“แผลร้อนใน” หมดปัญหา! อาการเจ็บปวดในช่องปาก

อาการเกิดแผลในปาก หรือที่เรียกว่า “ร้อนใน” ที่ใคร ๆ ก็ต้องพบเจอกับปัญหานี้ เพราะทำให้รับประทานอาหารไม่สะดวก

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะพาทุกคนมารู้จักกับ “แผลร้อนใน” ว่าคืออะไร อาการของร้อนในเป็นอย่างไร การเป็นร้อนในนั้นอันตรายมากแค่ไหน และมีวิธีป้องกันรักษาแผลร้อนในอย่างไร ให้ทุกคนได้รับทราบกันครับ

ร้อนใน คืออะไร?

ร้อนใน หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า แผลร้อนใน (Aphthous Ulcers) คือแผลที่มีขนาดเล็กและมีความตื้น สีของแผลจะมีสีเหลืองหรือขาวและล้อมรอบไปด้วยสีแดง แผลร้อนในจะเกิดที่บริเวณเนื้อเยื่ออ่อนภายในช่องปากหรือเหงือก ทั้งนี้ในบางรายก็อาจพบว่าแผลร้อนในเกิดขึ้นที่บริเวณด้านในริมฝีปาก แก้ม หรือลิ้น ส่งผลทำให้มีอาการเจ็บเมื่อมีการขยับปาก ไม่ว่าจะเป็นในช่วงรับประทานอาหารหรือกำลังพูดคุยก็ตาม

โดยปกติแล้ว อาการปวดแผลร้อนในจะหายได้เองโดยใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ซึ่งอาการจะสามารถหายไปเองโดยไม่ต้องรับการรักษาใด ๆ ทั้งนี้ก็มีวิธีบรรเทาอาการปวดของแผลร้อนในด้วยเช่นกัน และในส่วนของแผลร้อนในที่มีขนาดใหญ่และมีอาการปวดมากกว่าปกติ สังเกตดูแล้วไม่มีทีท่าว่าจะหายได้ กรณีแบบนี้แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อที่จะช่วยหาวิธีการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

สิ่งกระตุ้นที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดแผลร้อนใน มีดังนี้

1.ความเครียด ความกังวล และความเหนื่อยล้า รวมทั้งการมีอารมณ์ที่โมโหฉุนเฉียว ไม่ว่าจะเกิดจากการทำงาน เรื่องส่วนตัว เรื่องภายในครอบครัว รวมทั้งเครียดจากการอ่านหนังสือสอบ ล้วนเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดแผลร้อนในได้ เนื่องจากการศึกษาพบว่าการเกิดแผลร้อนในนั้นมีความสัมพันธ์กับอาชีพของผู้ป่วย รวมทั้งความวิตกกังวลด้วยเช่นกัน

2.ผู้ป่วยมีเวลาพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือมีพฤติกรรมการนอนดึกและนอนน้อย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุต้นๆ ของสิ่งที่มากระตุ้นทำให้เกิดแผลร้อนในได้

3.ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บภายในช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นที่เยื่อบุปากหรือลิ้นถูกกัดในขณะที่กำลังเคี้ยวอาหาร หรือแม้แต่ถูกแปรงสีฟันกระแทกจนได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งของแข็งไปกระทบในช่องปาก

4.ใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลทำให้เกิดแผลร้อนใน เช่น ยาแอสไพริน ยาต้านการอักเสบซึ่งไม่ใช่เสตียรอยด์ ยาอะเลนโดรเนตซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคกระดูกพรุน

5.ทานอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน เช่น ของมัน ของทอด เหล้า เบียร์ เนื้อติดมัน ของหวาน เบเกอรี่ ไอศกรีม และผลไม้ที่มีรสชาติหวานมากจนเกินไป

6.ทานอาหารรสจัด ไม่ว่าจะเป็นเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด หรือหวานจัด ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดแผลร้อนในได้

7.แพ้อาหารบางชนิด เช่น เนยแข็ง นมวัว ช็อกโกแลต กาแฟ โค้ก ของเผ็ด แป้งข้าวสาลี ผลไม้จำพวกส้ม

อาการของแผลร้อนใน

ในส่วนของอาการแผลร้อนในนั้น จะมีแผลที่เปื่อยและมีอาการเจ็บเกิดขึ้นในช่องปาก ซึ่งเป็นแผลที่เป็น ๆ หาย ๆ อยู่บ่อยครั้ง แต่แผลชนิดนี้ก็จะขึ้นเมื่อมีสิ่งมากระตุ้น ไม่ว่าจะเป็นความเครียด แพ้อาหาร กัดไปถูกปากตัวเอง ใช้ยาบางชนิด และมีประจำเดือน หรือบางครั้งก็อาจจะเป็นแผลขึ้นมาเองโดยไม่มีสาเหตุใดมากระตุ้นได้เหมือนกัน

