กว่าจะเป๋นเจียงใหม่ ตอนที่ 2 เมืองเชียงใหม่ในสมัยเจริญรุ่งเรือง

ต่อจากความเดิมตอนที่แล้ว กว่าจะเป๋นเจียงใหม่ ตอนที่ 1 กำเนิดนพบุรีศรีนครพิงค์ หลังจากพญาผายูครองราชย์ บ้านเมืองก็อยู่เย็นเป็นสุข พุทธศาสนารุ่งเรือง จนเสด็จสวรรคต พ.ศ. 1898 เมื่อพระชนมายุได้ 57 พรรษา ซึ่งในยุคหลังจากพญาผายูนั้น อาณาจักรล้านนาได้เจริญรุ่งเรืองมากขึ้น

ซึ่งวันนี้ “เชียงใหม่นิวส์ ก็จะมาเล่าถึงเรื่องราวก่อนจะเป็นเมืองเชียงใหม่ เป็นตอนที่ 2 แล้ว เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ตามไปอ่านกันเลย

พญากือนา

ล้านนายุครุ่งเรืองในสมัยพญากือนา

หลังจากสิ้นรัชสมัยของ “พญาผายู” ก็เข้าสู่สมัยของ “พญากือนา” หรือ “พญาธรรมิกราช” เป็นพระมหากษัตริย์ล้านนา รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1898 – 1928 เป็นพระราชโอรสในพญาผายูกับพระนางจิตราเทวี พญากือนามีศรัทธาในศาสนาพุทธอย่างแรงกล้า จึงโปรดให้อาราธนาพระสุมนเถรจากกรุงสุโขทัยมาประดิษฐานพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ในล้านนา ในขณะนั้นมีพระจากลังกาเดินทางมาอยู่ที่เมาะตะมะ คือ “พระอุทุมพรบุบผามหาสวามี”

พญากือนาได้ส่งราชทูตไปนิมนต์มาที่เมืองของพระองค์ แต่พระอุทุมพรบุบผามหาสวามี ก็มีอายุมากแล้วซึ่งเดินทางลำบาก จึงได้ส่ง “พระอานันทเถระ” ผู้เป็นหลานไปแทน และเมื่อไปถึง พญากือนาต้องการให้ทำพิธีบรรพชาอุปสมบท พระอานันทเถระจึงได้ทูลพญากือนาให้ไปนิมนต์ “พระสุมนะเถระ” มาเป็นพระอุปัชฌาย์ และ “พระอโนมทัสสี” มาเป็นพระกรรมวาจา ในการบรรพชาอุปสมบทกุลบุตรชาวเมืองเพื่อสืบทอดศาสนา

หลังจากนั้นพญากือนาก็ทรงสร้าง เจดีย์วัดสวนดอก  สำหรับเป็นที่จำพรรษาของพระสุมนเถระในปี พ.ศ. 1914 และจัดทำเวียงสวนดอกให้เป็นเวียงพระธาตุเมื่อ พ.ศ. 1916 ต่อมาทรงโปรดให้สร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระสุมนเถระอัญเชิญมาจากสุโขทัย โดยจัดสร้างขึ้น 2 แห่ง คือ ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ โดยมีเจดีย์สุเทวบรรพรต

การรับอิทธิพลของสุโขทัยมาสู่ล้านนา

เมื่อพุทธศาสนาจากแคว้นสุโขทัยได้เข้ามาแพร่หลายในล้านนา มีผลทำให้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างล้านนากับอาณาจักรสุโขทัย ทั้งทางศาสนา ศิลปกรรม และประเพณี สมัยต่อมาพุทธศาสนาได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของคนล้านนา พระสงฆ์ได้รับการยกย่องจากสังคมล้านนามากขึ้น บทบาทของพระสงฆ์มีหลายด้านด้วยกันอาทิเช่น ทางด้านการศึกษา พระสงฆ์มีฐานะเป็นครูของประชาชน

