“ก๋องปู่จา” มรดกของชาวล้านนาที่กำลังจะหายไป

ปัจจุบันเครื่องดนตรีสากลเป็นที่นิยมมากในสังคมไทย เช่น กีตาร์ เบส กลองชุด เป็นต้น แต่หารู้ไม่ว่าบรรพบุรุษเราได้สร้างสรรค์เครื่องดนตรีประกอบจังหวะหรือการแสดงขึ้นมา ในสังคมล้านนานั้น “ก๋องปู่จาหรือกลองปู่จา” ได้ถูกสรรค์สร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือสารพัตประโยชน์ในช่วงเวลานั้น ๆ เช่น ตีบอกเวลา ตีก่อนออกรบ ตีหลังรบชนะ ตีเพื่อเป็นพุทธบูชา เป็นต้น จะเห็นได้ว่า กลองปู่จามีประโยชน์มากมาย นอกจากนั้นกลองปู่จายังเป็นกลองแม่แบบของ “กลองสะบัดชัย” ที่เราได้ยินคุ้นหูกันในทุกวันนี้อีกด้วย

ในวันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” ได้นำเรื่องราวของ “ก๋องปู่จาหรือกลองปู่จา” ที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อนเพื่อให้ลูกหลานของคนล้านนาในปัจจุบันมีจิตสำนึกอนุรักษ์และหวงแหนมรดกภูมิปัญญาทางดนตรีที่บรรพบุรุษเราได้สร้างขึ้นมา เรื่องราวของกลองปู่จาจะเป็นอย่างไร ติดตามได้เลยครับ

ประวัติความเป็นมาของ “กลองปู่จา”

“ก๋องปู่จาหรือกลองบูชา” ประวัติ และที่มาไม่มีความชัดเจนว่าเกิดขึ้นในสมัยใด รู้แต่เพียงว่าเป็นกลองโบราณชนิดหนึ่ง ซึ่งได้มีการพัฒนารูปร่าง และลักษณะการตีของกลองมาอย่างต่อเนื่อง โดยจากกลองใบใหญ่ใบเดียวที่ใช้ตีเป็นเครื่องส่งสัญญาณในการโจมตีศัตรูของกองทัพในเวลาสงคราม ตีส่งสัญญาณบอกข่าวแก่ชุมชน ใช้เป็นเครื่องดนตรีมหรสพ เป็นเครื่องประโคมฉลองชัยชนะ และความสนุกสนาน ฯลฯ วิธีตีหรือจังหวะการตีเรียกว่า “สะบัดชัย” กลองชนิดนี้จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “กลองสะบัดชัย” เมื่อไม่มีการรบทัพจับศึก ก็ได้พัฒนาทั้งรูปร่างลักษณะ จังหวะการตี และได้นำมาอยู่กับฝ่ายศาสนจักร ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาเรียกว่า “กลองบูชา” ก๋องปู่จาหรือกลองปู่จา ต่อมาได้พัฒนาเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การตีเพื่อให้เกิดความบันเทิงความสนุกสนาน ตามงานบันเทิงต่าง ๆ สามารถพบเห็นได้ในขบวนแห่หรืองานแสดงศิลปะพื้นบ้านโดยทั่วไป กลองบูชาใช้ตีได้หลายโอกาส ทั้งในพิธีกรรมทางศาสนา และงานต่างของชาวบ้าน ดังต่อไปนี้

1.ตีเป็นสัญญาณของการทำบุญ
จะตีประมาณ 2-3 ทุ่มในคืนก่อนวันพระเพื่อเป็นสัญญาณเตือนให้ชาวบ้านได้ทราบว่า วันรุ่งขึ้นเป็นวันพระเพื่อที่สาธุชนจะได้เตรียมตัวหรือเตรียมพร้อมในการปฏิบัติตน ให้งดเว้นจากอบายมุข ทำตนเองให้สะอาดโดยการถือศีล ทำความดี ละเว้นจากความชั่ว ทำจิตใจให้ผ่องใส และเตรียมไปทำบุญที่วัด การตีกลองบูชานั้นตีเพื่อเป็นพุทธบูชา ในคืนวันโกนคือ วันขึ้นหรือแรม 7 ค่ำหรือ 14 ค่ำ เป็นการเตือนให้ทราบว่าวันรุ่งขึ้นจะเป็นวันพระ ตีในทำนองของกลองบูชา มีเครื่องประกอบจังหวะ คือ โหน่ง (ฆ้องโหย้ง) หุ่ย (ฆ้องหมุ้ย) ฉาบใหญ่ (สว่า) เรียกว่า ฆ้องจุม (ชุด) 2 คือ มีฆ้อง 2 ใบ ส่วนมากจะเป็นจุม 3-5 บางแห่งเพิ่มเติมจนเป็นถึง 9 ใบ ลีลาจังหวะหรือทำนองในการตีเรียกว่า “ระบำกลอง” ในอาณาจักรล้านนาเดิมแต่ละท้องถิ่นจะมีเพลงหรือระบำของตนเอง ที่มีความแตกต่างทั้งการตีกลองหลวง และลีลาสอดแทรกของลูกตุบ ส่วนสว่าและฆ้องจะตีเป็นจังหวะยืนพื้น เพื่อให้คนตีกลองได้ใส่ลีลาของลูกตุบ เช่น ลำปางจะมีระบำสาวเก็บผัก ระบำปี้หนานเจ็บต๊อก ระบำย่าจุ้ม ระบำหล๊กเป็ดหล๊กไก่ ระบำตึ้งนั่ง ระบำเลิกวัดหรือระบำสะบัดชัย ฯลฯ เชียงใหม่จะมีระบำเสือขบตุ๊ ระบำสาวหลับเต๊อะ ระบำล่องน่าน ระบำสุดธรรม ฯลฯ ลำพูนจะมีระบำตึ้งย่าง เป็นต้น

