หละปูนเมื่อตะวา

ลำพูน เมืองเล็ก ๆ แต่แฝงไว้ด้วยวัฒนธรรมมายาวนานหลายร้อยปี เมืองแห่งนี้มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจและเป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งในอาณาจักรล้านนา เมืองลำพูน ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1439 ถือได้ว่าเป็นเมืองที่ตั้งขึ้นก่อนเมืองอื่นในอาณาจักรล้านนา หลายร้อยปีที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นกับเมืองแห่งนี้ วิถีชีวิต ผู้คน และการเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นกับนครโบราณแห่งนี้ครั้งแล้วครั้งเล่ากลุ่มพ่อค้าคหบดีย่านการค้าปากบ่องลำพูน

กลุ่มผู้ทรงอำนาจทางการค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่กุมเศรษฐกิจของเมืองลำพูนช่วงรัตนโกสินทร์ หาได้เป็นพ่อค้าชาวจีนไม่ แต่เป็นพ่อค้าไทใหญ่หรือเงี้ยวมีเอกสารบันทึกของเจ้าหลวงบุญมาเจ้านครลำพูน พ.ศ. 2371 ได้มีหนังสือไปถึงข้าหลวงอังกฤษที่มะละแหม่งเชื้อเชิญให้ข้า
ราชการอังกฤษเดินทางมายังเมืองลำพูน และในปี พ.ศ. 2372 Dr. Richardson พร้อมด้วยพ่อค้าไทใหญ่ 12 คนเดินทางมาซื้อโค กระบือที่เมืองลำพูน เพื่อนำไปเป็นเสบียงเลี้ยงกองทัพอังกฤษที่มะละแหม่ง

เนื่องจากขณะนั้นที่มะละแหม่งเกิดโรคระบาดในสัตว์ และจากการค้าครั้งนั้น Dr. Richardson ได้เข้ามาซื้อสินค้าในเมืองลำพูนอีกหลายครั้งและมีพ่อค้าไทใหญ่เริ่มมาทำการค้าในเมืองลำพูนตั้งแต่ครั้งนั้น กลุ่มพ่อค้าไทใหญ่ได้ตั้งร้านค้าอยู่บนถนนเส้นหลักของเมือง คือ ถนนอินทยงยศ อีกทั้งมีบริษัทค้าไม้บอมเบย์เบอร์ม่ามาตั้งริมแม่น้ำกวงฝั่งตรงข้ามวัดพระธาตุหริภุญชัย โดยมากผู้ดูแล เจ้าหน้าที่บัญชี และพนักงานที่ทำงานในบริษัทนี้เป็นชาวไทใหญ่ จนทำให้เกิดวัดที่เป็นศูนย์กลางของการทำบุญของชาวไทใหญ่ได้แก่ วัดมัณฑะเลย์(วัดสุพรรณรังษี) ซึ่งอยู่ติดกับวัดพระธาตุหริภุญชัยฯ ของตระกูลอินตานนท์

ผ้าซิ่นเมืองลำพูน ผ้านุ่งหรือผ้าซิ่นของเจ้าหญิงเมืองลำพูนและเจ้านาย (หญิง) เมืองลำพูนนั้นเป็นอย่างไร รูปเจ้าหญิงเมืองลำพูนและเจ้านาย (หญิง) เมืองลำพูนทั้งหมดถูกถ่ายไว้ในช่วงเจ้าหลวงอินทยงยศโชติเจ้าหลวงนครลำพูน องค์ที่ 9 ถึง เจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์เจ้าหลวงนครลำพูน องค์ที่ 10 คือราว พ.ศ.2459 – พ.ศ.2480 ผ้านุ่งหรือผ้าซิ่นของเจ้าหญิงและเจ้านาย (หญิง) อาจไม่ใช่ผ้าไหมยกดอกอย่างที่ท่านคิดและเข้าใจก็เป็นได้

การก่อสร้างสะพานขาวทาชมพู สะพานขาวทาชมภู บริเวณบ้านทาชมภู หมู่ 4 ตำบลทาปลาดุก อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน อยู่ระหว่างสถานีรถไฟขุนตานกับสถานีรถไฟทาชมภู เป็นสะพานประวัติศาสตร์สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2461 สะพานขาวบ้านทาชมภูก่อสร้างต่อจากอุโมงค์ขุนตานซึ่งเป็นเส้นทาง รถไฟสายกรุงเทพ-เชียงใหม่ ควบคุมการก่อสร้างโดยพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการรถไฟ และให้วิศวกรชาวเยอรมันเป็นผู้ออกแบบและดำเนินการสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ช่วงล่างตอหม้อเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กเช่นกัน ถือว่าล้ำสมัยที่สุดในยุคนั้น ทำให้สะพานนี้แข็งแรงมาจนถึงปัจจุบัน

สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการทิ้งระเบิดทำลายเส้นทางเดินรถไฟของทหารญี่ปุ่นและสะพานขาวเป็นเป้าหมายในการทำลายล้างในครั้งนั้นด้วย ชาวบ้านที่ทราบข่าวได้รวมตัวกันทาสีสะพานจากสีขาวให้เป็นสีดำเพื่ออำพรางตาจากนักบินทหารฝ่ายสัมพันธมิตรจนทำให้สะพานแห่งนี้รอดพ้นจากการทิ้งระเบิดไปได้ ปัจจุบันสะพานขาวทาชมภูเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวและถ่ายรูปกันเป็นจำนวนมากเนื่องจากตัวสะพานมีลักษณะโดดเด่นแปลกตา รวมทั้งภูมิทัศน์รอบข้างที่เป็นธรรมชาติสวยงาม

เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงลำพูนองค์สุดท้าย เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของนครลำพูน พลตรีมหาอำมาตย์โท เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่10 (พ.ศ. 2454-พ.ศ. 2486) เจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์มีพระนามเดิมว่า เจ้าน้อยจักรคำ เป็นโอรสของเจ้าหลวงอินทยงยศโชติ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 9 กับแม่เจ้ารถแก้ว สมภพ ณ วันพุธ ขึ้น15 ค่ำ เดือน 6 ปีกุน สัปตศก จุลศักราช 1237 ตรงกับวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2418 ที่คุ้มหลวงลำพูน มีภาดาและภคินีร่วมเจ้าบิดาและมารดาดังนี้1.เจ้าหญิงแก้วมุกดา 2.เจ้าชายตุ้ย (ถึงแก่อนิจกรรมตั้งแต่ยังเยาว์) 3.เจ้าน้อยจักรคำ 4. เจ้าหญิงแก้วมาเมือง (ถึงแก่อนิจกรรมตั้งแต่ยังเยาว์) 5. เจ้าหญิงคำหล้า หรือเจ้าหญิงหล้า มีภาดาและภคินี ร่วมเจ้าบิดา 2องค์ คือ 1. เจ้าสายเขียว กำเนิดจากหม่อมบุสม์ หรือหม่อมบัวจีน 2.เจ้าหญิงทิพย์นวล กำเนิดจากหม่อมคำเที่ยงเจ้าจักรคำฯได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานฐานันดรศักดิ์ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูน เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ สมรสครั้งแรกกับ เจ้าหญิงขานแก้ว ธิดาองค์โตของเจ้าบุรีรัตน์ นครลำพูน (เจ้าน้อยพรหมเทพ) กับเจ้าสุนา (ญ) มีโอรสและราชธิดาด้วยกัน 4 องค์คือ 1. เจ้าหญิงลำเจียก 2. เจ้าหญิงวรรณา 3. เจ้าพงศ์ธาดา 4. เจ้ารัฐธาทร หลังจากเจ้าหญิงขานแก้วถึงแก่อนิจกรรม เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ได้สมรสครั้งที่ 2 กับเจ้าหญิงแขกแก้วธิดาองค์เล็กของเจ้าบุรีรัตน์ นครลำพูน (เจ้าน้อยพรหมเทพ) กับเจ้าสุนา (ญ) มีโอรสและราชธิดาด้วยกัน4 องค์คือ1. เจ้าวรทัศน์ 2. เจ้ารัชเดช 3.ถึงแก่อนิจกรรมหลังจากคลอด 4. ถึงแก่อนิจกรรมหลังคลอด เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ มีโอรสและธิดากำเนิดจากชายาและหม่อมอื่น ๆ อีก3องค์คือ 1. เจ้าสุริยา กำเนิดจากหม่อมแว่นแก้ว 2. เจ้าประกายคำ กำเนิดจากหม่อมคำแยง 3. เจ้าพัฒนา กำเนิดจากเจ้าส่วนบุญ เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ถึงแก่พิราลัย เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 รวมศิริอายุได้ 69 ปี

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น