เตือนภัย “ภูมิแพ้อากาศ” อย่าประมาท อันตรายกว่าที่คิด

“ภูมิแพ้อากาศ” หรือจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) คือ การอักเสบของเนื้อเยื่อจมูกเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ฝุ่นละออง ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ หญ้า แมลงสาบ รังแคสัตว์ ควันบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งมักทำให้ผู้ป่วยจาม คัดจมูก คันจมูก น้ำมูกไหล และเจ็บคอ แม้โรคนี้ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่เกิดร่วมกับหอบหืดและอาการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) แต่อาจทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตแย่ลง

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะพาทุกคนมารู้จักกับโรคภูมิแพ้อากาศ ว่าคืออะไร อาการของโรคเป็นอย่างไร และโรคนี้อันตรายมากแค่ไหน ให้ทุกคนได้รับทราบกันครับ

อาการของภูมิแพ้อากาศ

  • จาม ไอ หรือเจ็บคอ
  • คันจมูก ปาก หู ตา ผิวหนัง หรือบริเวณอื่น ๆ
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล มีเสมหะ ไม่รับรู้กลิ่น
  • ปวดหัว
  • ปวดหู หูอื้อ
  • น้ำตาไหล ตาแดง ตาบวม หรือขอบตาคล้ำ
  • อ่อนเพลีย ง่วงซึม รู้สึกไม่สบายตัว หรือหงุดหงิดง่าย
  • ผิวหนังแห้งและคันคล้ายเป็นผื่นผิวหนังอักเสบ หรือเป็นลมพิษ

โดยปกติ ผู้ป่วยมักจาม คัดจมูก คันจมูก และน้ำมูกไหลทันทีเมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ แต่อาการบางอย่าง เช่น ปวดหัวและอ่อนเพลีย มักเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยสัมผัสกับสารดังกล่าวเป็นเวลานาน หรือในปริมาณมากเท่านั้น และอาการป่วยต่าง ๆ จากภูมิแพ้อากาศจะไม่รุนแรง ยกเว้นผู้ป่วยบางรายที่อาจมีอาการแพ้รุนแรงร่วมด้วย ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงต้องไปพบแพทย์ทันที หากมีสัญญาณอาการแพ้รุนแรง เช่น กระสับกระส่าย สับสน ผิวหนังเป็นผื่นคัน หน้าบวม ชีพจรเต้นเบา หายใจลำบากหรือหอบ ปากและลำคอบวม กลืนลำบาก พูดไม่ชัด และช็อก

สาเหตุของภูมิแพ้อากาศ

ภูมิแพ้อากาศเกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อจมูก หู ตา ไซนัส และลำคอ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้เพื่อกำจัดสารก่อภูมิแพ้ในอากาศออกจากร่างกาย โรคนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ภูมิแพ้อากาศที่เป็นเฉพาะฤดูกาล (Seasonal Allergic Rhinitis) ที่ทำให้สารก่อภูมิแพ้เกิดขึ้นหรือกระจายในอากาศเพิ่มขึ้นในบางฤดูกาล เช่น ภูมิแพ้เกสรดอกไม้ ส่วนภูมิแพ้อากาศที่เป็นตลอดทั้งปี (Perennial Allergic Rhinitis) ผู้ป่วยจะได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกายได้จากสภาพแวดล้อมทั่วไป เช่น ภูมิแพ้ไรฝุ่น รังแคสัตว์ เชื้อรา หรือแมลงสาบ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีคนในครอบครัวเคยเป็นภูมิแพ้ เป็นหอบหืด หรือผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง จะเสี่ยงเป็นโรคนี้สูงขึ้นด้วย รวมทั้งผู้ที่อยู่ในวัยเด็กอาจเสี่ยงต่อภูมิแพ้อากาศสูงกว่าวัยผู้ใหญ่ และเด็กผู้ชายเสี่ยงต่อโรคนี้สูงกว่าเด็กผู้หญิง โดยอายุเฉลี่ยที่เริ่มเป็นโรคนี้ คือ 8-11 ปี

  • ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจกระตุ้นหรือทำให้อาการของโรคดังกล่าวแย่ลง ได้แก่
  • ควันบุหรี่ สารเคมี ควัน หรือมลพิษในอากาศ
  • อากาศเย็น ความชื้น หรือลม
  • สเปรย์แต่งผม หรือน้ำหอมที่มีกลิ่นฉุน

การวินิจฉัยภูมิแพ้อากาศ

แพทย์มักวินิจฉัยผู้ป่วยภูมิแพ้อากาศจากประวัติทางการแพทย์และการตรวจร่างกาย โดยอาจตรวจเลือดและวิเคราะห์ภาพถ่ายรังสีเพิ่มเติมในบางราย โดยมีตัวอย่างการตรวจวินิจฉัย ดังนี้

การตรวจจมูก ผู้ป่วยอาจมีรอยย่นในแนวนอนบริเวณกลางจมูกจากการถูจมูกซ้ำ ๆ มีน้ำมูก และผนังกลางจมูกเอียงหรือทะลุ ซึ่งอาจเกิดจากภูมิแพ้อากาศเรื้อรังหรือสาเหตุอื่น ๆ
การตรวจหู ตา และคอ ผู้ป่วยอาจมีเยื่อแก้วหูผิดปกติด้านการหดตัวหรือการยืดหยุ่น มีเยื่อบุตาบวม แดง มีน้ำตามาก มีรอยย่นที่ใต้หนังตาล่าง และรอยคล้ำใต้ตา ซึ่งเกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือด หรืออาการคัดจมูก
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ อาจทดสอบภูมิแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้บนผิวหนัง และตรวจเลือดวัดปริมาณเม็ดเลือดขาวอีโอซิโนฟิลและอิมมูโนโกลบูลิน อี (Immunoglobulin E) ซึ่งเป็นสารภูมิต้านทานที่ตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ในเลือด

