หมอ วิลเลี่ยม เอ.บริกส์ มิชชั่นนารีผู้บุกเบิกการแพทย์ในเชียงราย

ในช่วงเวลากว่า 100 ปีที่มีคณะมิชชั่นนารีชาวอเมริกันเดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในสยามประเทศที่มีชื่อเสียงที่สุด ได้แก่ ดร.แดนบีช แบร์ดเลย์ หรือที่รู้จักในเวลาต่อมาชื่อว่า “หมอบรัดเลย์” ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคสมัยและท่านยังเป็นผู้นำวิชาการพิมพ์มาสู่สยามประเทศเป็นคนแรก

ซึ่งหากจะว่าไปก่อนหน้าที่หมอบรัดเลย์จะเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนานั้น ได้มีคณะมิชชั่นนารีกลุ่มแรกที่เดินทางเข้ามาในสยามประเทศ ผู้ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในเวลนั้นก็คือ บิชอป ปาเลกัวซ์ ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาสอนภาษาลาตินและโหราศาสตร์ให้แก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งทรงผนวช

กระทั่งในปี พ.ศ.2406 ดร.โจนาธาน วิลสันและ ดร.แดเนียล แมคกิลวารี ได้เดินทางขึ้นมาสำรวจหัวเมืองเชียงใหม่ในเวลานั้นเรียกว่า “มณฑลพายัพ” เพื่อเผยแพร่พระศาสนาแต่ต้องยกเลิกการเดินทางครั้งนี้ไป ต่อมาในปี พ.ศ.2410 ดร.แดเนียล แมคกิลวารีพร้อมด้วย โซเฟีย ภรรยาได้เดินทางมาเชียงใหม่อีกครั้ง จุดมุ่งหมายในการเดินทางมาเชียงใหม่ของ ดร.แดเนียลครั้งนี้เพื่อก่อตั้งคริสตจักรและเผยแพร่คริสต์ศาสนาในนครเชียงใหม่

ขณะเดียวกันในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีมิชชั่นนารีชาวอังกฤษในคณะอเมริกันเพรสไบทีเรี่ยน (American Presbyterian Mission) ชื่อ นายแพทย์วิลเลี่ยม เอ.บริกส์ หรือที่รู้จักในชื่อ “หมอบริกส์” เป็นฝรั่งอีกท่านหนึ่งที่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากคนชาวเชียงราย ซึ่งรัฐบาลสยามได้ขอความร่วมมือจากท่านในการขึ้นมาฟื้นฟูพัฒนาเมืองเชียงราย โดยเริ่มจากการวางผังเมือง ตัดถนน นอกจากนั้นท่านยังเป็นสถาปนิกออกแบบสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงราย ที่เห็นในปัจจุบัน ได้แก่ อาคารศาลากลางหลังเก่าซึ่งมีอายุกว่า 100 ปี

นายแพทย์วิลเลี่ยม เอ.บริกส์ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยและอาศัยอยู่ที่สถานมิชชั่น จังหวัดลำปาง กระทั่งในปี พ.ศ.2446 ได้เดินทางต่อมายังจังหวัดเชียงรายเพื่อดำเนินงานก่อสร้างสถานพยาบาล นายแพทย์วิลเลี่ยม เอ.บริกส์ มีความสามารถหลายอย่าง ไม่เพียงแต่เป็นหมอรักษาโรคเท่านั้น ท่านยังเป็นทันตแพทย์ โดยได้ทำฟันเทียมชุดแรกให้กับนายคำฟู สุริยะคำ ซึ่งทำให้มีประชาชนแห่มาดูฟันปลอม เพราะสมัยนั้นถือเป็นของแปลกและอัศจรรย์ หมอบริกส์บอกว่าการทำฟันปลอมเมื่อคิดเทียบราคาที่เมืองนอกเป็นเงินไทยในสมัยนั้นตกราว ๆ 800 บาท