ด้านการเมืองในสมัยพญากือนา

พระสุมนเถระนั้นถือได้ว่ามีบทบาทอย่างสำคัญในการวางรากฐานพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ในล้านนา การเข้ามาของพระพุทธศาสนา จากแค้วนสุโขทัยทำให้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างล้านนากับสุโขทัย ตั้งแต่สมัยพญากือนาเป็นต้นมา พบหลักฐานว่าพระสงฆ์ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาตัดสินคดีความต่างๆร่วมกับขุนนางของบ้านเมือง และจากหลักฐานตำนานราชวงศ์พื้นเมืองเชียงใหม่เขียนว่า พระสงฆ์มีบทบาทในการว่ากล่าวตักเตือนพระมหากษัตริย์ล้านนาผู้ประพฤติไม่ถูกต้อง และยังเป็นที่พึ่งของราษฎรในยามบ้านเมืองอยู่ในความยุ่งยาก เช่น ภาวะสงคราม

ดังนั้นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์ในรัชสมัยของพระญากือนา พระญากือนาทรงสนับสนุนให้พระภิกษุจากเมืองต่างๆ เช่น เชียงแสน เชียงตุง เดินทางมาศึกษาพุทธศาสนาที่วัดสวนดอก เมืองเชียงใหม่จึงเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระธรรมวินัย นับเป็นความพยายามที่จะให้เชียงใหม่และล้านนาเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาแทนหริภุญชัยซึ่งเคยมีบทบาทมาก่อนหน้านั้น

การรับพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์จากสุโขทัยในสมัยพญากือนา เป็นจุดเริ่มต้นของความตื่นตัวทางด้านภูมิปัญญาศาสนา ซึ่งนำไปสู่ความเจริญของพุทธศาสนาในยุคทองของล้านนา ต่อมาอาณาจักรล้านนาในสมัยพระญากือนาจึงมีเสถียรภาพทั้งด้านการเมืองและการปกครองมากขึ้น

ยกเลิกส่งส่วยให้แก่พวกฮ่อ

ต่อมาพญากือนาได้ทรงยกเลิกการส่งส่วยต่อฮ่อ (จีน) ซึ่งได้เคยปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังรายตอนต้น ดังนั้นพอถึง พ.ศ. 1908 พญาฮ่อลุ่มฟ้าจึงทวงถามเอาส่วยข้าว 9000 คานงาช้าง 20 หาบ ผ้าขาว 400 รำ ถ้วยแช่สัก 1000 ลาย 500 เขียว 200 ขาว 300 เป็นส่วยแก่เจ้าลุ่มฟ้า พญากือนาจึงปฏิเสธไม่ส่งส่วยต่อฮ่ออีก การไม่ทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าว ทำให้กษัตริย์เชียงใหม่องค์ต่อ ๆ มา คือ พญาแสนเมืองมา และพญาสามฝั่งแกน ก็พลอยไม่ส่งส่วยด้วย ภายหลังกองทัพฮ่อจึงยกมาทวงส่วยในสมัยของพระญาสามฝั่งแกน เมื่อพระองค์ไม่ยอมส่งให้ กองทัพฮ่อจึงเข้าล้อมเมืองเชียงแสน จนเกิดการรบและฮ่อก็พ่ายแพ้ไป

พระญากือนาทรงสวรรคตขณะมีพระชนมายุ 46 พรรษา ทรงครองราชสมบัติได้ 30 ปี สถานที่ที่ทรงสวรรคตคือคุ้มเวียงบัว อันตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของวัดป่าเป้า ริมคูเมืองเชียงใหม่ด้านเหนือ ต่อมาคุ้มนี้ในสมัยของพระญาสามฝั่งแกน ได้สร้างเป็น “วัดพราหมณ์”

