เสริมสิริมงคลสักการะ 3 ศาลเจ้าจีนในเมืองเชียงใหม่

ศาลเจ้า คือ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อุทิศให้แก่บุคคลสำคัญทางศาสนา บรรพบุรุษ วีรบุรุษ มรณสักขี นักบุญ หรือบุคคลที่มีความสำคัญหรือเป็นที่นับถือผู้เป็นที่สักการะ ในศาลมักจะประกอบด้วยรูปเคารพ วัตถุมงคล หรือสิ่งของต่างๆ ศาลเจ้า เป็นสัญลักษณ์สำคัญของชุมชนชาวจีนในเมืองเชียงใหม่ ภายในบริเวณศาลเจ้าประดับตกแต่งด้วยปูนปั้นและจิตรกรรมแบบจีนอันวิจิตรสวยงามและอ่อนช้อย เคารพกราบไหว้และสักการะ แก้ชง รวมถึงทำกิจกรรมอื่นอีกด้วย

ศาลเจ้าปุงเถ้ากง

ปุนเถ้ากง ในภาษาแต้จิ๋วนั้นหมายถึง “ชุมชนดั้งเดิม” ดังนั้น เล่าปุนเถ้ากง จึงหมายถึง “เทพเจ้าที่คุ้มครองรักษาชุมชนดั้งเดิม หรือ ก็คือเจ้าที่ของท้องถิ่นนั้นๆ

ศาลเจ้าปุงเถ้ากง ตั้งอยู่ 90 ถนน วิชยานนท์ ตำบล ช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50300 เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่มีอายุมากกว่า 136 ปี สร้างขึ้นจากแรงศรัทธาของเหล่า บรรพชนชาวจีนโพ้นทะเล มีสถาปัตยกรรมเป็นศิลปะจีนโบราณ โดยอาคารหลังเดิมสร้างขึ้นในสมัย พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และได้พบตัวเลข 2416 สลักอยู่บนไม้อกไก่ของหลังคา ซึ่งเชื่อว่าเป็นปีที่ก่อสร้าง

ดินที่ตั้งของอาคารศาลเจ้านั้น เดิมเป็นที่ดินวัดร้าง ทางศาลเจ้าได้ขอทำสัญญาเช่าที่ดินจากสำนักพระพุทธศาสนา จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาในปี 2479 ศาลเจ้าได้ขึ้นทะเบียนอยู่ในการกำกับดูแลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

จากอาคารหลังเดิมมีสภาพหลังคาเตี้ย คับแคบและชำรุดทรุดโทรมมาก ทางคณะกรรมการและสมาชิกได้พิจารณาจึงดำริที่ จะให้มีการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นทดแทนอาคารหลังเก่า ที่เสื่อมโทรมจนยาก ที่จะบูรณะได้ ดังนั้นในปี พ.ศ. 2539 ตรงกับปีกาญจนาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมพลอดุลยเดช ทรงครองราชย์ครบ 50 พรรษา ตรงกับวาระสมโภช 700 ปี นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่คณะกรรมการและสมาชิกจึงได้จัดให้มีการวางศิลาฤกษ์และได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารศาลเจ้าหลังใหม่ จนเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ 2541
ภายในศาลนอกจากองค์ปุงเถ่ากง-ม่า (เจ้าปู่ เจ้าย่า) แล้วยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันได้แก่เทพเจ้าที่ชาวจีนให้ความเคารพนับถืออีกหลายองค์คือ ทีตี่แป่บ้อ (เทพยดาฟ้าดิน) กวนอิมเนี่ยเนี้ย (เจ้าแม่กวนอิม) ไช้ซิ้งเหล่าเอี้ย (เทพเจ้าโชคลาภ) ฮั่วท้อเซียนซือ (เทพเจ้าโอสถ) เฮี้ยงเทียนเซียงตี่ หรือตั้วเล่าเอี้ย (เจ้าพ่อเสือ) เล้งซิ้ง (เจ้ามังกร) โฮ้วเอี้ย (เจ้าพยัคฆ์) ตี่จู้ (เจ้าที่) หมึงซิ้ง (เจ้ารักษาประตู) จึงได้มีการทำพิธีทางศาสนาเบิกเนตร (ไคกวง) และอัญเชิญเจ้าสู่ที่ประทับ (เซ่งเต่ย) เทพเจ้ากวนอู ฮกลกซิ่ว แปดเซียนสิบแปดอรหันต์ ฯลฯ

ความภาคภูมิใจของพี่น้องชาวเชียงใหม่ ที่ได้ร่วมกันสร้างปูชนียสถานสำคัญอันเป็นศุนย์รวมใจ สืบต่อจากเหล่า บรรพชนชาวจีนโพ้นทะเลจากรุ่นสู่รุ่นไว้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่น ศาลเจ้าปุงเถ่ากงเชียงใหม่

ศาลเจ้ากวนอู (บูเบี้ย)

