อย. เตือน!!! อย่านำผ้าอนามัยมาใช้ประกบกับหน้ากากอนามัย อาจเกิดอันตรายได้

กรณีที่เกิดขึ้นบนโลกโซเชียล จากการที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กซ์ท่านหนึ่งได้ออกมาโพสต์รูปภาพการนำผ้าอนามัยสูตรเย็นมาประกบกับหน้ากากอนามัย ใช้เพื่อป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก และให้ความรู้สึกเย็นอีกด้วย ทั้งนี้ อย. ได้ออกมาเตือนประชาชนว่า ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดวัตถุประสงค์ เช่นในกรณีที่เกิดขึ้นนี้ เนื่องจากอาจได้รับอันตราย จากสารบางชนิดในผลิตภัณฑ์ได้

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมาบอกถึงอันตรายของการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดวัตถุประสงค์

หน้ากากอนามัย

หน้ากากอนามัยคือ หน้ากากที่ใช้เพื่อช่วยป้องกันระบบทางเดินหายใจจากมลพิษ สารพิษ และเชื้อโรค ในหลายกรณี แพทย์มักแนะนำให้ใช้หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากเป็นวิธีการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสจากคนสู่คนได้ หากรู้วิธีใช้ที่ถูกต้องก็จะช่วยให้การป้องกันนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หน้ากากอนามัย ผลิตขึ้นจากผ้าหรือพอลิโพรไพลีนซึ่งเป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ โดยหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพจะต้องมีชั้นกรองอย่างน้อย 3 ชั้น สามารถกรองอนุภาคได้ 5 ไมครอน เพื่อช่วยในการป้องกันเชื้อโรค มลพิษหรือของเหลวจากภายนอก และช่วยดูดซับสารคัดหลั่งหรือความชื้นที่มาจากผู้ใช้ ป้องกันเชื้อโรคแพร่กระจายสู่ผู้อื่น

ข้อจำกัดของหน้ากากอนามัย

  1. ไม่สามารถป้องกันได้ 100%
  2. ไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้ทุกชนิด แม้จะช่วยป้องกันเชื้อโรคได้ในระดับหนึ่งแต่ยังไม่มีการทดสอบว่าสามารถป้องกันเชื้อโรคชนิดใดชนิดหนึ่งได้อย่างเจาะจง
  3. ใช้ได้ครั้งเดียว หน้ากากอนามัยเกือบทุกชนิดจะเป็นชนิดใช้แล้วทิ้ง และไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือทำความสะอาดได้ เนื่องจากเมื่อใช้แล้วเชื้อโรคจะติดอยู่บนหน้ากากอนามัย หากใช้ซ้ำก็อาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
  4. ไม่มีผลวิจัยชัดเจนว่าช่วยป้องกันได้ แม้วงการแพทย์จะแนะนำให้ใช้หน้ากากอนามัยป้องกันมลพิษหรือการติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจ แต่ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนว่าหน้ากากอนามัยมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจหรือมลพิษมากเพียงใด

ผ้าอนามัย

ผ้าอนามัย sanitary towel (U.K) หรือ sanitary napkin (U.S) หมายถึง แผ่นซับใช้แล้วทิ้ง สำหรับสตรีใช้ซับเลือดประจำเดือน ทั้งนี้ไม่รวมถึง incontinence pads ซึ่งใช้โดยผู้หญิงที่มีปัญหาการควบคุมกระเพาะปัสสาวะ
โดยปกติแล้วผ้าอนามัยจะมีแถบกาวอีกด้านหนึ่ง เพียงแค่ลอกแถบกระดาษออกคุณก็จะสามารถแปะผ้าอนามัยเข้ากับเป้ากางเกงชั้นในได้ และหากเป็นผ้าอนามัยแบบมีปีก คุณก็แค่แปะบริเวณปีกเข้ากับขอบกางเกงชั้นในเพื่อให้กระชับ ซึ่งผ้าอนามัยแบบนี้จะเป็นประเภทที่ใช้แล้วทิ้ง

ส่วนประกอบในผ้าอนามัย

ผ้าอนามัย มีส่วนประกอบและวัสดุ ดังนี้

  1. วัสดุห่อหุ้ม ต้องเป็นวัสดุที่มีลักษณะโปร่ง หรือมีรูพรุนให้ของเหลวไหลผ่านได้
  2. เนื้อในหรือแผ่นซึมซับ ต้องเป็นวัสดุที่นุ่ม สะอาด ซึมซับของเหลวได้ดี เช่น สำลี พอลิเมอร์ เยื่อกระดาษตีฟู
  3. แผ่นกันการซึมเปื้อนด้านล่าง ต้องเป็นแผ่นฟิล์มที่ทำจากพอลิเอทิลีน พอลิโอเลฟิน หรือวัสดุอื่นที่เหมาะสม
    ผ้าอนามัย (sanitary pad) มีส่วนประกอบหลัก คือ สารที่มีคุณสมบัติดูดซับ, แผ่นฟิล์ม, แถบกาว และอาจผสมสารอื่น ๆ เพื่อเสริมให้ผลิตภัณฑ์น่าใช้ เช่น สี กลิ่น สารให้ความเย็น (menthol) ซึ่งสารเหล่านี้จะต้องสอดคล้องกับประกาศฯ เกี่ยวกับสารด้านเครื่องสำอาง

อันตรายจากการนำผ้าอนามัยมาใช้ประกบกับหน้ากากอนามัย

การนำผ้าอนามัยมาประกบกับหน้ากากอนามัยใช้ปิดจมูกเพื่อกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก เป็นการนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ และอาจเกิดอันตรายจากสารที่เป็นส่วนผสมในผ้าอนามัย เช่น ก่อให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจ และสารให้ความเย็น หรือ menthol ที่ช่วยให้รู้สึกเย็นนั้น อาจก่อให้เกิดการแพ้หรือการระคายเคืองในบางคนได้ด้วย และที่สำคัญการใช้ผ้าอนามัยสูตรเย็นมาประกบกับหน้ากากอนามัยไม่สามารถป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 ได้มากกว่าการใช้หน้ากากอนามัยธรรมดา


ภาพจาก : เฟซบุ๊กซ์ Noon Nicha

สรุป

การใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดวัตถุประสงค์นั้น อาจก่อให้เกิดอันตรายต้อร่างกายของเราได้ ดังนั้น เราควรตระหนักถึงการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์และไม่ควรนำมาใช้ผิดวิธี ทั้งนี้ คนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน มีกิจกรรมที่ต้องใช้แรงกายมาก อยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรสวมใส่หน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ เช่น หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐาน N95 และคนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกินค่ามาตรฐาน อาจสวมหน้ากากอนามัยธรรมดาได้ สำหรับคนที่มีโรคประจำตัวที่มีความไวต่อฝุ่นละอองขนาดเล็ก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำตามสภาพของโรค ระดับอาการที่เป็น และวิธีการรักษาที่ได้รับอยู่เดิม

หน้ากากอนามัย N95

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ภาพจาก : เฟซบุ๊กซ์ Noon Nicha

บทความที่เกี่ยวข้อง

ฝุ่นละออง PM2.5 ฆ่าคนเชียงใหม่ไม่รู้ตัว

ฝุ่นละออง PM2.5 อันตรายต่อสุขภาพ เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็ง!!!

เลือกให้ถูก ! หน้ากากอนามัยแต่ละแบบใช้อย่างไร

ร่วมแสดงความคิดเห็น