“เชื้อไวรัส-แบคทีเรีย” ตัวร้ายที่ทำให้เกิดโรค!

คุณเคยสงสัยกันไหมว่า การที่เรากำลังนอนซมจากหวัดแล้วเชื้อโรคชนิดไหนที่ทำให้คุณป่วยอยู่หรือเปล่า แม้ว่าแบคทีเรียกับไวรัสจะทำให้คุณไม่สบายได้เหมือน ๆ กัน แต่แบคทีเรียกับไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะหลาย ๆ อย่างแตกต่างกันมาก

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมาบอกถึงความแตกต่างของ เชื้อไวรัส และ เชื้อแบคทีเรีย กันว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร

เชื้อไวรัสคืออะไร ?

ไวรัส (Virus) เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กที่สุดและเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ซับซ้อนที่สุด ไวรัสมีขนาดเล็กกว่าแบคทีเรีย 10-100 เท่า ขนาดของไวรัสเท่ากับ 20 ถึง 300 นาโนเมตร และสามารถทำให้เกิดโรค การติดเชื้อไวรัส หรือ โรคติดเชื้อไวรัสในคนได้หลายโรค

ในร่างกายของเรายังมีไวรัสดีอีกด้วย เช่น แบคเทอริโอฟาจ ซึ่งอาศัยอยู่กับเซลล์แบคทีเรียและฆ่าเซลล์ไม่ดี นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยลได้ออกแบบไวรัสเพื่อรักษาเนื้องอกในสมองได้ ไวรัสส่วนมากยังไม่ได้รับการรับรองว่าเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ โดยปกติแล้วจะเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์เสียมากกว่า

ไวรัสติดต่อได้อย่างไร ?

ไวรัสสามารถติดต่อเข้าสู่ร่างกายได้ตามทางต่อไปนี้

  1. ทางการหายใจ เช่น ไวรัสโรคหวัดธรรมดา ไวรัสโรคไข้หวัดใหญ่ ไวรัสโรคไข้หวัดนก ไวรัสที่ทำให้เกิดปอดอักเสบ ไวรัสโรคหัด จะติดต่อทางลมหายใจ ไอ จาม รดกัน การจูบกับคนที่เป็นโรค โดยไวรัสจะอยู่ในเซลล์ที่ปะปนออกมากับน้ำมูกน้ำลายที่ผู้ป่วยปล่อยออกมา
  2. ทางเลือด เช่น โรคเอดส์ โรคไวรัสตับอักเสบทุกชนิด เช่น ได้รับเลือดที่มีเชื้อจากการรับเลือด ถูกเข็มฉีดยาที่เปื้อนเลือดผู้ป่วยแทงที่ผิวหนัง เลือดที่มีเชื้อไวรัสเข้าปาก เป็นต้น
  3. ทางการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่เป็นโรคหรือเป็นพาหะโรค (Carrier) ของเชื้อไวรัส เช่น โรคเอดส์ โรคหูดหงอนไก่ ซึ่งมีสาเหตุมาจากไวรัส HPV เช่น การติดเชื้อ HPV อวัยวะเพศหญิง โรคเริมอวัยวะเพศ ซึ่งมีสาเหตุจาก ไวรัสเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ชนิดที่ 2 (Herpes simplex virus type 2)
  4. ทางการตั้งครรภ์โดยเชื้อไวรัสแพร่จากแม่ไปสู่ลูก เช่น เชื้อไวรัส HIV เชื้อไวรัสตับอักเสบ เชื้อไวรัส CMV โรคหัดเยอรมัน
  5. ทางการสัมผัสทางผิวหนังโดยตรง เช่น ไวรัสโรคอีสุกอีใส โรคไข้ทรพิษ
  6. ทางการถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด เช่น ไวรัสโรคกลัวน้ำ หรือ โรคพิษสุนัขบ้า สามารถเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลที่ถูก สุนัข แมว ค้างคาวกัด เป็นต้น
  7. เข้าทางตา เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคตาแดงจากไวรัส (Viral conjunctivitis)
  8. ทางยุงกัด เช่น ไวรัสสมองอักเสบ ไวรัสโรคไข้เลือดออกเด็งกี่ (Dengue hemorrhagic fever) ที่พบอยู่เสมอในประเทศไทย
  9. เข้าทางปาก เช่น ไวรัสโรต้า หรือ โรคท้องร่วงจากไวรัสโรตา (Rota virus) ซึ่งทำให้เกิดโรคท้องร่วง หรือ ท้องเสีย (Diarrhea) และไวรัสโปลิโอ (Polio virus) ที่ทำให้เกิดโรคแขนขาลีบ หรือ โรคโปลิโอ เป็นต้น

