“แผ่นดิน – เสรีภาพ” เสียงสะท้อนจากค่ายผู้ลี้ภัย

ขณะที่สถานการณ์การสู้รบระหว่างทหารพม่าที่รุกล้ำอธิปไตยในพื้นที่อำเภอแม่สายกับทหารไทยยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบ ข่าวการปะทะกันระหว่างทหารไทยกับกองทัพพม่าด้านอำเภอเวียงแหงก็ปะทุขึ้นอีก ข่าวคราวการสู้รบเช่นนี้มีให้เห็นอยู่เสมอ เนื่องจากบริเวณพื้นที่ชายแดนที่ติดกับประเทศไทยเป็นที่อยู่ของกองกำลังชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ที่ต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพและผืนแผ่นดินจากทหารพม่าซึ่งกินเวลานานกว่าหลายสิบปี

ชายแดนด้านฝั่งตะวันตกของประเทศไทยที่จังหวัดตากซึ่งเป็นที่ตั้งกองกำลังกู้ชาติชาวกะเหรี่ยงก็กำลังได้รับการจับตามองมากที่สุด เพราะพื้นที่แห่งนี้มีค่ายผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงกว่า 10 ค่ายซึ่งลี้ภัยสงครามเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยนานกว่า 10 ปีแล้ว ประมาณการกันว่ามีผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงกว่าหนึ่งแสนคนที่อยู่ในประเทศไทย

หลายปีก่อนผมมีโอกาสเดินทางจากเส้นทางแม่สะเรียงผ่านอำเภอท่าสองยางไปจนถึงอำเภออุ้มผาง ระหว่างทางเส้นนี้เป็นที่ตั้งของค่ายอพยพผู้ลี้ภัยสงครามในพม่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนเชื้อสายกะเหรี่ยง ในบริเวณค่ายผู้อพยพจะมีบ้านเรือนสร้างขึ้นอย่างง่ายจากไม้ไผ่หลังคามุงจากและใบตองตึงจำนวนหลายหมื่นหลังตั้งเรียงรายอยู่เต็มเทือกเขา หากใครที่ไม่ทราบว่านี่เป็นค่ายผู้อพยพก็คงจะเข้าใจว่า คงเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวเขาขนาดมหึมา ซึ่งบางคนเข้ามาอยู่ในค่ายอพยพตั้งแต่ยังเป็นเด็กสาวจนเดี๋ยวนี้เติบโตมีลูกมีครอบครัวอยู่ภายในค่าย แม้ว่าประเทศไทยจะอนุญาตให้ผู้อพยพหนีภันสงครามเข้ามาอาศัยเป็นการชั่วคราวอยู่ภายในค่ายได้ ทว่าแต่ละปีก็มีผู้อพยพเข้ามาอยู่ในค่ายดังกล่าวเป็นจำนวนมาก จนพื้นที่ที่จัดไว้ในค่ายดูคับแคบไปถนัดตา และยังไม่มีทีท่าว่าผู้อพยพที่เดินทางเข้ามาจะลดน้อยลงแต่อย่างใด

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 ที่ค่ายผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงจากพม่าแห่งแรกตั้งขึ้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก สถานการณ์การสู้รบและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเขตแดนกะเหรี่ยงก็ได้ทวีความรุนแรงจนผลักดันให้ผู้คนต้องอพยพออกนอกประเทศไม่ขาดสาย ล่าสุดผู้ลี้ภัยชาวกะ
เหรียง 96,246 คนพักอาศัยอยู่ในค่ายอพยพที่กระจายระเรื่อยในเขตชายแดนไทย

ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานหารายได้หรือออกนอกพื้นที่ ภายในค่ายผู้อพยพจะมีองค์กรเอกชนต่างประเทศรวมถึงองค์กรศาสนาต่าง ๆ ให้ความช่วยเหลือในเรื่องอาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรคและการศึกษาในขั้นพื้นฐาน อาหารที่ผู้ลี้ภัยได้รับต่อคนต่อเดือนได้แก่
ข้าวสารคนละ 16 กิโลกรัม ปลาร้า 1 กิโลกรัม เกลือ 330 กรัม ถั่วเหลือง 1.5 กิโลกรัมและน้ำมันพืชคนละ 1 ลิตร สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่าห้าปีก็จะได้รับสัดส่วนอาหารครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่ ในบางค่ายอนุญาตให้มีการส่งเสริมการปลูกพืชผักสวนครัวได้บ้าง แต่บางค่ายก็ไม่อนุญาต

