เรื่องของผม! ความสำคัญของเส้นผมต่อวิถีชีวิตในอดีต

เส้นผมมีความสำคัญต่อคนเรามาอย่างยาวนาน ไม่เพียงแค่มีประโยชน์ในการป้องกันหนังศีรษะไม่ให้สูญเสียความร้อนมากเกินไปเท่านั้น ยังมีค่านิยมและความเชื่อของไทยที่เกี่ยวกับผมคือ ให้เราสงวนศีรษะและเส้นผมของเราไว้เป็นพื้นที่พิเศษ เพราะเป็นจุดสูงสุดของร่างกาย คนไทยจึงเชื่อว่า ณ ที่นั้นเป็นศูนย์รวมของ “ขวัญ” และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องตัวเราจากอันตราย ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ควรให้ใครมาแตะต้องศีรษะหรือเส้นผม เพื่อให้ขวัญสถิตกับที่ ไม่กระจัดกระจายหายไปไหน นอกจากนี้เส้นผมยังมีบทบาทมากในทางประวัติศาสตร์โลก หรือแม้แต่ประวัติศาสตร์ของล้านนาเราเอง

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” มีสาระน่ารู้ เกี่ยวกับเรื่องเส้นผม มาให้ท่านผู้อ่านได้อ่านค่ะ

ขวัญคืออะไร?

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า “ขวัญ” ไว้ว่า สิ่งที่ไม่มีตัวตน เชื่อกันว่ามีอยู่ประจำชีวิตของคนตั้งแต่เกิดมา ถ้าขวัญอยู่กับตัวก็เป็นสิริมงคล เป็นสุขสบายจิตใจมั่นคง

ประวัติศาสตร์กับเส้นผม

1.วัฒนธรรมอเมริกันพื้นเมือง ทั้งชายและหญิงต่างไว้ผมยาว เพราะพวกเขาเชื่อว่าผมที่ยิ่งยาวยิ่งแสดงถึงความงอกงามทางจิตวิญญาณ เส้นผมไม่เพียงเชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับกับธรรมชาติและสิ่งเหนือธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังสัมพันธ์กับระบบประสาทและสัญชาติญาณ เล่ากันว่าสมัยสงครามเวียดนาม ชายหนุ่มอเมริกันพื้นเมืองที่มีทักษะในการรบถูกเกณฑ์ให้ไปออกรบด้วย เมื่อต้องเข้ากองทัพสหรัฐฯ พวกเขาต้องตัดผมสั้นเกรียนแบบทหาร เมื่อไร้ผมยาวฉันใด ชายหนุ่มเหล่านั้นก็กลายเป็นแมวที่ไร้หนวดฉันนั้น ทั้งหมดสูญสิ้นเสียกำลังใจและพลังในการต่อสู้และล้มเหลวในการปฏิบัติภารกิจโดยสิ้นเชิง

2.ชนพื้นเมืองของอเมริกันหลายเผ่า จะตัดผมเมื่อคนในครอบครัวเสียชีวิต เส้นผมที่ถูกตัดเป็นสัญลักษณ์ของวันเวลาที่พวกเขากับผู้วายชนม์มีร่วมกัน ผมที่จะยาวต่อจากนั้นเปรียบเสมือนชีวิตหลังการสูญเสียที่ต้องดำเนินต่อไป

3.ชาวอเมริกันพื้นเมือง มีความเชื่อที่ว่า เส้นผมคือบันทึกของความทรงจำ กล่าวง่าย ๆ คือ เส้นผม 1 เส้นแทนความทรงจำ 1 ความทรงจำ

4.ชาวตองกาจะตัดผมเมื่อบิดาหรือปู่เสียชีวิต

5.ธรรมเนียมจีน เมื่อคนในครอบครัวจากไป การไว้ทุกข์จะทำโดยไม่ตัดผมและหนวดเคราจนถึงเวลาออกทุกข์ ธรรมเนียมนี้อาจจะจำลองภาพผมเผ้าที่รุงรัง แสดงภาพความทุกข์ทนเมื่อบุคคลอันเป็นที่รักจากไป จนคนในครอบครัวละเลยมิได้ใส่ใจรักษาความเรียบร้อยและความสวยงามของตนเอง

