ไหว้เทพเจ้า เพื่อความเป็นสิริมงคล ณ ศาลเจ้าเชียงใหม่

เมื่อพูดถึง “เทศกาลตรุษจีน” หรือ “วันปีขึ้นใหม่จีน” ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญของชนชาวจีน เป็นวันที่ญาติ ๆ จะมารวมตัวกันเพื่อมาประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ด้วยกัน มีตั้งแต่การไหว้เจ้า การไหว้บรรพบุรุษ และนอกจากนี้ยังมีการแสดงการเชิดสิงโตที่ยังถือเป็นสีสันของเทศกาลนี้อีกด้วย และอีกหนึ่งความเชื่อ คือ การไปกราบไหว้ขอพรเทพเจ้า ที่ศาลเจ้า เพื่อความเป็นสิริมงคล

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมาพาทุกท่านไปรู้จักกับเทพเจ้าของจีน ที่เชื่อกันว่าหากไปกราบไหว้แล้วท่านจะนำความเป็นสิริมงคลและโชคลาภมาให้

ไฉ่ซิงเอี้ย

ไฉ่ซิงเอี้ย เทพเจ้าแห่งโชคลาภ นับเป็นเทพเจ้าที่ลูกหลานชาวจีนให้ความสำคัญมากที่สุด ในการเริ่มเข้าสู่ปีนักษัตรใหม่ ในช่วงตรุษจีน และจะได้รับการกราบไหว้เป็นเทพองค์แรก

โดยเชื่อว่า ไฉ่ซิงเอี้ย จะช่วยดลบันดาลความมั่งมีศรีสุข ร่ำรวยโชคลาภเงินทองไหลมาเทมา เปี่ยมล้นด้วยความสุขสถาพรแก่ตนเองและคนในครอบครัวไปตลอดทั้งปี

ชาวจีนเชื่อว่า องค์ไฉ่ซิงเอี้ย จะเสด็จมายังโลกมนุษย์เพียงปีละครั้ง คือ ในวันตรุษจีน ดังนั้นตั้งแต่โบราณ เมื่อเข้าสู่วันตรุษจีนชาวจีนจะทำการตั้งโต๊ะบูชาไฉ่ซิงเอี้ย โดยการหันหน้าไปทิศต่าง ๆ ที่เชื่อว่าไฉ่ซิงเอี้ยจะเสด็จลงมา ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละปี

โดยเทพที่ได้รับการนับถือว่าเป็นไฉ่ซิ้งเอี้ย มีด้วยกันหลายองค์ แต่องค์ที่ได้รับการบูชามากที่สุด คือ

  1. เจ้ากงหมิง เทพแห่งความสุจริตเที่ยงธรรม ซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ ถือเป็นเทพแห่งทรัพย์สินฝ่ายบู๊
  2. กวนอู เทพแห่งความซื่อตรง ผดุงความชอบธรรม ซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ ถือเป็นเทพแห่งทรัพย์สินฝ่ายบู๊
  3. ปี่กัน เทพความบริสุทธิ์ รักความถูกต้อง ซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ เป็นเทพแห่งทรัพย์สินฝ่ายบุ๋น
  4. ฟ่านหลี เทพแห่งปัญญาในการแสวงหาทรัพย์ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ เป็นเทพแห่งทรัพย์สินฝ่ายบุ๋น

พระยูไล

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือ พระพุทธเจ้า เป็นพระสมัญญานามที่ใช้เรียกพระบรมศาสดาของศาสนาพุทธ พระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน ต่างนับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นศาสดาของตนเหมือนกันแต่รายละเอียดปลีกย่อยต่างกัน ฝ่ายเถรวาทให้ความสำคัญกับพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันคือ “พระโคตมพุทธเจ้า” ซึ่งเชื่อว่าเป็นพระองค์ที่ 4 ในภัทรกัปนี้

และมีกล่าวถึงพระพุทธเจ้าในอดีตกับในอนาคตบ้างแต่ไม่ให้ความสำคัญเท่า ฝ่ายมหายานนับถือพระพุทธเจ้าของฝ่ายเถรวาททั้งหมดและเชื่อว่านอกจากพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ที่ระบุในพุทธวงศ์ของพระไตรปิฎกภาษาบาลีแล้ว ยังมีพระพุทธเจ้าอีกมากมายเพิ่มเติมขึ้นมาจากตำนานของเถรวาท

จี้กง

“จี้กง” หรือ “เต้าจี้ฉานซือ” เป็นพระภิกษุชาวจีน นิกายเซน สมัยราชวงศ์ซ่งใต้ พระเต้าจี้มีจิตใจดี ชอบช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ เช่น เจ็บป่วย หรือถูกรังแก จึงเป็นที่นับถือของประชาชน นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าท่านสามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ได้ และเชื่อว่าท่านเป็นพระนนทิมิตร หนึ่งในพระอรหันต์สิบแปดองค์กลับชาติมาเกิด

เห้งเจีย

“เห้งเจีย” เป็นเทพที่คนจีนนับถือสืบเนื่องกันตั้งแต่ครั้งโบราณ เพราะ เป็นผู้ประทานความสุข ในฐานะ ผู้กำจัด ปราบปรามปีศาจร้าย จึงนิยม บูชาจะทำให้เป็นผู้ปราศจากสิ่งชั่วร้ายรบกวนมีพลานามัยที่แข็งแรง มีสติปัญญาเป็นเลิศ เฉลียวฉลาด