แรกเริ่มของอาการ ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกเจ็บบริเวณตำแหน่งที่จะเกิดแผลร้อนใน จากนั้นจะมีรอยแดงและมีลักษณะกลมหรือเป็นวงรี อาการเหล่านี้จะแสดงออกก่อนที่จะมีแผลเปื่อยประมาณ 2-3 วัน และหลังจากนั้นแผลเปื่อยก็จะปรากฎขึ้นตรงบริเวณที่เป็นรอยแดงก่อนหน้า ขนาดของแผลร้อนในจะมีตั้งแต่ไม่กี่มิลลิเมตรไปจนถึงหลายเซนติเมตร นอกจากนี้แผลร้อนในที่เกิดขึ้นจะมีทั้งแผลเดียวและหลายแผลขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละคน

สำหรับอาการเจ็บแผลร้อนในจะเป็นมากในช่วง 2-3 วันแรก ซึ่งในช่วงนี้ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกปวดและแสบที่บริเวณแผลมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาทานอาหาร รวมทั้งช่วงที่กินอาหารรสชาติเผ็ดและเปรี้ยวจัด หากมีแผลที่มีขนาดใหญ่ก็อาจจะทำให้มีความรู้สึกเจ็บมากจนไม่สามารถกลืนหรือพูดได้อย่างสะดวกเหมือนปกติ เมื่อแผลเริ่มมีอาการดีขึ้นขนาดของแผลก็จะมีขนาดเล็กลง ซึ่งตามปกติแล้วผู้ป่วยจะไม่เป็นไข้ ไม่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต รวมทั้งไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมอยู่ด้วย แต่หากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว ควรรีบเข้ารับการตรวจเพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป

วิธีรักษาโรคแผลร้อนใน

1.บ้วนปากด้วยน้ำเกลือประมาณวันละ 2-3 ครั้ง โดยน้ำเกลือที่จะใช้ในการบ้วนปากนั้น ผู้ป่วยสามารถทำเองได้โดยผสมเกลือ 1 ช้อนชา ในน้ำ 1 แก้ว ซึ่งน้ำเกลือจะช่วยรักษาแผลร้อนในได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยทำให้ปากสะอาด และช่วยให้แบคทีเรียลดลงได้อีกด้วย

2.หากผู้ป่วยมีอาการปวดแผลร้อนในในขณะที่อมน้ำแข็งหรือดื่มน้ำเย็น ให้ทานยาพาราเซตามอลเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด แต่ในขณะเดียวกันโรคแผลร้อนในจะสามารถหายได้เองตามธรรมชาติ ดังนั้นผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาชนิดอื่นช่วยรักษาอาการปวดแต่อย่างใด

3.ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการให้แผลหายเร็ว หรืออาจมีอาการปวดที่รุนแรงจนเกินไป ให้ใช้ยาป้ายแผลวันละ 3-4 ครั้งต่อวัน จนกว่าแผลจะหาย

4.หากผู้ป่วยเกิดความสงสัยว่าแผลอาจเกิดการติดเชื้อก็อาจใช้ยาปฏิชีวนะช่วยในการรักษา

5.หากผู้ป่วยมีอาการเจ็บแผลร้อนในมากจนไม่สามารถทานอาหารและดื่มน้ำได้เป็นปกติ ก็ต้องให้อาหารและน้ำทางหลอดเลือดดำ ทั้งนี้ก็ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

6.ในส่วนของผู้หญิงที่มีประจำเดือน แผลร้อนในมักจะกำเริบ ดังนั้นจึงสามารถป้องกันได้ด้วยการกินยาคุมกำเนิด ในขณะเดียวกัน เมื่อมีการตั้งครรภ์อาการแผลร้อนในมักจะไม่กำเริบจนกว่าจะคลอด

วิธีป้องกันโรคแผลร้อนใน

-หมั่นดูแลสุขภาพและอนามัยภายในช่องปาก

-หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองในช่องปาก

-หมั่นดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ โดยดื่มเฉลี่ยวันละประมาณ 8-10 แก้ว

-ควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่ทำให้เกิดการระคายแผล เช่น อาหารทอด อาหารเผ็ด อาหารรสเปรี้ยวจัด เครื่องดื่มร้อน ๆ และผลไม้ที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น ส้ม และมะนาว

-แปรงฟันหลังทานอาหารแต่ละมื้อเป็นประจำ หรือใช้ไหมขัดฟันวันละครั้งก็จะสามารถช่วยทำให้ช่องปากสะอาด ไม่มีเศษอาหารหลงเหลือที่อาจไปกระตุ้นทำให้เกิดแผลร้อนใน ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของโซเดียม ลอริล ซัลเฟต อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่ง

สรูป
อาการร้อนใจที่เกิดขึ้นซึ่งก็มีหลากหลายสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิด แต่เมื่อเกิดแล้วย่อมทำให้รู้สึกเจ็บแสบหรือเจ็บปวดแผลไม่น้อยทีเดียว ดังนั้น การดูแลตนเองและศึกษาวิธีป้องกันไว้เพื่อปรับตัวก็ย่อมช่วยลดโอกาสในการเกิดแผลร้อนใน ในครั้งต่อไปลงได้แน่นอน

เรียบเรียงโดย : เชียงใหม่นิวส์
ภาพจาก : http://www.mamaexpert.com
อ้างอิงข้อมูลจาก : https://www.honestdocs.co

ร่วมแสดงความคิดเห็น