การรักษาภูมิแพ้อากาศ
ผู้ป่วยโรคนี้ควรดูแลตัวเองด้วยการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ และควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค ตรวจระดับความรุนแรงของอาการ และโรคที่อาจเกิดร่วมกันอื่น ๆ เช่น หอบหืด ซึ่งการรักษาส่วนใหญ่อาจใช้ยา ดังนี้

ยาต้านฮิสตามีน เช่น ลอราทาดีน เซทิริซีน เฟ็กโซเฟนาดีน ไดเฟนไฮดรามีน เด็สลอราทาดีน ลีและโวเซทิริซีน เป็นต้น เพื่อลดการหลั่งสารฮิสตามีนซึ่งทำให้เกิดอาการแพ้ โดยผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้ร่วมกับยาอื่น ๆ และระมัดระวังผลข้างเคียงของยา โดยเฉพาะอาการง่วงนอนหลังใช้ยา
ยาลดน้ำมูก เช่น ออกซีเมทาโซลีน ซูโดเอฟีดรีน เพื่อลดอาการคัดจมูกและลดความดันที่ไซนัส ซึ่งผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาเสมอ หากมีปัญหาสุขภาพ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นโรคหัวใจ เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง มีภาวะวิตกกังวล มีความผิดปกติด้านการนอน ความดันโลหิตสูง หรือกระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ
ยาหยอดตาและยาพ่นจมูก ใช้ลดการอักเสบและการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่มากเกินไป ซึ่งยาพ่นจมูกชนิดคอร์ติโคสเตียรอยด์เป็นยารักษาภูมิแพ้อากาศที่ให้ผลดีและมีประสิทธิภาพ โดยมีทั้งชนิดที่หาซื้อได้เองและตามใบสั่งแพทย์ โดยการเลือกชนิดของยาหยอดตาและยาพ่นจมูก รวมทั้งระยะเวลาในการใช้ยาควรขึ้นอยู่กับอาการป่วย และผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด

ยายับยั้งลูโคไตรอีน (Leukotriene) ใช้ยับยั้งสารลูโคไตรอีนที่ร่างกายหลั่งออกมาเมื่อเกิดการอักเสบ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้

วัคซีนภูมิแพ้ เป็นวิธีรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัด โดยแพทย์จะฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย หรือให้ผู้ป่วยอมยาที่ผสมสารก่อภูมิแพ้ใต้ลิ้นหลาย ๆ ครั้ง ครั้งละน้อย และเพิ่มขึ้นตามลำดับจนกว่าผู้ป่วยจะมีอาการแพ้ที่ทุเลาลงหรือหายขาด ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาประเภทนี้ในผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีอื่นข้างต้นแล้วไม่ได้ผล และต้องระมัดระวังอาการแพ้รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นด้วย ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ให้ดีก่อนรับการรักษานี้

การป้องกันภูมิแพ้อากาศ

การหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ในอากาศเป็นการป้องกันภูมิแพ้อากาศที่ดีที่สุด ซึ่งผู้ป่วยภูมิแพ้อากาศควรดูตัวเองด้วยวิธีดังต่อไปนี้

ดูแลสุขลักษณะภายในบ้านเพื่อลดไรฝุ่น เช่น ทำความสะอาดพื้นด้วยการถู ซึ่งดีกว่าการกวาดที่ทำให้ฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย ทำความสะอาดพรมด้วยเครื่องดูดฝุ่นที่มีแผ่นกรองประสิทธิภาพสูง ซักเครื่องนอนในน้ำร้อนอุณหภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียสทุกสัปดาห์ และใช้หมอนกับปลอกหมอนที่ปลอดไรฝุ่น เป็นต้น

  • หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านในช่วงที่มีการฟุ้งกระจายของเกสรดอกไม้ และอาบน้ำทันทีหลังกลับเข้าบ้าน
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง หากมีสัตว์เลี้ยงต้องทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ ล้างมือและซักเสื้อผ้าทันทีหลังจากสัมผัสสัตว์เลี้ยง และไม่นำสัตว์เลี้ยงขึ้นเตียงนอน
  • หากเดินทางด้วยยานพาหนะ ควรให้กระจกรถยนต์ปิดสนิท เพื่อป้องกันสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ
  • รับปรทานยาต้านฮิสตามีนตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อป้องกันอาการกำเริบ

สรุป
ผู้ป่วยโรคนี้ควรดูแลตัวเองด้วยการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ และควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค ตรวจระดับความรุนแรงของอาการ และโรคที่อาจเกิดร่วมกันอื่น ๆ เช่น หอบหืด ซึ่งการรักษาส่วนใหญ่อาจใช้ยา

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ภาพจาก : https://www.honestdocs.co
อ้างอิงข้อมูลจาก : https://www.pobpad.com

ร่วมแสดงความคิดเห็น