ดินแดนแห่งทะเลขุนเขา วิถีชาวละว้า และงานหัตถกรรม “ผ้าทอขนแกะบ้านห้วยห้อม”

วันนี้ เชียงใหม่นิวส์ จะพาเที่ยวหมู่บ้านเล็กๆ โอบล้อมของขุนเขาดำเนินวิถีชีวิตตามหลัก “ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง” พื้นเป็นป่าเขา ต้นน้ำลำน้ำแม่ลาน้อย มีอากาศเย็นสบายตลอดปี เหมาะสำหรับเลี้ยงแกะพันธุ์ต้องการอากาศหนาว ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือทำนา ปลูกข้าวขั้นบันได ปลูกกาแฟ และงานหัตถกรรมผ้าทอขนแกะ ที่เราเดินทางร่วมเรียนรู้

บ้านห้วยห้อม ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ยวมฝั่งซ้าย บนระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลที่ 1,000-1,300 เมตร แหล่งน้ำธรรมชาติถึง 4 สาย อาทิ ลำห้วยซะหย่าโกร๊ะ ห้วยบาโกร๊ะ ห้วยหนูโก๊ะ และห้วยซิติโกร๊ะ งานหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อ “ผ้าฝ้ายทอผสมขนแกะบ้านห้วยห้อม” หมายถึง ผ้าทอมือที่ใช้เส้นฝ้ายป็นเส้นยืน และด้ายปั่นจากขนแกะเป็นเส้นพุ่งทอขึ้นตามวิธีการทอแบบโบราณของสตรีชาวละว้า

ผ้าทอขนแกะได้เริ่มต้นเมื่อ ปี 2500 เมื่อมิชชันนารีที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ได้เห็นว่าการทอผ้าตามประเพณีดั้งเดิม ซึ่งใช้ฝ้ายพื้นเมืองที่ปลูกกันเองปั่นเป้นเส้นด้ายทอผ้า จึงได้นำความรู้เกี่ยวกับการใช้ขนแกะทำเป็นเส้นด้ายสำหรับทอผ้ามาสอนให้แก่ชาวบ้าน ตั้งแต่เทคนิคการหวีขนแกะ ปั่นเป้นเส้นด้าย จนกระทั้งทอเป็นผืนผ้า

ต่อมาในปี 2538 เมื่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริส่งเสริมให้ชาวบ้านมีอาชีพเสริมคือ “การทำผ้าทอขนแกะ” ได้พระราชทานให้ความช่วยเหลือด้านการปรับปรุงสายพันธุ์ โดยทรงโปรดฯให้เจ้าหน้าที่นำพ่อแกะพันธุ์ที่เลี้ยงไว้เพื่อตัดขนโดยเฉพาะ ซึ่งนำมาจากออสเตรเลีย มาทำการผสมพันธุ์กับแกะพันธุ์พื้นเมืองจนได้ลูกแกะพันธุ์ตัดขนที่ชอบอากาศหนาวเย็น เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศจังหวัดแม่ฮ่องสอน

มีการจัดตั้งกลุ่มสตรีทอผ้าขนแกะบ้านห้วยห้อมขึ้นมาการผลิตผ้าฝ้ายทอผสมขนแกะ เป็นการผสมผสานจุดเด่นของฝ้ายและขนแกะเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว “ขนแกะ” คุณสมบัติให้ความยืดหยุ่น อบอุ่น ส่วน “ฝ้าย” ให้ความเบาและเย็นสบาย ทำให้ได้ผ้าที่สวมใส่ได้ในทุกฤดูกาลตลอดปี สีสันของผ้าหนักเบาอยู่ในผ้าผืนเดียวกัน ลวดลายอันมีเอกลักษณ์ของผ้าทอขนแกะบ้านห้วยห้อม เช่น ลายลูกแก้วตาใหญ่ ลายลูกแก้วตาเล็ก ลายดอกเข็ม ลายดอกเข็มคู่ ลายคอนกพิราบ ลายข้าวโพด ลายซิกแซก ลายกากบาทผสมลายสี่เหลี่ยม ลายบันได และลายประยุกต์ต่างๆ เช่น ผ้าพันคอ ผ้าคลุ่มไหล่ ผ้าตัดเสื้อ ย่าม และผ้าคลุมโต๊ะ

กระบวนการในการทอผ้าขนแกะ จะเริ่มตัดขนแกะระหว่าง เดือนมีนาคม ถึง เมษายน ของทุกปี จะเป็นช่วงอากาศร้อน ทำให้การตัดขนทั้ง 2 พันธุ์ ถ้าเป็นพันธุ์บอนด์ จะให้ขนประมาณ 4.5-5.5 กิโลกรัมต่อตัวต่อปี จากนั้นทำความสะอาด ล้างทำความสะอาดเบื้องต้นโดยใช้ผงซักฟอกหรือแชมพู แล้วนำไปตากให้แห้ง 2-3 วัน ทำให้ฟูละเอียด(ปี่เค) โดยการนำขนแกะแห้งมาตัดแต่งเลือกเอาเศษหนัง เศษผง หรือเศษหญ้า ที่หลงเหลือออกให้หมด หลังจากนั้นดึงยืดเพื่อให้มีความนุ่ม และใช้แปรงหวี(พลือออ)จนแกะให้ฟูละเอียด แล้วปั่นเป็นเส้น(เล่โซ่ฉู่) นำขนที่แปรงจนฟู แล้วมาปั่นเป็นเส้นยาว โดยนำเส้นด้ายไปทอผ้าอาจจะทอผสมกับเส้นด้ายจากฝ้าย นำแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ

คุณมะลิวัลย์ นักรบไพร ประธานกลุ่มผ้าทอขนแกะบ้านห้วยห้อมเล่าว่า “ ผลิตภัณฑ์ผ้าทอที่ได้มีทั้งผ้าทอที่ทอจากขนแกะล้วนๆ และผ้าทอที่ผสมผสานระหว่างขนแกะ และเส้นฝ้ายที่ผ่านการย้อมสีธรรมชาติ โดยใช้ด้ายยืนเป็นเส้นด้ายจากฝ้าย ส่วนด้ายพุ่งเป็นเส้นด้ายจากขนแกะ ส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์นิยม เป็นผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าคลุมเตียง หรือผ้าปูโต๊ะ สามารถทำรายจำหน่ายทั้งในต่างประเทศและต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย ถือเป็นรายได้หลักของสตรีในหมู่บ้าน ” “ความสุขของชีวิต…ที่ได้สะท้อนลงผืนผ้าที่ผ่านการรังสรรค์ ทักทอด้วยลวดลาย สีสัน และเส้นฝ้ายอันงดงาม”

การเดินทาง

จากตัวเมืองชียงใหม่ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 108 สายเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ผ่านแม่สะเรียง มุ่งหน้าอำเภอแม่ลาน้อย ถึง กม.132 ให้เลี้ยวขวาไปตาม เส้นทาง 1266 ขึ้นดอยอีก 30 กิโลเมตร รถทุกชนิกสามารถสัญจรได้ เส้นทางเป็นถนนคอนกรีต

ร่วมแสดงความคิดเห็น