พระองค์มีพระราชดำริที่จะยึดพะเยามาเป็นส่วนหนึ่งของล้านนา “พญาคำฟู” จึงชักชวน “พญากาว” แห่งเมืองน่านให้ช่วยยกทัพตีเมืองพะเยา แต่เมื่อพญาคำฟูเข้าเมืองพะเยา และตีเมืองสำเร็จ ก็เอาทรัพย์สินในเมืองทั้งไปทั้งหมด ทำให้พญากาวไม่ได้รับส่วนแบ่งใด ๆ เลย จึงยกทัพมาตีพญาคำฟูจนเสียทีก็เลยยกทัพกลับเชียงแสน กองทัพพญากาวเมืองน่านตามไปจนสามารถตีเมืองฝางได้  แต่จากนั้นไม่นานพญาคำฟูก็ยกทัพใหญ่มา ทำให้พญากาวถอยกลับเมืองน่าน เป็นอันยุติสงครามครั้งนี้ ซึ่งหลังจากการที่ล้านนายึดพะเยาได้แล้วก็พยายามเข้าไปยึดต่อถึงเมืองแพร่แต่ไม่สำเร็จ

ระหว่าง พ.ศ.1877-1879 พญาคำฟูได้พัฒนา ปกครองนครเชียงใหม่ให้เกิดความผาสุก ร่มเย็น ในรัชสมัยของพระองค์แม้จะเป็นเวลาเพียง 2 ปี แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่เชียงใหม่มีความเจริญรุ่งเรือง สงบสุข ไม่มีศึกสงคราม ในยุคสมัยของพญาคำฟูนี้พระองค์ทรงร่วมมือกับพญาผานองเจ้าเมืองปัวเข้าปล้นเมืองพะเยาได้ และสามารถที่จะผนวกเอารัฐพะเยาที่เป็นอิสระอยู่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของล้านนาได้ หลังจากพญาคำฟูเสด็จสวรรคต พระราชโอรสในพญาคำฟูขึ้นครองราชย์ต่อ มีพระนามว่า “พญาผายู”

พญาผายู กษัตริย์ลำดับที่ 5 แห่งราชวงศ์ล้านนา

“พญาผายู” ปกครองล้านนาในช่วงปี พ.ศ. 1879 – 1898 รวมการครองราชย์ 19 ปี ทรงเป็นพระราชโอรสในพญาคำฟู พระนามว่า เจ้าตายุ ทรงสืบราชบัลลังจากพญาคำฟูซึ่งเป็นพระราชบิดา ภายหลังพญาคำฟู เสด็จสวรรคต ตามตำนานสิบห้าราชวงศ์ได้กล่าวถึงการขึ้นครองราชย์ของพญาผายูไว้ว่า

“เมื่อนั้นเจ้าพ่อท้าวผายูอายุได้ 28 ปี เสนาอำมาตย์ทังหลาย ก็หื้ออภิเษกหื้อเป็นพญาในเมืองเชียงใหม่ ในปีดับเล้า ศักราชได้ 707 ตัว”

เมื่อทรงครองราชย์แล้ว พระองค์ทรงย้ายราชธานีจากนครเชียงแสนที่พระราชบิดาย้ายไป กลับมายังนครเชียงใหม่อีกครั้ง พญาผายูทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงอยู่ในทศพิธราชธรรม บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข พุทธศาสนารุ่งเรือง จนเสด็จสวรรคต พ.ศ. 1898 เมื่อพระชนมายุได้ 57 พรรษา ซึ่งในยุคหลังจากพญาผายูนั้น ถือได้ว่าอาณาจักรล้านนาได้เข้าสู่ความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น โดยการสนับสนุนอุปถัมภ์ศาสนาพุทธ ในสมัยรัชกาลของ “พญาธรรมิกราช” หรือ “พญากือนา” ซึ่งเรื่องราวต่อไปนี้จะเป็นอย่างไร เราจะกล่าวเล่าอ้างต่อในบทความที่จะนำมาให้ท่านผู้อ่านได้ติดตามต่อไปในครั้งหน้า โปรดติดตาม

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
อ้างอิงข้อมูลจาก : www.oocities.org, www.chiangmai.smileplaza.net, www.chiangraifocus.com, saihistory.blogspot.com, www.hugchiangkham.com, th.wikipedia.org
รูปภาพจาก: www.chiangraifocus.com, www.addsiam.com, www.tripchiangmai.com, www.hugchiangkham.com, oknation.nationtv.tv

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น