“อุ้มผาง” อดีตเมืองหน้าด่านสู่เมืองท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

นานนับหลายสิบปีที่เมืองในโอบล้อมของขุนเขาอันไกลโพ้นนาม “อุ้มผาง” ถูกปิดกั้นด้วยทะเลภูเขาและกำแพงป่าไม้ นานนับหลายสิบปีอีกเช่นกันที่ผืนแผ่นดินแห่งนี้ถูกปกครองด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อถนนสายลอยฟ้าตัดเข้าไปถึงอุ้มผาง ความมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติที่ถูกซ้อนเร้นไว้มานานปีก็ถูกเปิดเผยพร้อม ๆ กับการมาของนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามายังเมืองเล็กที่เงียบสงบแต่อุดมด้วยธรรมชาติที่สวยงามยิ่ง

ตำนานผืนป่าตะวันตก ดินแดนแห่งแผ่นดินลอยฟ้าอันสมบูรณ์ด้วยธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพรเหล่านี้ได้หลอมละลายเป็นจิตวิญญาณแห่งอุ้มผาง ท้าทาย “นักเดินทาง” ให้เข้ามาท่องเที่ยวจนกระทั่งคณะกรรมการมรดกโลกขององค์การยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งทุ่งใหญ่นเรศวรซึ่งอยู่ในเขตอุ้มผางส่วนหนึ่งเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก

ย้อนหลังไปเมื่อร้อยกว่าปี พ.ศ.2432 อุ้มผางจัดเป็นเมืองหน้าด่านทางชายแดนตะวันตก ราชการกำหนดให้ขึ้นอยู่กับจังหวัดอุทัยธานีเป็นจุดตรวจตราชาวพม่าที่เดินทางเข้ามาค้าขายในราชอาณาจักรไทย โดยเจ้าหน้าที่ไทยจะคอยตรวจเอกสารเดินทาง เนื่องจากอุ้มผางมีภูมิประเทศเผ็นป่ารกชัฏ ชาวพม่าจึงนิยมนำเอกสารใส่ไว้ในกระบอกไม้ไผ่ ปิดฝามิดชิดป้องกันการฉีกขาดระหว่างการเดินทาง กระบอกไม้ไผ่ที่ใส่เอกสารนี้มีชื่อเรียกเป็นภาษากะเหรี่ยงว่า “อุ้มผะ” ซึ่งภายหลังเราเรียกเป็นอุ้มผาง อันเป็นที่มาของชื่ออำเภออุ้มผาง

พ.ศ.2469 ราชการได้ยุบอำเภอแม่กลองให้เป็นกิ่งอำเภอแม่กลองและโอนการปกครองจากจังหวัดอุทัยธานีไปขึ้นอยู่กับกำแพงเพชร พ.ศ.2499 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปอยู่ที่บ้านอุ้มผางพร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็นกิ่งอำเภออุ้มผาง ต่อมาปี 2502 ทางราชการได้มีพระราชกฤษฏีกายกฐานะจากกิ่งอำเภออุ้มผางขึ้นเป็นอำเภออุ้มผางอีกครั้งโดยให้ไปขึ้นต่อจังหวัดตากจนทุกวันนี้

ระหว่างปี พ.ศ.2500 – 2512 เป็นช่วงที่อุ้มผางอยู่ในเขตพื้นที่สีแดงมีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์อยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน การเดินทางจากอำเภอแม่สอดไปอำเภออุ้มผางจะต้องใช้รถจิ๊ปขับเคลื่อนสี่ล้อ โดยออกจากอำเภอแม่สอดขับไปจนถึงบ้านวาเล่ห์ อำเภอพบพระ จากนั้นต้องต่อด้วยการเดินเท้าเข้าเขตพม่าอีก 32 กิโลเมตรใช้เวลาเดินทาง 2 วัน สาเหตุที่ต้องเดินเข้าเขตพม่าเพราะว่าไม่มีเส้นทางเดินเท้าและทางรถยนต์ในเขตไทย จนในอดีตมีคำกล่าวว่าข้าราชการคนใดที่โดนย้ายมาประจำที่อุ้มผางถือว่าโชคร้ายที่สุด บางคนรู้ว่าต้องย้ายไปอุ้มผางถึงกับลาออกจากหน้าที่การงานเลย

