ทำไม “หิวบ่อย” ? กินเท่าไรก็ไม่อิ่มสักที…

เราทุกคนทราบกันดีว่า “อาการหิว” เป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับทุกคน แต่ถ้าความหิวที่ว่านั้นมันมาก และมาบ่อยเกินการควบคุมก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้อ้วนขึ้นได้

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมาบอกสาเหตุของการเกิด “อาการหิว” ให้ฟังกันค่ะ

อาการหิว

เป็นสัญญาณทางประสาท ที่เตือนว่าร่างกายต้องการอาหารเพื่อนำมาใช้เป็นพลังงาน ตามกลไกของร่างกาย เมื่อท้องว่างร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนที่ชื่อว่า เกรลิน (Ghrelin) ออกมา เพื่อสั่งการไปยังสมองว่าเรากำลังหิว โดยจะแสดงออกทางกายภาพได้หลายอย่าง เช่น ท้องร้อง มวนท้อง อ่อนแรง มือสั่น และเมื่อเราได้รับอาหาร และน้ำเข้าไปจนเต็มกระเพาะ ร่างกายก็จะหยุดหลั่ง ฮอร์โมน เกรลิน (Ghrelin) และหลั่งฮอร์โมนอีกตัวที่ชื่อว่า เลปติน (Leptin) เพื่อบอกว่าเราอิ่มแล้ว

สาเหตุของ “อาการหิว”

1.การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง
การรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว ที่มีค่าความหวานสูง ( Glycaemic index (GI)) อย่างขนมปังขาว ข้าวขาว ขนม และน้ำอัดลม เป็นอาหารที่มีใยอาหารต่ำ ย่อยและดูดซึมได้เร็ว จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ร่างกายจะผลิต อินซูลิน (Insulin) ออกมาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ลดลง ยิ่งทานมากเท่าไหร่ร่างกายก็จะพยายามลดระดับน้ำตาลลงมากเท่านั้น เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ส่งผลให้อยากอาหารมากขึ้น หิวหนักขึ้น หิวเร็วขึ้น หรืออาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ และหน้ามืดได้

2.ทิ้งช่วงระหว่างมื้ออาหารนานเกินไป
การทิ้งช่วงรับประทานอาหารระหว่างมื้อนานเกินไปจะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความหิว เกรลิน (Ghrelin) เข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นฮอร์โมนกระตุ้นความอยากอาหาร เมื่อเกิดการหลั่งออกมาเป็นปริมาณมาก จึงทำให้รู้สึกหิว และรับประทานมากขึ้นกว่าปกติ และการปล่อยให้ท้องว่างเป็นเวลานานหลายชั่วโมงก็อาจไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อร่างกาย

3.การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
การนอนหลับไม่เพียงพอจะส่งผลกับการหลั่งฮอร์โมนความหิว เกรลิน (Ghrelin) ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนชนิดนี้มากขึ้น ในขณะที่ทำให้ระดับการหลั่งฮอร์โมนความอิ่ม เลปติน (Leptin) ลดลง

4.อาการก่อนมีประจำเดือน
ผู้หญิงช่วงใกล้มีประจำเดือนของทุกเดือนมักมีอาการหิวบ่อย และความอยากอาหารเพิ่มมากขึ้น อาจมีความเป็นไปได้ว่าอาการหิวบ่อยเป็นผลมาจากกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome : PMS)

5.ความเครียด
คนที่อยู่ในอารมณ์เครียด หรือวิตกกังวลมากจะทำให้ระดับฮอร์โมนแห่งความเครียดที่มีชื่อว่า คอร์ติซอล (Cortisol) และอะดรีนาลีน (Adrenaline) เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งในสภาวะฉุกเฉินของร่างกาย เช่น โกรธ ตกใจ หรือตื่นเต้นอย่างรุนแรง ทำให้ร่างกายต้องการพลังงานมากขึ้น

เคล็ดลับง่าย ๆ ในการลดความหิว

  1. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ การพักผ่อนไม่เพียงพอจะส่งผลต่อฮอร์โมนที่ควบคุมความหิว และความอิ่ม
  2. ดื่มน้ำมาก ๆ คนที่กระหายน้ำอาจเข้าใจผิดว่า “หิวข้าว” เมื่อมีอาการหิวจึงควรเริ่มต้นด้วยการดื่มน้ำก่อนเพราะเราอาจจะแค่กระหายน้ำก็ได้
  3. อย่า งด อด หรือข้ามมื้ออาหาร และทานโปรตีนให้เพียงพอ เนื้อสัตว์ ไข่ เต้าหู้ เนื้อ อาหารโปรตีนเหล่านี้ทำให้อยู่ท้อง และอิ่มได้นานขึ้น
  4. กินข้าว แป้งไม่ขัดสี ถั่วเมล็ดแห้ง ธัญพืช และผักต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ถ้าหิว และต้องการทานอาหารว่าง ก็ควรเลือกประเภทผัก ผลไม้ และอาหารโปรตีนสูงเข้าไว้
  5. รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ธัญพืชต่าง ๆ ผักที่มีกากใยสูง ๆ เช่น บร็อกโคลี่ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ต่าง ๆ จะช่วยให้อิ่มนานขึ้น

สรุป
อาการหิวบ่อยของคนเรา อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อ้วนขึ้น ดั้งนั้นควรรับประทานอาหารที่อยู่ท้องและอิ่มได้นาน และที่ขาดไม่ได้ก็คือการพักผ่อนที่เพียงพอของร่างกายในแต่ละวัน

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
อ้างอิงข้อมูลจาก : lovefitt.com, pobpad.com,
ภาพจาก : freepik.com

ร่วมแสดงความคิดเห็น