ในยุคสมัยที่ยังไม่มีนาฬิกา วิทยุ และโทรทัศน์แพร่หลายอย่างเช่นในสมัยปัจจุบัน เสียงกลองจากวัดในยามค่ำคืนจึงเป็นได้ทั้ง นาฬิกา และความบันเทิง ที่สามารถกล่อมชาวบ้านหรือเด็ก ๆ ให้นอนหลับได้อย่างดี นอกจากนี้ยังเป็นความบันเทิงสำหรับชายหนุ่มในหมู่บ้าน ที่มีรสนิยมทางเพลงกลอนจะได้มาชุมนุมฝึกหัด และถ่ายทอดวิชาเพลงกลอนจากผู้ที่มีฝีมือหรือผู้อาวุโส

การบรรเลงร่วมวงกลองปู่จามีเครื่องดนตรีและบรรเลงดังนี้

-กลองหลวงและกลองตุบ ส่วนมากใช้ผู้ตี 3 คน ผลัดกันคนละ 1 เที่ยว
-ฆ้องใช้ฆ้องขนาดใหญ่ คือ ฆ้องอุ้ย และฆ้องโหย่องเป็นหลัก บางวัดอาจจะมีเพิ่มจนถึง 9 ใบ
-สว่า (ฉาบใหญ่) 1 คู่ อาจจะใช้ผู้ตีหลายคนผลัดกันก็ได้

2.ในวันพระ
การตีกลองบูชาเป็นระยะ ๆ นั้น ชาวบ้านที่ไม่ได้ทำบุญหรือฟังเทศน์ เสียงกลองบูชาจะทำให้ชาวบ้านได้ทราบถึงกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทราบว่า การเทศนาธรรมได้จบแล้วหรือเวลาทำวัตรเย็น เป็นต้น สาธุชนเมื่อได้ยินเสียงกลองบูชาก็จะยกมือโมทนาสาธุกับนักศีลนักบุญในวัดไปด้วย

3.ใช้เป็นสัญญาณตีบอกเหตุให้มวลชนในหมู่บ้านได้ทราบ เช่น นัดหมายประชุม นัดหมายเข้าขบวนเคลื่อนครัวทาน แจ้งเหตุร้าย

4.ใช้ตีเป็นกลองไชย เป็นการฉลองชัย ฉลองความสำเร็จ แสดงความยินดีเมื่ออาคันตุกะมาเยี่ยม เช่น ขบวนแห่ผ้าป่า ขบวนกฐิน ขบวนครัวทาน หรือตีแสดงความปีติเมื่อพระท่านให้พรเสร็จแล้ว

ลักษณะของ “กลองปู่จา”

โดยทั่วไปจะพบคำว่า “กลองปูจา” แต่ภาษาทางเหนือออกเสียงว่า “ปู๋จา” หรือ “ปู่จา” ซึ่งหมายถึง “บูชา” และเสียงทางภาคเหนือโดยรวมคือ “ก๋องปู๋จา” ซึ่งหมายถึงชุดกลองทางเหนือประกอบด้วยกลองที่มีขนาดใหญ่ขึงด้วยหนังสองหน้า ลักษณะการตรึงหนังใช้หมุดไม้ (แส้ไม้) สำหรับกลองเล็กในชุดมี 3 ใบ ขึงด้วยหนังสองหน้า และตรึงด้วยหมุดไม้เช่นกัน (กลองหลายชนิดจะตรึงหนังด้วยเชือกหนังอย่างกลองแขก)