ยุคพญาแสนเมืองมา

เมื่อสิ้นพระเจ้ากือนากษัตริย์องค์ต่อมาคือ “พระเจ้าแสนเมืองมา” ราชบุตรของพระเจ้ากือนา ครองราชย์อยู่ในระหว่าง พ.ศ. 1928 ขึ้นครองราชย์ในขณะที่มีอายุเพียง 14 พรรษา เมื่อพญาแสนเมืองมาได้เป็นกษัตริย์ ในสมัยรัชกาลของพระองค์ ได้เกิดสงครามแย่งชิงราชสมบัติอยู่บ่อยครั้งอีกครั้ง โดยเจ้าท้าวมหาพรหม ซึ่งเป็นพระเจ้าอาของพระองค์ซึ่งครองอยู่ที่เมืองเชียงราย พยายามแย่งครองราชบัลลังก์ แต่เจ้าแสนเมืองมาก็สามารถปกป้องราชบัลลังก์ได้สำเร็จ

วัดเจดีย์หลวง

ขณะที่มีพระชนมมายุ 39 ปี พระองค์โปรดให้สร้างพระเจดีย์หลวงกลางเมืองเชียงใหม่ ทว่ายังไม่ทันแล้วเสร็จดีก็สวรรคตเสียก่อนในปี 1944 รวมการครองสิริราชสมบัติได้ 16 ปี

ยุคพญาสามฝั่งแกน

 พญาสามฝั่งแกนเป็นโอรสลำดับที่ 2 ของพญาแสนเมืองมา กับนางรายา ธิดาของเจ้าเมืองในเขตสิบสองพันนา ในกรณีของลำดับองค์ราชบุตรพญาสามฝั่งแกนนั้น สงวน โชติสุขรัตน์ ได้ให้ข้อสังเกตว่า เข้าใจว่าคงจะเป็นโอรสองค์ที่ 3 เพราะตามธรรมเนียมไทโบราณ มีวิธีนับและเรียกลูกคนโตว่า “พี่อ้าย” คนต่อมาก็จะเรียกว่า “ยี่ – สาม – สี่ – งั่ว – ลก” ตามลำดับ แต่ราชโอรสหรือราชธิดาองค์แรกนั้น อาจจะสิ้นพระชนม์เสียแต่ยังทรงพระเยาว์ จึงไม่มีพระนามปรากฏไว้ในประวัติศาสตร์

พญาสามฝั่งแกน

ภายหลังจากพญาแสนเมืองมาผู้เป็นพระราชบิดาทิวงคตแล้ว ในปี พ.ศ. 1954 ราชบุตรสามฝั่งแกนซึ่งมีพระชนมายุ 13 พรรษา ได้รับการสนับสนุนจากอาให้เสวยราชสมบัติราชาภิเษกเป็น “พระมหาราชเจ้านครพิงค์เชียงใหม่” สืบสนององค์พระราชบิดา ภายหลังพระองค์ปูนบำเหน็จให้ โดยแต่งตั้งให้เป็นเจ้าสี่หมื่นครองเมืองพะเยา ส่วนพระราชมารดา พระองค์ได้สถาปนาไว้ในที่สมเด็จพระชนนีพันปีหลวง พระมหาเทวีโลกะ – จุกราชเทวี ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เนื่องด้วยยังทรงพระเยาว์อยู่

พญาสามฝั่งแกนกับศึกกรุงสุโขทัย

ขณะนั้น “ท้าวยี่กุมกาม” พระเชษฐาทรงครองเมืองเชียงรายอยู่ พระองค์ได้ทราบข่าวว่าข้าราชการเสนาอำมาตย์ได้เชิญพระอนุชาขึ้นครองเมืองเชียงใหม่เป็นพญาสามฝั่งแกน หลังพระราชบิดาทิวงคต พระองค์ทรงกริ้วมากที่ตนไม่ได้ครองราชย์ จึงได้ยกรี้พลจากเชียงรายเข้าล้อมหมายจะรบชิงเอาราชสมบัติเมืองเชียงใหม่