เจ้าแม่จุ้ยบ้อเนี่ย

“จุ้ยบ้วยเนี้ย” หรือ “เจ้าแม่คงคา” ของจีน เป็นเทวนารีตามความเชื่อปรัมปราของจีน คนไทยรู้จักกันในนาม “เจ้าแม่ทับทิม” หรือ “แม่ย่านาง” เป็นเทวนารี ที่รู้จักและนิยมบูชาคู่กับเจ้าแม่สวรรค์ เป็นเทพเจ้าที่ได้รับความเคารพในหมู่ของชาวฮกเกี้ยน และ ชาวไหหลำ และชาวจีนโพ้นทะเล ที่ประกอบอาชีพเป็นชาวประมงที่เดินเรือ ชาวไทยมักเรียกและเข้าใจว่าเจ้าแม่ท้ายน้ำกับเจ้าสวรรค์เป็นองค์เดียวกัน ซึ่งตามความเชื่อของจีนแล้วเป็นคนละองค์กัน

เง็กเซียนฮ่องเต้

“เง็กเซียนฮ่องเต้” เป็นเทพเจ้าสูงสุดของจีน พระรูปปั้นและรูปวาดขององค์เง็กเซียนฮ่องเต้ จะทรงฉลองพระองค์เช่นเดียวกับฮ่องเต้ คือ มีพระมาลา ด้านหน้ามีเส้นร้อยไข่มุกเป็นแถวห้อยลงมาหน้าพระพักตร์ พระหัตถ์ทรงถือพระป้ายซือฮุดหน้าพระอุระ ด้านหลังมีพนักงานสองคนคอยโบกพัด ด้านหน้ามีองครักษ์สององค์ทั้งฝ่ายบู๊และฝ่ายบุ๋น พระองค์ทรงได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้าสูงสุดตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๔ เป็นต้นมา

หวี่วา

“หวี่วา” หรือ “หนึ่งออ” เป็นนางฟ้าในเทพปกรณัมจีน เป็นที่รู้จักว่าสร้างสรรค์มนุษยชาติและซ่อมกำแพงสวรรค์ (ท้องฟ้า) นอกจากนี้ ยังอาจนับเป็นประมุขคนที่สองของประเทศจีนด้วย

ฮก ลก ซิ่ว

ฮก ลก ซิ่ว เป็น 3 เทพเจ้าจีน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นมงคล 3 ประการของจีน แห่งการอวยพร ปัจจุบันนิยมสร้างเป็นเทวรูปประดับตั้งวางอยู่ภายในบ้าน

คนไทยส่วนมากรวมถึงคนจีนส่วนหนึ่งก็มักเข้าใจผิด คิดว่าเทพฮก คือเทพองค์กลางที่เป็นขุนนาง แท้จริงเทพฮกคือเทพองค์ที่อุ้มเด็ก เพราะคำว่า ลก หมายถึง ยศถาบรรดาศักดิ์ จึงหมายถึงเทพองค์กลางที่เป็นขุนนาง บางทีจะถูกวาดคู่กับกวาง เพราะในภาษาจีน คำว่ากวางพ้องเสียงกับคำว่า ยศถาบรรดาศักดิ์ ส่วนเทพฮกจะอุ้มเด็ก หมายถึงความสุขต่าง ๆ ในชีวิต พึงระวังการจำสับสนกัน

เจ้าแม่กวนอิม

“กวนอิม” หรือ “กวนอิน” พระโพธิสัตว์ ของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เป็นองค์เดียวกันกับ “พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์” ซึ่งมีต้นกำเนิดจากพระสูตรมหายานในอินเดีย และได้ผสมผสานกับตำนานเรื่องพระธิดาเมี่ยวซ่าน ซึ่งเป็นความเชื่อพื้นถิ่นดั้งเดิมของจีนจนก่อให้เกิดเป็นพระโพธิสัตว์กวนอิมในภาคสตรีขึ้น เพื่อแสดงออกถึงความอ่อนโยน และแสดงถึงความเมตตากรุณาให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ดังเช่นความรักของมารดาที่มีต่อบุตร

ทีตี่แป่บ้อ

“ทีตี่แป่บ้อ” หรือ “เทพยดาฟ้าดิน” ชาวจีนมีความเชื่อถือว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับโลกมนุษย์มาก่อนสิ่งอื่นสิ่ง ใด และมีความเชื่อว่า เมื่อสักการบูชาแล้วจะดลบัลดาลความร่มเย็นเป็นสุข บันดาลความอุดมสมบูรณ์ และเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองให้ปลอดภัยจากภัยพิบัติทั้งหลาย ทั้งปวงให้กับผู้ที่บูชา การบวงสรวงเทพยดาฟ้าดิน การสักการบูชาเทพต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับดิน น้ำ ลม ไฟ จะสามารถบันดาลความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร และความร่มเย็นเป็นสุข

สถานที่ไหว้เทพเจ้าในเชียงใหม่

  • ศาลเจ้ากวนอู

ศาลเจ้ากวนอู ใกล้กาดหลวง หรือ ตลาดวโรรส
ตั้งอยู่ที่ 90 ถนน วิชยานนท์ ตำบล ช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่ 50300

  • ศาลเจ้าปุงเถ้ากง

ศาลเจ้าปุงเถ่ากง เชียงใหม่ เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่มีอายุมากกว่า 136 ปี สร้างขึ้นจากแรงศรัทธาของเหล่า บรรพชนชาวจีนโพ้นทะเล มีสถาปัตยกรรมเป็นศิลปะจีนโบราณ
ตั้งอยู่ที่ 90 ถนน วิชยานนท์ ตำบล ช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่ 50300

  • ศาลเจ้าแม่กวนอิม

ตั้งอยู่ที่ 120/3 ถนน มหิดล  ตำบลป่าแดด เมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50100

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

ร่วมแสดงความคิดเห็น