โรคที่พบบ่อยที่เกิดจากเชื้อไวรัส

โรคติดเชื้อไวรัสที่พบได้บ่อย เช่น

  • โรคหวัดธรรมดา โรคไข้หวัดใหญ่
  • โรคหัด โรคคางทูม โรคอีสุกอีใส โรคโปลิโอ โรคหัดเยอรมัน และโรคไข้เลือดออก
  • โรคพิษสุนัขบ้า โรคไข้สมองอักเสบ โรคไข้ทรพิษ
  • โรคเริม โรคงูสวัด โรคไวรัสตับอักเสบ โรคตาแดงจากไวรัส
  • โรคเอดส์

การรักษาโรคไวรัส

  • การรักษาหลักของโรคติดเชื้อไวรัส คือ การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอ การดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ กินยาลดไข้ ยาแก้ปวด เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคเกิดขึ้น ซึ่งจะกำจัดไวรัสได้เอง
  • ยาปฏิชีวนะฆ่าไวรัสไม่ได้ ฆ่าได้แต่แบคทีเรีย ดังนั้น จึงไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรคติดเชื้อไวรัส ยกเว้น มีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้อน เช่น เป็นโรคหวัด และมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้อนก่อให้เกิดไซนัสอักเสบ เป็นต้น

การดูแลตนเองเมื่อติดเชื้อไวรัส

การดูแลตนเองเมื่อติดเชื้อไวรัสที่สำคัญ คือ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียซ้อน และลดการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น รวมทั้งการไม่คลุกคลีกับผู้อื่น นอกจากนั้น คือ

  1. พักผ่อนให้เพียงพอ
  2. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล
  3. กินยา หรือ ใช้ยาที่แพทย์แนะนำให้ถูกต้องครบถ้วน ไม่ขาดยา
  4. เมื่อมีไข้ ควรต้องหยุดงาน หยุดเรียนจนกว่าไข้จะลงอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพราะช่วงมีไข้มักเป็นช่วงแพร่กระจายเชื้อได้สูง
  5. ใช้หน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการไอ
  6. ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ วันละอย่างน้อย 8-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
  7. กินอาหารอ่อน
  8. พบแพทย์ตามนัด หรือ หากอาการไม่ดีขึ้น หากมีอาการทางสมอง เช่น ปวดศีรษะมาก แขนขาอ่อนแรง กล้ามเนื้อไม่มีแรง คอแข็ง สับสน ซึม ชัก หรือมีอาการทางการหายใจ เช่น หายใจลำบาก หอบเหนื่อย ให้รีบพบแพทย์โดยด่วน

เชื้อแบคทีเรียคืออะไร ?

แบคทีเรีย ถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็ก สามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ธรรมดา ที่มีกำลังขยายเท่า แบคทีเรียมีอยู่ทั่วไปทั้งภายนอก และภายในร่างกาย แบคทีเรียที่มีอันตราย เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ทางบาดแผล หรือเข้าไปพร้อมกับอาหารที่เรารับประทานเข้าไป หรือเข้าไปกับอากาศที่เราหายใจเข้าไป แล้วแบคทีเรียเจริญเติบโตมีปริมาณมากขึ้น จนทำให้เกิดโรคติดเชื้อขึ้นได้ เช่น แผลเป็นหนอง อุจจาระร่วงจากอาหารเป็นพิษ หรือโรคปอดบวม หรือปอดอักเสบติดเชื้อ เป็นต้น

แบคทีเรียติดต่อได้อย่างไร ?