ทางฝั่งเมืองเชียงใหม่เองก็ทราบดี จึงได้มีการเตรียมกองทัพไว้ล่วงหน้า ตั้งแต่เมื่อแรกยกราชสมบัติให้เจ้าสามฝั่งแกนแล้ว ครั้นเจ้าท้าวยี่กุมกามยกทัพมา ฝ่ายเชียงใหม่ก็ยกทัพป้องกันเมืองจนกองทัพเชียงรายไม่สามารถเข้าหักเอาเมืองนครเชียงใหม่ได้ จนต้องล่าถอยหนีไป เมื่อท้าวยี่กุมกามรู้แน่แล้วว่าตนเองไม่สามารถกินเมืองเชียงใหม่ได้ จึงหนีไปพึ่งพา “พระมหาธรรมราชาที่ 3” (ไสลือไทย) ณ กรุงสุโขทัย

ฝ่ายพระมหาธรรมราชาที่ 3 เองก็ทรงเห็นชอบ สั่งให้จัดกองทัพหลวงขึ้นมารบ ยกไพร่พลไปตามลำน้ำยมเพื่อเข้าไปตีเมืองพะเยาซึ่งอยู่ฝ่ายเหนือ เมื่อเดินทางมาถึงเมืองเชียงใหม่ ตั้งกองทัพอยู่ ณ ตำบลหนองหลวง ใช้คนถือหนังสือเข้าไปในเมืองเชียงใหม่ใจความขู่ว่าถ้าไม่ให้ท้าวยี่กุมกามเป็นเจ้านครพิงค์เชียงใหม่แล้ว พระมหาธรรมราชาที่ 3 จะยกพลโยธาเข้าหักเอาเมืองเชียงใหม่ให้จงได้

ท้าวขุนเสนาในนครพิงค์เชียงใหม่มีหนังสือตอบไปว่า ท้าวยี่กุมกามไม่สมควรจะได้เป็นเจ้านครพิงค์เชียงใหม่ ถึงแม้เป็นพี่ก็หาสติปัญญาและบุญญาภิสมภารมิได้ รบไปก็เปลืองกำลังเสียเปล่า จึงขอให้จัดสรรทหารที่มีฝีมือเพลงอาวุธอย่างดีฝ่ายละคนให้ต่อสู้กันตัวต่อตัว ฝ่ายใดแพ้และชนะ กองทัพฝ่ายนั้นก็เป็นแพ้ด้วยชนะด้วย พระมหาธรรมราชาที่ 3 ก็ทรงเห็นชอบด้วย จึงเลือกคนไทยผู้หนึ่ง เป็นผู้ชำนาญเพลงดาบสองมือ ฝ่ายข้างชาวเชียงใหม่เลือกได้หาญยอดใจเพชรชำนาญดาบเขน ทั้งสองฝ่ายจึงตั้งสนามที่ตำบลเชียงขวาง หลังจากต่อสู้กันอยู่ช้านานในที่สุดหาญยอดใจเพชรได้ท่วงที ก็ฟันถูกนิ้วแม่เท้าทหารไทยผู้นั้น ปรากฏผลเป็นฝ่ายไทยแพ้แก่ชาวเชียงใหม่

พญาสามฝั่งแกนกับศึกฮ่อ

ครั้นศึกพระมหาธรรมราชาที่ 3เลิกกลับไปแล้ว อยู่มามินาน พระยาฮ่อลุ่มฟ้าเมืองแสนหลวง (ฮุน- หนำ) ใช้ให้มาทวงบรรณาการเป็นส่วยสองหมื่นคาน (สองหมื่นหาบ) พญาสามฝั่งแกนตอบว่าส่วนข้าวซึ่งแต่ก่อนเคยส่งเก้าพันคานนั้น หากได้เลิกละเสียแล้วตั้งแต่ครั้งแผ่นดินเจ้าพระยากือนาเป็นต้นมา