กวนอู เป็นตัวละครในวรรณกรรมจีนอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กที่มีตัวตนจริงใน เป็นชาวอำเภอไก่เหลียง ลักษณะตามคำบรรยายในวรรณกรรมสามก๊ก กวนอูเป็นผู้มีรูปร่างสูงใหญ่ 9 ฟุตจีนหรือประมาณ 6 ศอก ใบหน้าแดงเหมือนผลพุทราสุก นัยน์ตายาวรี คิ้วดั่งหนอนไหม หนวดเครางามถึงอก มีง้าวรูปจันทร์เสี้ยว ยาว 11 ศอก หนัก 82 ชั่ง เป็นอาวุธประจำกายเรียกว่า “ง้าวมังกรเขียว” หรือ “ง้าวมังกรจันทร์ฉงาย” เชี่ยวชาญและเก่งกาจวิทยายุทธ จงรักภักดี กตัญญูรู้คุณ มีคุณธรรมและซื่อสัตย์เป็นเลิศ

แต่เดิมจีนโบราณให้ความเคารพนับถือเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ คนไทยเชื้อสายจีนให้ความเคารพบูชาและศรัทธา เลื่อมใสเป็นอย่างมาก กวนอูเปรียบเสมือนเทพเจ้าที่ชาวจีนให้ความเคารพกราบไหว้บูชาในฐานะที่เป็น เทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อ

จากประวัติของศาลเจ้าไม่มีผู้ใดบันทึกไว้ แต่จากการเล่าสืบต่อกันมา บอกว่าชาวจีนที่ก่อตั้งศาลบู้เบี้ยเป็นพวกอั้งยี่ ซึ่งย่อมจะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในศิลปะการต่อสู้ หรือวิทยายุทธอยู่บ้างจึงเป็นที่รู้จัก และสันนิษฐานว่าอั้งยี่น่าจะอพยพมาจากกรุงเทพฯ

บทบาทของอั้งยี่ที่ก่อตั้งศาลเจ้าเป็นไปในลักษณะกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น คล้ายกับกลุ่มอิทธิพลของจีนเต็งที่มีอิทธิพลต่อแรงงานคนจีนในเมืองเชียงใหม่ กล่าวคือสามารถควบคุมสั่งการแรงงานเหล่านั้นได้ ในระยะที่การขนส่งสินค้าระหว่างเชียงใหม่-กรุงเทพฯ ยังอาศัยทางรถไฟเพียงทางเดียว อั้งยี่กลุ่มนี้ก็ควบคุมแรงงานคนจีนที่สถานีรถไฟ ทั้งยังมีกิจการที่เกี่ยวพันกับอำนาจ อิทธิพล

ศาลเจ้าบู้เบี้ย ปัจจุบันรู้จักในชื่อของ ศาลเจ้ากวนอู ตั้งอยู่ในตลาดข่วงเมรุ หรือ ตรอกเหล่าโจ๊ว ทางด้านทิศตะวันตกของตลาดวโรรส จังหวัดเชียงใหม่ ศาลเจ้าแห่งนี้ป้ายบอกอายุศาลเจ้าไม่น้อยกว่า 120 ปี แต่คาดว่าอายุไม่น่าจะถึง เพราะจากการคำนวณโดยยึดหลักจากการพิราลัยของเจ้าอินทวิชยานนท์ ในปี พ.ศ.2440 แต่ศาลเจ้าแห่งนี้กลับสร้างก่อนซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะการสร้างพระป้ายนั้น สร้างเพื่อกราบไหว้ผู้ล่วงลับไปแล้ว

ศาลเจ้าแห่งนี้มีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจในรูปแบบศิลปกรรมต่างๆ ทั้งยังเป็นสถานที่ที่ชาวจีนกราบไหว้สักการะ ดังนั้นจึงควรจะมีแต่สถาปัตยกรรมลวดลายศิลปกรรมศาลเจ้า หรือประติมากรรมเทพเจ้าจีน แต่ก็พบว่ามีศาลของเจ้าหลวงเชียงใหม่ และ แม่เจ้าทิพเกสร ซึ่งมีพระนามของท่านสลักเอาไว้ทั้งภาษาจีนและตัวอักษรธรรมล้านนา ซึ่งน่าจะเป็นศาลเจ้าจีนที่ชาวจีนสร้างให้กับเจ้าหลวงเป็นศาลเจ้าประจำตระกูล เพราะคนจีนที่เมืองจีนมีการสร้างศาลเจ้าประจำตระกูล ศาลเจ้าประจำตระกูลของกษัตริย์ก็มีเช่นกัน

จากการศึกษาจากประวัติศาสตร์สังคมจีนในไทย เทพเจ้ากวนอูเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของสมาคมที่มีการค้าฝิ่น และอย่างอื่น ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าศาลเจ้ากวนอูมีสมาคมดนตรีจีนอยู่ด้วย จากหลักฐานคำบอกเล่าบอกว่าคนสร้างศาลเจ้าจีน เป็นคนจีนที่อพยพขึ้นมาเป็นพวกอั้งยี่ ซึ่งสมาคมลับของจีน คือพวกอั้งยี่มีการจัดโครงสร้างหัวหน้า อาวุโสต่างๆ ดื่มเลือดสาบาน อุทิศตนให้แก่ภราดรภาพ และรักษาความลับของสมาคม โดยมีพิธีกรรมและสัญลักษณ์ทางศาสนากวนอู