โรคจากแบคทีเรียเป็นโรคติดต่อ เราสามารถติดเชื้อแบคทีเรียได้หลายทาง ได้แก่

  1. ทางการหายใจ โดยหายใจเอาเชื้อแบคทีเรียในอากาศเข้าไป ในทางเดินหายใจและปอดของเรา เช่น การติดเชื้อวัณโรค การอยู่ใกล้ชิดกับคนที่มีเชื้อแบคทีเรียในทางเดินหายใจ ไอ จาม หรือจูบปากสามารถนำไปสู่การติดเชื้อได้
  2. ทางการกินอาหารและดื่มน้ำที่มีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน เช่น โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด โรคท้องร่วง (ท้องเสีย) โรคไทฟอยด์ และอหิวาตกโรค เป็นต้น
  3. ทางการสัมผัสผิวหนังของคนที่เป็นโรค เช่น โรคเรื้อน
  4. ทางการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีการป้องกัน เช่น โรคหนองในและโรคแผลริมอ่อน
  5. ทางการเป็นแผลที่สัมผัสกับดิน มีดบาดโดยมีดสกปรก แบคทีเรียในสิ่งแวดล้อมเข้าทางบาดแผลที่ผิวหนังเกิดการอักเสบเป็นหนองตามมา
  6. ทางฟันผุ ฟันที่ผุเป็นที่อยู่อาศัยของเชื้อแบคทีเรียได้ดี และอาจเข้าสู่กระแสเลือดทางฟันที่ผุนั้น จากนั้นแบคทีเรียจะไปเกาะติดที่ลิ้นหัวใจทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียที่ลิ้นหัวใจได้ (Infective endocarditis)
  7. จากการทำแท้งที่ไม่สะอาด การทำแท้งโดยขูดมดลูกด้วยเครื่องมือที่สกปรกมีเชื้อแบคทีเรียปะปน สามารถเกิดการติดเชื้อรุนแรงในโพรงมดลูกได้และมักรุนแรงถึงต้องตัดมดลูก หรือ เป็นอันตรายถึงชีวิต
  8. จากการสักผิวหนัง แกะสิว เจาะหู แคะหู ตัดเล็บ ทำเล็บโดยใช้เครื่องมือไม่สะอาด มีเชื้อแบคทีเรียปะปน เกิดการอักเสบเป็นหนองตามตำแหน่งเหล่านั้นได้
  9. จากการใช้เข็มฉีดยาสกปรก ฉีดเข้าหลอดเลือดเช่น ฉีดยาเสพติด เชื้อแบคทีเรียที่เข้าหลอดเลือดนั้นสามารถไปเกาะที่ลิ้นหัวใจทำให้เกิดโรคลิ้นหัวใจอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียได้
  10. จากเชื้อไชเข้าทางผิวหนังโดยตรง เช่น โรคฉี่หนู (Leptospirosis) ซึ่งมักอยู่ตามพื้น ดินในนาข้าว สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ถ้าเดินในนาโดยไม่สวมใส่รองเท้า

โรคที่พบบ่อยจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

โรคจากติดเชื้อแบคทีเรียมีเป็นจำนวนมากมาย ที่พบบ่อยในบ้านเรา ได้แก่

  • อหิวาตกโรค
  • โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ
  • โรคไอกรน
  • โรคบาดทะยัก
  • โรคฉี่หนู
  • โรคไทฟอยด์
  • วัณโรค
  • โรคต่อมทอนซิลอักเสบ
  • โรคหูส่วนกลางอักเสบเป็นหนอง
  • โรคไส้ติ่งอักเสบ
  • โรคหนองใน