ในช่วงปี พ.ศ.2514 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง ส่วนเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่รับผิดชอบพื้นที่ในขณะนั้นคือเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน ปี พ.ศ.2524 กองทัพภาคที่ 3 ได้นำนโยบาย 66/2523 โดยใช้การเมืองนำการทหาร เข้ามาตั้งศูนย์อำนวยการรวมพลเรือนตำรวจทหาร ใช้จิตวิทยาด้านการเมืองให้ประชาชนที่หลงผิดเข้าร่วมกันเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่ได้ผลสูงสุด เพราะนับตั้งแต่นั้นมาประชาชนผู้หลงผิดได้เริ่มทยอยกันเข้ามามอบตัวร่วมพัฒนาชาติไทย รวมทั้งกลุ่มม้งภายใต้การนำของนายจางเฮ่อ (สหายมงคล) จากตำบลแม่ละมุ้งและกลุ่มกะเหรี่ยงโดยการนำของสหายปองหละและสหายเลาเย มาจากตำบลแม่จัน รวมมวลชนที่เข้ามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยทั้งหมดประมาณสองพันกว่าคน

เมืองแห่งบ้านป่าชายแดนตะวันตกแห่งนี้เริ่มถูกเปิดขึ้นจากการที่ทางราชการได้ตัดถนนเข้าสู่อำเภออุ้มผาง ด้วยระยะทาง 164 กิโลเมตร ลัดเลาะไปตามสันเขาซึ่งต้องใช้เวลายาวนานจนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2526 และแล้วความเป็นเมืองปิดของอุ้มผางก็เหลือเพียงตำนาน อุ้มผางถูดเปิดขึ้นการสัญจรไปมาไม่ต้องรอนแรมเข้าป่าไป 3 วันอีกแล้ว ตราบใดที่หนทางมี ย่อมมีนักแสวงหาและนักสำรวจเสมอ !

ปี พ.ศ.2530 เมื่อนายแพทย์บรรลือ กองไชย ซึ่งท่านเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง ท่านได้แจ้งข่าวการพบน้ำตกขนาดใหญ่ให้กับนิตยสารแมกกาซีนแคมปิ้ง เข้ามาถ่ายภาพอันอลังการของมหาน้ำตกทีลอซูออกสู่สายตาประชาชน และนั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นของการท่องเที่ยวสู่อุ้มผางที่ใคร ๆ ก็อยากมาเห็นน้ำตกที่ใหญ่และสวยงามที่สุดในประเทศไทย

ผู้คนเดินทางเข้ามาเที่ยวอุ้มผางมากขึ้น ชาวบ้านที่เคยทำมาหากินกับอาชีพเกษตรกรรมเริ่มหันมาทำธุรกิจท่องเที่ยว มีการรวมกลุ่มสร้างมาตราฐานร่วมกันเพื่อช่วยกันดูแลปกป้องและใช้ทรัพยากรอย่างระมัดระวัง ดังจะเห็นจากรูปแบบของการล่องแก่งด้วยไม้ไผ่นั้นเปลี่ยนมาเป็นการล่องแพด้วยเรือยางแทน

ปัจจุบันอุ้มผางนับเป็นดินแดนที่มีธรรมชาติหลากหลาย มีน้ำตกที่ใหญ่และสวยที่สุดอย่าง ทีลอซู มีต้นน้ำแม่กลองที่ไหลรวมมาจากธารเล็กธารน้อย ความมหัศจรรย์ของผืนป่าแห่งอุ้มผางได้รับการยกย่องว่าเป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุด การท่องเที่ยวเยี่ยงสำนึกของ “คนเดินทาง” ในทุก ๆ ฝีก้าวของป่าอุ้มผางจึงต้องระแวดระวังเป็นที่สุดเพื่อทะนุถนอมผืนป่าแห่งนี้ให้เป็นหนึ่งในแหล่งธรรมชาติศึกษาที่สำคัญของไทย

บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น