เสนาฮ่อกลับไปทูลพระยาฮ่อเจ้าลุ่มฟ้า พระยาฮ่อจึงให้ฝ่ายฟ้าเมืองแสยกพลศึกเป็นอันมากเข้ามาติดเมืองเชียงแสน พญาสามฝั่งแกนเจ้านครพิงค์เชียงใหม่จึงมอบให้เจ้าแสนคำเรืองเป็นที่เจ้าแสนชัยปราบศัตรู ยกพลชาวเชียงใหม่แปดหมื่นขึ้นไปรักษาเมืองเชียงแสน ฝ่ายเจ้าผู้ครองเมืองเชียงแสนก็ประมวลรี้พลชาวเชียงแสนและชาวเมืองฝาง เมืองเชียงราย เมืองเชียงของ เมืองพะเยา รวมพลสองแสนสองหมื่น แต่งรักษาเมืองเชียงแสนทั้งภายนอกภายในอย่างมั่นคง

วันนั้นเป็นยามแตรใกล้เที่ยง ฮ่อก็ยกพลศึกเข้ามา เมื่อทัพทั้งสองฝ่ายได้รบพุ่งติดพันกันแล้ว ฝ่ายทัพชาวล้านนาก็แสร้งล่าถอยลงมาตามทางที่ทำหลุมไว้นั้น ฮ่อก็ยกพลไพร่รบตะลุยลงมาถึงหลุมที่แต่งไว้ ก็ตกหลุมลงไปเป็นอันมาก กองทัพชาวล้านนากลับรุกล้อม เข้ามารบราฆ่าฟันฮ่อตายในหลุมเป็นอันมาก อยู่มาอีกสามวัน กองทัพฮ่อยกเข้าปล้นเวียงเชียงแสน ชาวล้านนานำกองทหารอาสาออกตะลุมบอน ฝ่ายพลฮ่อมีเกราะเหล็กเกราะหนัง ชาวเมืองจึงเอากรวดทรายมาคั่วไฟให้ร้อนโปรยสาดให้เข้าไปในเกราะนั้นร้อนไหม้ ฮ่อจึงพ่ายแพ้เลิกถอยไป

สิ้นสุดสมัยพญาสามฝั่งแกน

ในปี พ.ศ. 1991 (จุลศักราช 809 ปีเถาะนพศก) พญาสามฝั่งแกนถึงแก่ทิวงคต พระเจ้าติโลกราชพระโอรสจัดการปลงพระศพ ณ ป่าแดงหลวง แล้วสถาปนา พระสถูปบรรจุอัฐิธาตุไว้ ณ สถานที่นั้น

ยุคพระเจ้าติโลกราช

“ยุคพระเจ้าติโลกราช” พระนามเดิมว่า “เจ้าลก” เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 1952 เป็นพระโอรสลำดับที่ 6 ในพระเจ้าสามฝั่งแกน เมื่อทรงเจริญพระชันษาถึงกาลสมควร พระราชบิดาทรงพระกรุณาโปรดให้พระองค์เสด็จไปครองเมืองพร้าววังหิน (อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน) ต่อมาเกิดราชการสงครามขึ้นแล้ว ทัพของเจ้าลก ยกไปสมทบพระราชบิดาช้า พระเจ้าสามฝั่งแกน จึงทรงลงพระราชอาญา เนรเทศให้เจ้าลกไปครองเมืองยวมใต้

อำมาตย์ของพระเจ้าสามฝั่งแกนคนหนึ่งชื่อ “เจ้าแสนขาน” คิดเอาราชสมบัติให้เจ้าลก จึงซ่องสุมกำลังลอบไปรับเจ้าลกจากเมืองยวมใต้มาซ่อนตัวไว้ที่นครเชียงใหม่ ในขณะที่พระเจ้าสามฝั่งแกนประทับแปรพระราชฐานอยู่ที่เวียงเจ็ดลิน การเริ่มชิงราชสมบัติทำโดยการเผาเวียงเชียงใหม่ แล้วบังคับให้พระเจ้าสามฝั่งแกนสละราชสมบัติ แล้วก็อัญทูลเชิญ เจ้าลกขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 1985 มีพระนามว่า “พระมหาศรีสุธรรมติโลกราช” เมื่อมีพระชนมายุ 32 พรรษา