อาการเมื่อติดเชื้อแบคทีเรีย

อาการพบบ่อยจากติดเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่

  1. มีไข้ เป็นอาการสำคัญที่สุด ที่มักจะเกิดขึ้นในการติดเชื้อแบคทีเรียเกือบทุกชนิด ลักษณะการเกิดไข้จะแตกต่างกันไปในแต่ละโรคและแต่ละชนิดของเชื้อแบคทีเรีย
  2. หนอง มักเกิดในการติดเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด ลักษณะของหนองอาจเกิดที่แผลมีหนองไหลออกมา หรือเป็นฝี หรือมีน้ำมูก หรือเสมหะสีเขียวข้นหรือเหลือง ก็เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแล้วทั้งสิ้น ตัวอย่างเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง ได้แก่ สเตรปโตคอคคัส (Streptococcus) และ สแตฟิโลคอคคัส (Staphylococcus) เป็นต้น
  3. อาการปวดเจ็บ ในบริเวณที่มีการติดเชื้อ เช่น ปวดท้องน้อยด้านขวาในโรคไส้ติ่งอักเสบ
  4. อาการบวม จากการติดเชื้อเกิดได้ทั้งอวัยวะภายนอก เช่น ผิวหนังบวมและปวด หรืออวัยวะภายในบวมเช่น ปอดที่ติดเชื้อแบคทีเรียจะบวมใหญ่ เรียกว่า โรคปอดบวม

การรักษาโรคจากติดเชื้อแบคทีเรีย

วิธีรักษาโรคจากติดเชื้อแบคทีเรียมี 4 วิธี ได้แก่

  1. ยาปฏิชีวนะ การรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียส่วนใหญ่ จะใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อฆ่าทำลายเชื้อโรค เป็นวิธีสำคัญที่สุด
  2. การรักษาโดยการผ่าตัด เช่น กรณีเกิดฝี (Abscess) การรักษาจำเป็นต้องผ่าฝีด้วย
  3. การรักษาโดยการให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น โรคบาดทะยัก เมื่อผู้ป่วยเป็นบาดทะยักแล้วการให้น้ำเหลืองที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานที่เรียกว่า เซรุ่ม (Serum) ซึ่งอาจผลิตจากสัตว์ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคนั้น ๆ หรือ โดยวิธีทางการเพาะเลี้ยงเซลล์ จะสามารถยับยั้งพิษของเชื้อโรคบาดทะยักต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อได้ รวมทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักที่เรียก ว่า Tetanus toxoid ก็เป็นวิธีกระตุ้นให้ร่างกายของผู้ป่วยสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานที่เรียกว่า สารภูมิต้านทาน หรือ แอนติบอดี (Antibody) ต่อเชื้อบาดทะยักได้ด้วยตนเองอีกทางหนึ่ง
  4. การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น รักษาอาการไข้ด้วยยาลดไข้พาราเซตามอล หรือ การให้สารน้ำทางหลอดเลือดเมื่อผู้ป่วยกินได้น้อย เป็นต้น

ความรุนแรงจากโรคติดเชื้อแบคทีเรีย

โรคจากแบคทีเรียถือว่าเป็นโรครุนแรง เพราะมีความสามารถที่จะแพร่กระจายทางหลอดน้ำเหลืองและทางหลอดเลือดไปในอวัยวะอื่น ๆ หรือทั่วร่างกายได้ จนเมื่อรุนแรงที่สุดสามารถทำให้เสียชีวิตได้