ในระหว่างที่นายแพทย์วิลเลี่ยม เอ.บริกส์ เริ่มเข้ามาปฏิบัติงานในจังหวัดเชียงรายนั้น เป็นสมัยที่ตัวเมืองกำลังเริ่มก่อสร้าง ปรับปรุงพื้นที่อาศัยของประชาชน หรือที่เรียกว่า “การพัฒนาท้องถิ่น” ในครั้งนั้นมีพระยาอุตรกิจ เป็นผู้ว่าราชการและมีเจ้าหลวงเมืองเชียงรายคือ เจ้าหลวงเมืองใจ (พระยารัตนาณาเขต) นอกเหนือจากภาระในการก่อสร้างสถานพยาบาลต่าง ๆ แล้ว หมอบริกส์ยังได้ให้ความสนใจกับท้องถิ่นเชียงรายอีกด้วย ท่านได้สร้างตึกหอพักนักเรียนชาย โรงเรียนเชียงรายวิทยาคม ชื่อเดิมในสมัยนั้น คือ โรงเรียนคริสเตียนวิทยาคม และโรงเรียนหญิง คือ โรงเรียนสตรีวิชาคาร ซึ่งเวลานั้นโรงเรียนชายหญิงได้แยกกัน ต่อมาภายหลังได้รวมกันเป็นสหศึกษาในยุคที่อาจารย์อมร ดวงเนตร เป็นอาจารย์ใหญ่

นอกจากหมอบริกส์ จะเป็นหมอรักษาโรคและหมอฟันแล้ว ท่านยังมีความรู้ในด้านก่อสร้าง เป็นนักการเมือง นักศึกษาและนักดนตรีอีกด้วย ยิ่งกว่าหมอบริกส์ยังเป็นนักสอนศาสนาที่เต็มไปด้วยความร้อนรน จริงจังและอ่อนไหวอยู่ในตัว ข้อความในคำเทศนา สาระสำคัญแห่งบทเทศน์ที่หมอบริกส์ชอบมากที่สุดคือ “การเสียสละ” โดยท่านได้ยกเรื่องที่พระเยซูเจ้าทรงสละพระชนม์ ยอมให้เขาตรึงไม้กางเขนเพื่อสละโลหิตชำระล้างกิเลสบาปของมนุษย์โลก เป็นหัวข้อเทศนาอุปนิสัยของหมอบริกส์ ท่านเป็นคนโกธรง่ายหายเร็ว บางครั้งท่านมีท่าทางขึงขันดุดัน ทว่าบางครั้งท่านก็เป็นคนอ่อนหวานเป็นสุภาพบุรุษตามแบบฉบับของคนอังกฤษ ด้วยบุคลิกที่สวมแว่นตาขอบทอง นัยตาลุกวาวเป็นประกายและมองจ้องหน้าเขม็งเพื่อพูดกับใคร ๆ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ชาวเชียงรายสมัยนั้นจึงให้สมญาท่านว่าเป็น “พ่อเลี้ยงตาดุ” ช่วงเวลาพักผ่อน หมอบริกส์จะชอบเล่นเทนนิส ท่านได้สร้างสนามเทนนิสขึ้นเป็นแห่งแรกในเชียงรายที่บริเวณบ้านพักริมน้ำแม่กก นอกจากนั้นท่านยังชอบถ่ายภาพมีกล้องถ่ายรูปขนาดใหญ่และสร้างห้องมืดสำหรับล้างฟิลม์ไว้ใต้ถุนบ้าน