รูปร่างลักษณะแต่เดิมนั้นไม่มีหลักฐานปรากฏว่าเป็นอย่างไรแน่แต่ปัจจุบันเป็นกลองที่ตั้งอยู่กับที่ ขนาดใหญ่มาก ชุดหนึ่งมี 4 ใบ คือ กลองแม่หรือกลองใหญ่หรือกลองตั้ง หรือกลองต้าง แล้วแต่ท้องถิ่นต่าง ๆ จะเรียก ซึ่งกลองมีขนาดหน้ากว้างประมาณ 80 ซ.ม. ขึ้นไป แล้วแต่จะหาไม้ได้ซึ่งบางแห่งอาจกว้างขนาด 115 ซ.ม. ความยาวประมาณ 150-200 ซ.ม. ทำด้วยไม้สักหรือไม้เนื้อแข็งอื่น ๆ ที่มีขนาดใหญ่เช่น ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้มะค่า ฯลฯ ขุดทะลุเป็นทรงกระบอกมีเหงือกกลองเพื่ออุ้มเสียงให้กังวานเจาะรู-ระบายเสียงหัวใจกลองทั้งสองด้านด้วยหนังวัวหรือหนังควาย สลักหรือหมุดทำด้วยไม้เนื้อแข็งเพื่อใช้ตึงหนังหน้ากลองไม่ให้หย่อน

“ก๋องปู่จา” เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตี ที่กลองมีลักษณะเป็นกลองสองหน้าขนาดใหญ่ ตัวกลองใช้ไม้จริง เช่น ไม้สัก ไม้ขนุน ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้ชิงชัง ขุดเป็นโพรงขึ้นหน้าด้วยหนัง ใช้หมุดหรือภาษาพื้นบ้านเรียกว่า “แส้” เป็นตัวขึงหนังหน้ากลองให้ตึง หน้ากว้างประมาณ 90 ซ.ม. ขึ้นไป ยาวประมาณ 1.5 เมตร ขนาดไม่แน่นอนแล้วแต่ไม้ที่จะทำ ก่อนหุ้มกลองต้องทำการบรรจุหัวใจกลองไว้ข้างในตัวกลอง แล้วจึงหุ้มกลองด้วยหนังวัวหรือหนังควาย ใช้น้ำแห้งลงอักขระโบราณ คาถาเมตตามหานิยม ผ้ายันต์ และของมีค่าที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ บรรจุรวมลงไปในน้ำเต้าแล้วนำไปแขวนไว้ในตัวกลองใบใหญ่ ส่วนกลองใบเล็กอีก 3 ใบ ที่เรียกว่า “กลองลูกตุ๊บ” นั้นทำเหมือนกับกลองใบใหญ่แต่ข้างในตัวกลองไม่มีการบรรจุหัวใจกลอง มีขนาดหน้ากว้าง 12-18 นิ้ว ความยาวของกลองลูกตุ๊บ 18-24 นิ้ว

“กลองลูกตุ๊บ” เป็นกลองขนาดเล็กทำด้วยไม้สักหรือไม้เนื้อแข็งอื่น ๆ มีความกว้างประมาณ 20-30 ซ.ม. ยาวประมาณ 50-60 ซ.ม. แล้วแต่ความเหมาะสมกับกลองแม่ วิธีทำรูปร่างองค์ประกอบต่าง ๆ เหมือนกับ “กลองแม่” แต่ขนาดเล็กกว่า ซึ่งเท่าที่สังเกตตามสถานที่ต่าง ๆ กลองลูกตุ๊บจะไม่ได้ใส่หัวใจกลองเหมือนกับกลองแม่ กลองลูกตุ๊บจะวางตั้งจะวางตั้งซ้อนกันด้านซ้ายของกลองแม่ใช้ตีประสานเสียงใส่ลีลาการตีให้สัมพันธ์กับกลองแม่ เสียงจะมีขนาดเล็กแหลมลดหลั่นกันไปตามขนาดของกลอง และตามความต้องกันของเสียงที่แต่ละท้องถิ่นต้องการ

จังหวะการตี “กลองปู่จา”

จังหวะในการตีแบบเดิมที่มีอยู่กับที่ ในหอกลองขงวัดมีลักษณะต่าง ๆ กันตามโอกาสดังนี้

-ตีเรียกคน เช่น งานประชุมหรืองานส่วนรวมต่าง ๆ ที่ต้องช่วยกันทำลักษณะนี้จะตีเฉพาะกลองใหญ่โดยเริ่มจังหวะจากช้าแล้วจากนั้นจึงเร่งความเร็วของการตีขึ้นเรื่อย ๆ

-ตีบอกเหตุฉุกเฉิน เช่น ไฟไหม้ ไล่ขโมย จะตีเฉพาะกลองใหญ่ และมีจังหวะเร่งเร็วติด ๆ กัน

-ตีบอกวันพระ วันโกน ลักษณะการตีทั้งกลองใบใหญ่ และกลองลูกตุ๊บ มีฉาบ และฆ้องประกอบจังหวะด้วย จังหวะหรือทำนองในการตีที่เรียกว่า “ระบำ” มี 3 ทำนอง คือ