ถึงแม้ว่าจะเป็นกลุ่มอิทธิพลอั้งยี่ แต่กลุ่มนี้ก็ได้แสดงถึงความจงรักภักดีต่อเจ้าหลวงในการสร้างศาลเจ้าหลวง เพราะการเข้ามาอาศัยอยู่ในเชียงใหม่มีแต่ความสะดวกสบายทางการค้าขาย และชาวจีนได้รับความยุติธรรมกับสิทธิพิเศษต่างๆ จากเจ้าหลวงเป็นอย่างดี อีกทั้งชาวจีนได้ยกเจ้าหลวงของเชียงใหม่ว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เป็นเทพของชาวจีน ซึ่งแสดงถึงการยอมรับ เข้ามาพึ่งพระบารมีของเจ้าหลวงเชียงใหม่ จึงได้มีพระป้ายและศาลเจ้าหลวงให้เคารพบูชาคล้ายกับที่กรุงเทพฯ ที่รัชกาลที่ 4 มีคติการสร้างพระป้ายให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าหลังจากรัชกาลที่ 4 สวรรคต รัชกาลที่ 5 ก็ทรงสร้างพระป้ายให้เพื่อแสดงความเป็นกษัตริย์และเทพของชาวจีน และชาวจีนมีการตั้งโต๊ะบูชาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินผ่านย่านสำเพ็ง ซึ่งในปัจจุบัน คนจีนที่เยาวราชก็มีซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ให้กับรัชกาลองค์ปัจจุบันอีกด้วย

ศาลเจ้าไต้ฮงกง

ไต่ฮงกง เป็นพระภิกษุในสมัยราชวงศ์ซ้อง เท่าที่เล่าสืบกันมาว่า ท่านเป็นพระที่จาริกมาจากเมืองอื่น เป็นพระที่นิยมสงเคราะห์ชาวบ้านเกี่ยวกับการเก็บศพที่ไร้ญาติ ซ่อมแซมถนนหนทางที่ชำรุด และสร้างสะพานในที่ที่ควรสร้างเป็นหลักใหญ่ มีพระองค์อื่นๆ ที่เห็นด้วยกับท่านจึงร่วมกันออกทำงานประเภทนี้เป็นกิจวัตรทุกวัน กระทั่งท่านได้มรณภาพไป คณะสงฆ์ที่ได้เคยร่วมงานสานต่อจากท่านก็ยังคงดำเนินงานนี้เสมอมา ต่อมามีชนบทแห่งหนึ่งได้เกิดโรคระบาดติดต่อที่ร้ายแรง มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ขณะที่คณะสงฆ์ได้ไปเก็บศพทำพิธีพรมน้ำมนต์ศพนั้น มีคนไข้คนหนึ่งขอให้ท่านพรมน้ำมนต์ให้ และปรากฎว่าคนไข้คนนั้นกลับหายเป็นปกติ จึงมีการสร้างศาลาบูชาท่าน เนื่องจากมีความเชื่อว่าเป็นอานิสงส์จากหลวงปู่ไต่ฮงกงโจวซือ แล้วก็มีการทำกันอย่างแพร่หลายไปทั่วเมืองแต้จิ๋ว โดยเรียกชื่อศาลานี้ว่า “ศาลาหลวงปู่ไต่ฮงกง” และยังคงทำงานด้านการเก็บศพ พร้อมทำงานซ่อมแซมถนนตามแบบท่าน แต่การดำเนินจะเป็นฆราวาส ชาวจีนจึงถือว่า การบริจาคแก่ศาลหลวงปู่ไต่ฮงกงเป็นมหากุศลอย่างยิ่ง

มูลนิธิเชียงใหม่สามัคคีการกุศล ได้จัดตั้งขึ้น โดยคนไทยเชื้อสายจีน เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2500 และได้เชิญหลวงพ่อไต้ฮงกง มาประดิษฐาน ในขณะเดียวกันก็ทำการก่อสร้างศาลเจ้า และอาคารเสร็จสิ้นเมื่อปี พ.ศ. 2509 จนถึงปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2554 ครบรอบ 45 ปี และมีวัตถุประสงค์ คือ บำเพ็ญสาธารณกุศลให้การอุปการะรักษาพยาบาลผู้ป่วย ช่วยเหลือจัดการทำศพผู้อนาถาทั้งการฝังและเผา เพื่อดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือร่วมมือกับองค์การกุศลอื่นๆ เพื่อ สาธารณประโยชน์ “ศูนย์รวมแห่งจิตใจและแห่งศรัทธาทั้งชาวจีน และชาวไทย อย่างยาวนาน”

ร่วมแสดงความคิดเห็น