สิ่งที่จะกำหนดความรุนแรงในการติดเชื้อแบคทีเรียในผู้ป่วยแต่ละคนขึ้นอยู่กับสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  1. ชนิดของเชื้อแบคทีเรีย ว่าเป็นชนิดใด มีความสามารถในการสร้างสารพิษหรือไม่ ถ้าเป็นแบคทีเรียที่สร้างสารพิษได้ โรคจะรุนแรงมากกว่า อีกกรณีหนึ่ง ถ้าเชื้อพัฒนาตนเองจนสามารถทนต่อยาปฏิชีวนะได้ หรือที่เรียกว่า เชื้อดื้อยา จะรักษายากกว่าเชื้อที่ไม่ดื้อยา โรคจะลุก ลามรุนแรงได้
  2. ติดเชื้อที่อวัยวะ ถ้าเกิดการติดเชื้อที่อวัยวะสำคัญ เช่น สมอง ลิ้นหัวใจ ปอด ไต ตับ ตา หรือ กระดูก โรคมักจะรุนแรงและทำให้เกิดความเสียหาย หรือความพิการของอวัยวะนั้น ๆ มากกว่าอวัยวะอื่น ๆ แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อที่ผิวหนัง ฟัน ช่องปาก ต่อมทอนซิล อาการจะไม่รุนแรงมาก และสามารถรักษาให้หายได้ง่ายกว่า
  3. การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายของผู้ป่วยเป็นอย่างไร ถ้าผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต้านทานต่อเชื้อนั้นอยู่แล้ว จะทำให้ทำลายเชื้อโรคได้เร็วขึ้น แต่ถ้าผู้ป่วยมีการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานไม่ดี หรือบกพร่อง เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคติดเชื้อHIV หรือ โรคเอดส์ หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกันต้านทาน เช่น ยาพวกสเตียรอยด์ ยาสารเคมีรักษาโรคมะเร็งในเด็กอ่อน หรือในผู้สูงอายุ เหล่านี้ จะทำให้ร่างกายไม่สามารถต้านทานหรือต่อสู้กับเชื้อโรคได้ดี โรคจึงรุนแรงมากกว่าคนปกติ

การป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย

ป้องกันติดเชื้อแบคทีเรียได้โดย

  1. รักษาความสะอาดส่วนบุคคล เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในการป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น การล้างมือฟอกสบู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง จะป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียที่ติดจากมือที่สกปรกเข้าทางปากได้ ล้างมือหลังอุจจาระ และปัสสาวะทุกครั้ง อาบน้ำให้ร่างกายสะอาดทุกวัน เลือกดื่มน้ำและรับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกแล้ว เพราะอาหารที่ปรุงไม่สุกอาจจะมีเชื้อแบคทีเรียปะปนมาได้
  2. รู้จักป้องกันตนเองจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อ เช่น ใช้หน้ากากอนามัย ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น
  3. รักษาสิ่งแวดล้อม บ้านเรือนให้สะอาด อย่าให้เป็นที่สะสมและเพาะเชื้อแบคทีเรียได้
  4. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ เช่น ไม่กลั้นปัสสาวะเพื่อป้องกันการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ ไม่กินยากดภูมิต้านทานโดยไม่จำเป็น เช่น ยาพวกสเตียรอยด์ ที่ผสมในยาชุดหรือยาลูกกลอน ถ้ามีโรคประจำตัวที่ทำให้ติดเชื้อง่าย เช่น โรคเบาหวาน ก็ควรทานยาควบคุมน้ำตาลอย่าให้ขาด เพราะการมีน้ำตาลในเลือดสูงจะทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย
  5. ฉีดวัคซีนป้องกันโรค ที่มีวัคซีนป้องกันตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล และกระทรวงสาธารณสุข เช่น วัคซีนป้องกันโรคไอกรน และวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก เป็นต้น

สรุป

หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าการใช้ยาปฏิชีวนะสามารถรักษาได้ทั้งการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย แต่จริง ๆ แล้ว การติดเชื้อไวรัสส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาตามอาการในระหว่างที่ระบบภูมิคุ้มกันกำลังกำจัดเชื้อโรค หรืออาจใช้ยาต้านเชื้อไวรัส

ส่วนการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยปกติแล้วจะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะในกลุ่มหลัก ซึ่งจำเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยา เกิดการติดเชื้อและเชื้อแพร่กระจายได้ง่าย หรืออาจไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะชนิดนั้น ๆ ได้ในการรักษาภาวะติดเชื้อแบคทีเรียครั้งต่อไป

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น