ส่วนพระราชบิดาโปรดให้ไปประทับอยู่ที่เมืองสาด (อยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า) แต่อยู่มาได้เพียง 1 เดือน 15 วัน เจ้าแสนขานก็คิดก่อการเป็นกบฏอีก พระเจ้าติโลกราชจึงให้ “หมื่นโลกนคร” พระเจ้าอาของพระองค์ ผู้ครองเมืองลำปาง เข้าจับตัวเจ้าแสนขานไปคุมขังแต่ไม่ให้ทำร้าย เมื่อพ้นโทษได้ลดยศเป็น “หมื่นขาน” และให้ไปครองเมืองเชียงแสน (อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ในปัจจุบัน) แทน

พระเจ้าติโลกราชทรงสร้างความมั่นคงภายในอาณาจักรล้านนาในช่วง 45 ปี (พ.ศ. 1985–2030) อาณาจักรล้านนาจึงมีความเข้มแข็ง สามารถยึดได้เมืองน่าน เมืองแพร่ จากนั้นจึงขยายอำนาจลงสู่ทางใต้ ทรงทำสงครามกับอยุธยาในสมัย “พระเจ้าสามพระยา” และสมัย “สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ” ติดต่อกัน ในช่วงเวลา 24 ปี เริ่ม พ.ศ. 1994 พระยายุทธิษเฐียรเจ้าเมืองพิษณุโลกเข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าติโลกราช และร่วมกันตีได้เมืองปากยม จากนั้นใน พ.ศ. 2003 พระยาเชลียงก็เข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าติโลกราช

“สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ” ทรงแก้ไขการขยายอำนาจของพระเจ้าติโลกราช โดยเสด็จขึ้นมาครองเมืองพิษณุโลกใน พ.ศ. 2006 ในการทำสงครามกับล้านนา นอกจากใช้กำลังทหารโดยตรงแล้วทางอยุธยายังใช้พิธีสงฆ์และไสยศาสตร์ด้วย กล่าวคือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเมื่อทรงออกผนวชใน พ.ศ. 2008 ก็ได้ทรงขอเครื่องสมณบริขารจากพระเจ้าติโลกราช และระหว่างที่ผนวชก็ทรงขอบิณฑบาตเมืองเชลียงคืน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนการใช้ไสยศาสตร์ก็ได้ส่งพระเถระชาวพม่ามาทำลายต้นไทร ซึ่งเป็นไม้ศรีเมืองณ แจ่งศรีภูมิ ด้วยความเชื่อทางไสยศาสตร์

ต่อมาในปี พ.ศ. 2017 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงยึดเมืองเชลียงกลับคืนได้ และ พ.ศ. 2018 อยุธยาและล้านนาก็ทำไมตรีต่อกัน

อำนาจของพระเจ้าติโลกราช ได้ขยายไปด้านตะวันออกไปถึงล้านช้าง โดยปกป้องหลวงพระบางให้รอดพ้นจากการคุกคามของไดเวียด ซึ่งทำสงครามขยายอิทธิพลรุกรานหลวงพระบางในปี พ.ศ. 2023 ซึ่งก่อนหน้านั้นหลวงพระบางถูกกองทัพไดเวียดโจมตี พระมหากษัตริย์ลาวสิ้นพระชนม์พร้อมกับโอรสอีกสององค์ โอรสองค์สุดท้ายคือ “เจ้าซายขาว” ได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้าติโลกราช