1.พุทธบูชาหรือปูชา (ออกเสียงว่า ปู๋จา) มีจังหวะช้า ใช้ฆ้องโหย้ง (โหม่ง) และฆ้องอุ้ย (หุ้ย) ประกอบ

2.สะบัดชัย มีจังหวะปานกลาง ใช้ฉาบ ใช้ฆ้องโหย้อง (โหม่ง) และฆ้องอุ้ย (หุ่ย) และฆ้องเล็กประกอบ

3.ล่องน่าน มีจังหวะเร็ว ใช้ฆ้องเล็กประกอบ

-ตีในงานบุญ เช่น งานสลากภัตต์ ลักษณะนี้จะตีทั้งกลองใหญ่ และกลองลูกตุ๊บ จังหวะเร่งเร็วเสมอต้นเสมอปลาย โดยมีคนใช้แส้ไม้ไผ่ที่เรียกว่า “ไม้แสะ” ฟาดหน้ากลองให้จังหวะแต่ไม่มีฉาบ และฆ้องประกอบ

ลักษณะการตีดังกล่าวทั้งหมดเป็นการตีอยู่กับที่ ภายหลังเมื่อเข้าขบวนก็ได้ใช้จังหวะหรือทำนอง “ล่องน่าน” โดยมี “ไม้แสะ” ตีประกอบด้วย ต่อมานิยมใช้จังหวะหรือทำนอง “สะบัดชัย” ไม่ใช้ไม้แสะลีลาของจังหวะหรือทำนองในการตีกลองบูชา เรียกแบบชาวเหนือว่า “ระบำกลอง” ระบำกลองของแต่ละท้องถิ่นจะมีความแตกต่างกันไปทั้งการตีกลองแม่หรือกลองต้าง และลีลาสอดแทรกของกลองลูกตุ๊บ ส่วนสว่า (ฉาบใหญ่) และฆ้องจะตีเป็นจังหวะยืนพื้น เพื่อให้คนตีกลองได้ใส่ลีลาของลูกตุ๊บ

ระบำกลองบางครั้งมีการนำเอาคำต่าง ๆ มาสร้างเป็นประโยคแทนเสียงกลองเพื่อง่ายแก่การท่อง และจดจำ ซึ่งมักมีชื่อเรียกที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “ชุมชนกับวัด” หรือระหว่างคนในชุมชนด้วยกัน และอาจแทรกอารมณ์ขันลงไป เช่น เสือขบตุ๊ (เสือกัดพระ) สาวเก็บผัก สาวหลับเต๊อะ (สาวเอยหลับเสียเถิด) เสือขบจ๊าง (เสือกัดช้าง) ปี้หนานเจ็บต๊อง (พี่ทิดเจ็บท้อง) เป็นต้น แต่มีอีกหลายชุมชนนำเสียงที่ได้ยินจากการตีกลองมาสร้างเป็นระบำเพื่อท่องจำ เช่น ระบำตึ้งนั่ง เป็นต้น

สรุปแล้ว ก๋องปู่จาหรือกลองปู่จา นั้นมีต้นกำเนิดที่ไม่ชัดเจน เป็นกลองโบราณซึ่งตีตามจังหวะต่าง ๆ โดยจังหวะที่โดดเด่นคือ จังหวะสะบัดชัย จึงทำให้กลองปู่จามีอีกชื่อหนึ่งคือ กลองสะบัดชัย ลักษณะของกลองปู่จาจะมีทั้งหมด 4 ใบ คือ กลองแม่ 1 ใบ กับกลองลูกตุ๊บ 3 ใบ และยังมีเครื่องดนตรีประกอบได้แก่ ฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ เป็นต้น กลองปู่จายังตีประกอบจังหวะต่าง ๆ เช่น จังหวะสะบัดชัย จังหวะล่องน่าน เป็นต้น กลองปู่จายังเป็นการตีเพื่อบรรเลงในระบำต่าง ๆ และยังเป็นการตีเพื่อบูชาพุทธศาสนา อีกด้วย ท้ายสุดแล้วอยากให้ลูกหลานช่วยกันสืบสานและอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางดนตรีที่บรรพบุรุษได้สรรค์สร้างขึ้นมาสืบต่อไปในอนาคต จงจำไว้ว่า อย่าลืมกำพืดตัวเก่า (อย่าลืมกำพืดตัวเอง) ขอบคุณครับ

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
อ้างอิงข้อมูลจาก : เพจ ขัวศิลปะ
รูปภาพจาก : tis.dasta.or.th, m.mgronline.com, www.m-culture.go.th, www.komchadluek.net และ www.bloggang.com

ร่วมแสดงความคิดเห็น