หูตึง! ถ้าใช้ผิดวิธี รู้ทันอันตราย จากการใช้หูฟังแบบผิด ๆ

ในปัจจุบัน จะสังเกตเห็นได้ว่าผู้คนส่วนใหญ่มักจะใช้ “หูฟัง” กับโทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องเล่นต่าง ๆ ในสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างการเดินทาง ระหว่างทำงาน ระหว่างออกกำลังกาย หรือระหว่างทำกิจกรรมยามว่างต่าง ๆ เพราะถือได้ว่าการฟังเพลงผ่านหูฟังเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คนสมัยนี้ขาดไม่ได้ แต่ถ้าหากมีการใช้หูฟังอย่างไม่ระมัดระวัง หรือแม้แต่การใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้คุณกลายเป็นคน “หูตึง” ได้อย่างไม่ทันตั้งตัว

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมาบอกถึงอันตรายจากการใช้หูฟังที่ผิดวิธี ให้ทุกคนได้ทราบกันค่ะ

ทำความรู้จักกับหูฟัง

หูฟัง เป็นอุปกรณ์ยอดฮิตที่หลายคนพกพาติดตัวตลอดเวลา เพราะช่วยให้ฟังเสียง และดื่มด่ำกับความบันเทิงตรงหน้าได้โดยไม่รบกวนผู้อื่น ซึ่งหูฟังที่วางขายตามท้องตลาดทั่วไปนั้น มีให้เราเลือกอยู่มากมายหลายแบบ ตามลักษณะการใช้งาน และการสวมใส่ไม่ว่าจะเป็น แบบสอดเข้าในหู (In-Ear) แบบครอบหู (Around-Ears) และแบบสวมแนบพอดีหู (On-Ear) แต่แบบที่กำลังเป็นที่นิยมมากที่สุดในกลุ่มผู้ใช้งานนั่นก็คือหูฟังแบบ In-Ear เพราะได้ยินเสียงดัง ชัดเจน เสียงภายนอกแทรกเข้าไปยาก แต่จะมีผลกระทบต่อประสาทการได้ยินมากกว่าการใช้หูฟังชนิดอื่น เนื่องจากตัวลำโพงหูฟัง อยู่ใกล้กับประสาทรับเสียงในหูมากที่สุด ซึ่งหากฟังเสียงดังมากเกินกว่าระดับเสียงปกติที่คนเรารับได้ จะมีผลต่อระบบประสาทหูโดยตรง จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการ หูอื้อ หูตึง หรือหูหนวกได้

หูฟังแบบสอดเข้าในหู (In-Ear)

อันตรายจากหูฟังเกิดขึ้นได้อย่างไร?

อันตรายที่เกิดจากหูฟังนั้น เกิดจากการฟังในระดับเสียงที่ดังเกินไปติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ จะส่งผลกระทบต่อระบบโสตประสาท ซึ่งอาการหูตึง และหูอื้อจะค่อย ๆ เกิดขึ้นโดยการรับฟังเสียง จะเริ่มได้ยินเสียงไม่ชัด หรือเสียงไม่ดัง มีเสียงก้องในหู ทำให้ต้องเร่งความดังขึ้นอีก และทำให้เกิดอาการหูหนวกถาวรได้ นอกจากจะทำให้หูตึง หูหนวกแล้ว ยังมีอันตรายอีกหลายอย่าง ที่เกิดขึ้นจากการฟังเสียงดัง ๆ นาน ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นไม่ปกติ ซึ่งอาการอาจจะไม่เกิดขึ้นในทันที แต่จะค่อย ๆ เกิด ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นเดือนจนถึงเป็นปี นอกจากนี้ หูฟังที่ใช้ฟังเพลง ยังเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อโรค ซึ่งจะทำให้เป็นโรคหนองในหู และการอักเสบในช่องหูได้

สัญญาณอันตรายเริ่มบอกอาการผิดปกติของประสาทหู

การได้ยินเสียงวิ้ง ๆ ในหู เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า ระดับเสียงที่กำลังใช้เกินกว่าระดับที่หูจะรับได้ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนของอาการหูตึง และหูหนวกที่จะตามมา ถึงแม้ว่าถอดหูฟังแล้วแต่ยังได้ยิน แสดงว่าเซลล์ประสาทได้รับการกระทบกระเทือนจากเสียง ซึ่งสังเกตได้จากอาการเหล่านี้

  1. ได้ยินเสียงวิ้ง ๆ ในหู ทั้งที่ไม่ได้เปิดเพลง หรือใช้หูฟัง
  2. มีอาการมึนงง หรือยืนทรงตัวไม่ได้เมื่อตื่นนอน
  3. เริ่มได้ยินเสียงไม่ชัด หูอื้อ จนทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสาร
  4. มีเสียงสั่นหึ่ง ๆ หรือเสียงอู้อี้ในหูข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง
  5. ปวดในช่องหูเมื่อได้ยินเสียงดัง

ใช้หูฟังอย่างไรให้ปลอดภัย?

โดยทั่วไป การใช้หูฟังนั้นจะปลอดภัย และไม่เป็นอันตราย หากไม่ฟังเสียงที่ดัง หรือนานจนเกินไป เพราะจะส่งผลให้ประสาทหูเสื่อม อย่างไรก็ตาม ภาวะดังกล่าวสามารถป้องกันได้ด้วยการใช้หูฟังอย่างถูกวิธี

  1. หลีกเลี่ยงการใช้หูฟังในที่ ๆ มีเสียงดัง และฟังในระดับเสียงที่ไม่ควรเกิน 50% ของระดับเสียงสูงสุด ไม่ควรฟังต่อเนื่องเกิน 2 ชั่วโมง
  2. ไม่ควรเสียบหูฟังฟังเพลงตลอดเวลา แม้เวลาเข้านอน ควรฟังเฉพาะในช่วงเวลาที่ต้องการ หรือฟังเป็นบางช่วง จะได้ลดอัตราเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพหู
  3. หลีกเลี่ยงการใช้หูฟังร่วมกับผู้อื่นเพราะอาจจะทำให้ติดเชื้อโรคได้
  4. หมั่นทำความสะอาดหูฟัง เปลี่ยนฟองน้ำที่ใช้รองหูฟังบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการสะสมของฝุ่น และเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น หนองในหู หรือการอักเสบในช่องหู

สรุป
อย่างที่ทราบกันไปแล้วว่า “หูฟัง” นอกจากจะให้ความบันเทิงแล้ว ยังมีผลต่อประสาทการได้ยิน ถึงขั้นเสี่ยงต่อความพิการได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากใช้ให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอดี และถูกวิธี ทั้งระดับเสียง และระยะเวลา ก็จะช่วยป้องกันการเกิดอันตรายได้ และเพื่อเป็นการถนอมสุขภาพหู รวมไปถึงถนอมสุขภาพของตัวเองไปด้วย แต่ในทางที่ดี ควรหมั่นสังเกตตัวเองเป็นประจำ หากหูมีอาการผิดปกติให้รีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
อ้างอิงข้อมูลจาก : ops.go.th, pobpad.com, classified69.wordpress.com
ภาพจาก : pixabay.com, freepik.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

หูอื้อ ทำหูหนวกได้

ตึกๆตักๆ!!! ไม่ใช่ความเขิน อาจเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ร่วมแสดงความคิดเห็น