กองทัพล้านนาไปรบตอบโต้จนฝ่ายไดเวียดพ่ายกลับไป ชัยชนะครั้งนี้ทำให้พญาซายขาวพระมหากษัตริย์ลาวพระองค์ใหม่มาสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าติโลกราช พระราชอำนาจของพระเจ้าติโลกราชจึงแผ่ไปกว้างขวาง ด้านตะวันตกขยายออกไปถึงรัฐฉาน ได้เมืองไลคา เมืองนาย เมืองสีป้อ เมืองยองห้วย เป็นต้น

พระเจ้าติโลกราช เป็นพระมหากษัตริย์นักรบที่ทรงพระปรีชาสามารถได้แผ่ขยายอำนาจของกรุงราชธานีเชียงใหม่ไปทั่ว 57 หัว อาณาจักรล้านนาในรัชกาลของพระองค์ถือได้ว่าเป็นยุคทอง รุ่งเรืองสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รับการรับรองจากคนกลาง “โอรสแห่งสวรรค์” จักรพรรดิ์จีนแห่งราชวงศ์หมิง ซึ่งบันทึกไว้ใน “หมิงสื่อลู่” เป็นเอกสารโบราณประจำรัชกาลที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุดแห่งราชสำนักจักรพรรดิจีน

นอกนั้นพระราชกรณียกิจที่สำคัญพระองค์ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก จึงทำให้รัชกาลของพระองค์พระพุทธศาสนารุ่งเรืองสูงสุด พระสงฆ์แตกฉานภาษาบาลี มีการตรวจชำระพระไตรปิฎก หรือสังคายนา เป็นครั้งที่ 8 ของโลก ณ วัดเจ็ดยอด อ.เมืองเชียงใหม่

สิ้นสุดสมัยพระเจ้าติโลกราช

พระเจ้าติโลกราชเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2030 พระชนมายุ 78 พรรษา หลังครองราชย์มาเป็นเวลานานถึง 46 ปี พระองค์ได้ทรงสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่อาณาจักรล้านนาและนครเชียงใหม่มากที่สุดพระองค์หนึ่ง ในช่วงรัชสมัยของพระองค์อาณาจักรล้านนาเจริญรุ่งเรืองและยังมีผลสืบเนื่องต่อมาถึงรัชสมัยของพญายอดเชียงราย และรัชสมัยของพระเมืองแก้วอีกด้วย

สมัยพญายอดเชียงราย

หลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าติโลกราช “ท้าวยอดเมือง” จึงสืบราชสมบัติต่อมา ในช่วงดังกล่าวได้เกิดความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์กับขุนนาง จากหลักฐานของจีนทำให้สันนิษฐานได้ว่าพญายอดเมืองทรงตอบสนองความต้องการของจีนมาก จนไม่สนใจความต้องการของท้องถิ่น

ซึ่งเรื่องราวดังกล่าวสอดคล้องกับหลักฐานท้องถิ่นคือ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ และตำนานพื้นเมืองลำพูน ที่กล่าวถึงท้าวยอดเมืองไม่รัก“เจ้าแก้ว” ราชบุตรของพระองค์ที่เกิดจาก“นางโป่งน้อย” แต่กลับเอาใจใส่ลูกฮ่อ ซึ่งเลี้ยงเป็นลูกและให้ไปครองเมืองพร้าว ทั้งยังมีการกล่าวถึงเจ้าแก้วที่ถูกบังคับให้ไหว้ลูกฮ่ออีกด้วย ด้วยการที่พระองค์สนิทสนมกับฮ่อมากเกินไป จึงสร้างความไม่พอใจแก่เหล่าขุนนาง เนื่องจากพระองค์ไม่ทรงรับฟังขุนนาง ท้ายที่สุดพระองค์ก็ถูกขุนนางปลดออก หลังจากครองราชย์ได้ 8 ปี โดยพระองค์ให้ไปครองเมืองซะมาดในเขตแม่ฮ่องสอน พร้อมกับยกเจ้าแก้วขึ้นครองราชย์สืบมา