6.ประเทศทางเอเชียใต้ (ประเทศอินเดีย ปากีสถาน เนปาลและบังกลาเทศ) รวมถึงประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย มีความเชื่อเรื่องเบญจกัลยาณี และการมีเรือนผมที่ดกดำสวยงาม ถือเป็นคุณสมบัติข้อแรกของผู้หญิงที่จะเป็นเบญจกัลยาณีได้

7.ประเทศไทยในอดีตหากพระเจ้าแผ่นดินหรือพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่เสด็จสวรรคต ราษฎรทั้งชายหญิงต้องโกนศีรษะถวายอาลัยทั้งแผ่นดิน เรียกว่า “ประเพณีโกนหัวไว้ทุกข์” โดยในนิทานคำกลอนเรื่อง “ลักษณวงศ์” ที่สุนทรภู่แต่งในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้กล่าวถึงธรรมเนียมนี้ไว้ด้วย และยังบรรยายความรู้สึกของราษฎรที่ถูกโกนผมไว้ว่า “ซังตายว่าข้าวิตกอกจะแตก เขาโกนแกรกใจหายเสียดายผม” ซึ่งประเพณีนี้ถูกยกเลิกในตอนที่รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต

8.“นาลิวัน” หรือพราหมณ์ที่อยู่ในริ้วกระบวนแห่พระศพหรือพระบรมศพตามราชประเพณีกรุงสยาม โดยปกติแล้วพราหมณ์จะรวบผมเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เสมอ เว้นแต่เมื่อผู้เป็นที่รักหรือบุคคลสำคัญสิ้นชีวิต พราหมณ์จะปล่อยผมยาวสยายแสดงความเศร้าเสียใจอย่างสุดซึ้ง ธรรมเนียมนี้ยังคงสืบทอดต่อมาดังที่เราเห็นในริ้วกระบวนพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9

9.พ.ศ.2451 พระราชชายา เจ้าดารารัศมี กราบบังคมทูลลากลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอนเป็นการชั่วคราว สมเด็จพระปิยมหาราชเสด็จไปส่งที่สถานีรถไฟสามเสน พระราชชายาฯ ถวายบังคมลา ด้วยการสยายพระเกศาออกเช็ดพระบาทของพระราชสวามี ตามประเพณีล้านนา

10.พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงเปลือยพระเกศาตามประเพณีของชาวเหนือ คือปล่อยพระเกศายาวมาจนถึงปลายผ้าซิ่นที่ทรงอยู่ ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต ซึ่งการปล่อยผมลักษณะดังกล่าวเป็นการแสดงความทุกข์โศกอันใหญ่หลวงตามประเพณีล้านนา

สรุป

เรื่องของเส้นผมมีความสำคัญต่อชีวิตคนเรามาเนิ่นนาน ดังที่ปรากฏในความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี และธรรมเนียม แม้ในปัจจุบันสิ่งเหล่านี้จะเลือนหายไปตามกาลเวลา แต่อย่างไรก็ตามเราก็ควรรักษาความสะอาดของเส้นผม และหนังศีรษะให้สะอาดอยู่สม่ำเสมอ ควรสระผมวันเว้นวัน หรืออย่างน้อยที่สุดคือสัปดาห์ละ 2 วัน

เรียบเรียงโดย: “เชียงใหม่นิวส์”
อ้างอิงข้อมูลจาก: readthecloud, นักรบ มูลมานัส
ขอบคุณภาพจาก: noknight และ citramalili

บทความที่เกี่ยวข้อง

10 ความเชื่อโบราณ ที่ไม่โบราณ ไม่เชื่ออย่าลบหลู่

ร่วมแสดงความคิดเห็น