ผู้ลี้ภัยทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในค่ายชายแดนไทย พวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNSCR) เป็นผู้ให้ความคุ้มครองโดยจะประสานงานกับกระทรวงมหาดไทยซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ลี้ภัย นอกจากนี้ยังมีชนเผ่าอื่นที่ลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทยและไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลไทยให้พักพิงรวมกันเป็นค่ายได้ จึงจำต้องหลบซ่อนและดิ้นรนหาเลี้ยงชีวิตด้วยการเป็นแรงงาน

“ผมอยู่ที่เมืองลานบวย อยู่ที่นั่นพอมีสู้รบกันทหารพม่าจะมาเรียกเอาเงินเอาส่วย ถ้าไม่มีให้ก็ถูกจับไปแบกของให้เขา” “ตอนหลังทหารพม่าบุกมาทำลายบ้านเรือนของพวกเรา มาหาคนกะเหรี่ยงที่ไม่มีญาติพี่น้องเป็นทหาร ทุกคนก็เลยหนีมาเมืองไทย” นี่เป็นเสียงสะท้อนจากห้วงความรู้สึกของ เอห์ นา เยาวชนผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงจากค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ที่ผ่านพ้นจากความโหดร้ายของสงคราม

ตามกฎหมาย ผู้ลี้ภัยทั้งหมดถือเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ได้ชั่วคราว รับบาลไทยไม่ได้เป็นภาคีต่ออนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย จึงไม่มีภาระผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องสิทธิต่าง ๆ ของผู้ลี้ภัย ปัญหาผู้ลี้ภัยเป็นปัญหาระดับประเทศเป็นปัญหาความมั่นคง รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติเร่งเร้าให้มีการส่งกลับผู้ลี้ภัยชนกลุ่มน้อยภายใน 3 ปีนับตั้งแต่ปี 2543 แม้จะไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์ในประเทศพม่าจะสงบสันติและประชาชนจะได้ลิ้มรสคำว่า “เสรีภาพ” ก็ตามที

ไม่มีผู้ใดต้องการพลัดถิ่นฐานบ้านเรือนและคนที่รัก และไม่มีผู้ใดมีความสุขกับการมาของพักพิงในแผ่นดินที่ตนมิได้มีสิทธิในฐานะพลเมืองในแผ่นดินของคนแปลกหน้า แปลกภาษาและแปลกวัฒนธรรม ประชาชนพลัดถิ่นจากพม่าถือสถานะ “ผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย” แม้ผู้
ลี้ภัยในค่ายและแรงงานที่มีใบอนุญาตก็เป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายที่ “ได้รับผ่อนผันให้อาศัยอยู่ได้ชั่วคราว” เท่านั้น

เด็ก ๆ ผู้ลี้ภัยไม่ปรารถนาจะใช้ชีวิตในรั้วค่ายไปตลอดชีวิต พวกเขาปรารถนาที่จะมีอนาคตเหมือนกับเยาวชนคนอื่น ๆ ทั่วโลก และแม้อาจไม่สามารถเรียบเรียงเป็นคำพูดที่สละสลวยได้ ทุกคนก็รู้ว่าพวกเขาจะได้กลับบ้านก็ต่อเมื่อการกดขี่ข่มเหงในพม่าและสงครามจบสิ้นลง และประชาชนจะยิ้มแย้มด้วยสิทธิเสรีภาพอีกครั้ง ซึ่งผมก็หวังจะเห็นรอยยิ้มและสันติภาพเกิดขึ้นแก่ชนกลุ่มน้อยของพม่าด้วยเช่นกัน

บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น