โรงเรียนชายที่สร้างเป็นแห่งแรกชื่อว่า “โรงเรียนบริกส์อนุสรณ์” และสร้างตึกอีกหลังหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กันเรียกว่า “หอสวัสดี” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “เคเนดี้” ให้เป็นห้องประชุม นอกจากนั้นท่านยังได้สร้างที่พักมิชชั่นนารี ที่เรียกว่า “ตึกใต้” เช่น บ้านพักที่มิชชั่นนารี O.M.F. อาศัยอยู่ในปัจจุบัน บ้านพักผู้จัดการไร่ยาสูบ และที่ทำการภาคที่ 2 โบสถ์คริตสจักรที่ 1 เมื่อปี ค.ศ.1914 หมอบริกส์ ยังเป็นนายช่างออกแบบก่อสร้างสถานที่ราชการอื่น ๆ อีกหลายแห่ง เช่น ศาลากลางจังหวัด จวนผู้ว่าราชการและเรือนจำ นอกจากนั้นท่านยังได้ร่วมมือกับผู้ว่าราชการและเจ้าเมืองเชียงรายออกแบบวางผังเมือง ดำเนินการรื้อกำแพงเมืองเก่า ตัดถนนสายต่าง ๆ ในเขตเทศบาล จนมีชื่อถนนสายหนึ่งสร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์แก่ท่านชื่อ “ถนนบริกส์แพทย์”

เมื่อครั้งเกิดกบฏโจรเงี้ยว เข้ามาปล้นเมืองเชียงราย หมอบริกส์ได้ชักธงอังกฤษผืนใหญ่ขึ้นไว้ที่บ้านเป็นสัญญาณให้โจรเงี้ยวทราบว่า ที่นี่เป็นเมืองอังกฤษที่ปกครองพวกเงี้ยวอยู่ทำให้พวกโจรเหล่านั้นไม่กล้ายิงเข้ามา หลังจากที่ท่านได้ช่วงราชการในการปราบกบฏเงี้ยวแล้ว ทางกรุงเทพฯ จึงได้ส่งกองทหารขึ้นมาตั้งที่จังหวัดเชียงรายเป็นครั้งแรก โดยตั้งฐานประจำอยู่บนเนินเขาทุกลูกตั้งแต่ข้างบ้านหมอบริกส์ไปจนถึงดอยทอง จากนั้นทางกรมทหารจึงได้เชิญให้หมอบริกส์เข้าเป็นนายแพทย์ประจำกรมทหารที่เชียงราย ได้รับยศเป็นนายร้อยเอก

ต่อมาท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นกงสุลอังกฤษประจำเมืองเชียงราย ในปี ค.ศ.1894 (พ.ศ.2437) นายแพทย์วิลเลี่ยม เอ.บริกส์ ได้เปิดที่ทำการบำบัดโรคขึ้นที่จังหวัดแพร่เป็นคนแรก กิจการได้เจริญขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งได้กลายเป็นโรงพยาบาลแพร่คริสเตียนในปัจจุบัน ระหว่างปี ค.ศ.1913 – 1914 (พ.ศ.2456 – 2457) เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น หมอบริกส์ได้ส่งครอบครัวกลับไปสหรัฐอเมริกา ส่วนตัวของท่านยังคงพำนักอยู่ที่เชียงราย ต่อมาทราบว่าลูกชายคนโตชื่อ แอลเบิต บริกส์ ซึ่งเป็นนายทหารได้เสียชีวิตในสนามรบ ข่าวอันน่าสลดทำให้หมอบริกส์มีอาการโศกเศร้า ซึ่งขณะนั้นท่านมีโรคประจำตัวอยู่ก่อน เมื่อท่านเกษียณราชการลงจึงได้เดินทางกลับไปพักผ่อน ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาอันเป็นถิ่นฐานกำเนิดของท่าน

นายแพทยวิลเลี่ยม เอ.บริกส์ หรือ หมอบริกส์ นับเป็นผู้มีคุณูปการต่อวงการแพทย์ของประเทศและจังหวัดเชียงราย เป็นผู้หนึ่งซึ่งเป็นที่รักของประชาชนชาวเชียงรายในอดีต กว่า 100 ปีที่ท่านได้ทำผลงานให้กับจังหวัดเชียงราย จึงเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทอย่างสูงต่อการวางรากฐานทั้งการเมือง สังคม ศาสนาและการแพทย์ ซึ่งไม่อาจหาใครมาเทียบเคียง

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น