เจดีย์บรรจุอัฐิพระเจ้าติโลกราช

ขณะที่มีการยกเจ้าแก้วขึ้นครองราชย์ ก็พบว่านางโป่งน้อย มีอำนาจสูงมาก เนื่องจากมีบทบาทในการปกครองร่วมกับพระโอรส โดยในหลักฐานมีการเรียกมหาเทวีและกษัตริย์ว่า “พระเป็นเจ้าสองพระองค์” และ “พระเป็นเจ้าแม่ลูกทั้งสอง” ขณะเดียวกันบทบาทของขุนนางได้เพิ่มพูนมากขึ้นตามลำดับ ส่วนกษัตริย์กลับถูกลิดรอนอำนาจ

ยุคพญาแก้ว

“พระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิ” หรือ “พญาแก้ว” เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 11 ในราชวงศ์เม็งราย แห่งอาณาจักรล้านนา ทรงครองราชย์ใน พ.ศ. 2038 – 2068 พญาแก้ว มีพระนามที่เรียกกันต่าง ๆ คือ พระเมืองแก้ว หรือพ่อท้าวแก้ว หรือเจ้ารัตนราชกุมาร หรือพญาแก้วภูตาธิปติราช หรือ พระเจ้าติลกปนัดดาธิราช ทรงเป็นพระปนัดดาของพระเจ้าติโลกราช และเป็นราชบุตรของพญายอดเชียงรายกับพระนางสิริยสวดี (เทวีปงน้อย) ประสูติในปีขาล ได้รับราชาภิเษกเมื่อชนมายุ 13 ปี ในวันเพ็ญเดือน 9 พ.ศ. 2039

ด้านการสงคราม

ทรงรบกับอยุธยาที่ชายแดน พ.ศ. 2050 ทรงส่งกองทัพไปตีสุโขทัยแต่ไม่สำเร็จ ต่อมาปี พ.ศ. 2058 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พ.ศ. 2034-72) แห่งอยุธยาขึ้นมาตีลำปางแตก แล้วกวาดต้อนผู้คนกลับไป

ทรงให้ก่อกำแพงเมืองลำพูนด้วยอิฐ ปี พ.ศ. 2060 เพื่อป้องกันข้าศึก จากนั้นจึงก่อกำแพงเมืองเชียงใหม่ให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการยิงด้วยปืนใหญ่ และ พ.ศ. 2061 ให้สร้างสะพานใหญ่ข้ามแม่น้ำปิงที่ท่าสถานหลวง

อีกทั้งพญาแก้วยังทรงเลื่อมใสในพุทธศาสนา ทรงสร้างปูชนียสถานและถาวรวัตถุต่าง ๆ มากมาย เช่น สร้างวัดปุพพาราม ในปี พ.ศ. 2040 ต่อมาปีมะเมียทรงสร้างปราสาทในวัดนั้น ปีระกาทรงฉลองพระไตรปิฏกฉบับลงทอง และหอพระมณเฑียรธรรมที่โปรดให้สร้างไว้ ณ วัดปุพพาราม

สมัยพระเมืองเกษเกล้า 

พระเมืองเกษเกล้า หรือ พญาเกสเชษฐราช พระองค์เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิ หรือ พญาแก้ว พระราชสมภพที่เมืองน้อย  ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 12 ในราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา ทรงครองราชย์ในครั้งที่ 1 พ.ศ. 2068 – 2081 (13 ปี) และครั้งที่ 2 พ.ศ. 2086 – พ.ศ. 2088 (2 ปี) ในการครองราชย์ครั้งแรก

การครองราชย์ครั้งแรก

พระเมืองเกษเกล้า ครองราชย์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2068 – 2081 สถานภาพของพระองค์เมื่อครั้งแรกครองสิริราชสมบัตินั้น พระองค์ยังสามารถใช้ฐานอำนาจเดิมของพระราชบิดา ไม่มีความขัดแย้งของเหล่าขุนนาง เมื่อพระเมืองเกษเกล้าเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาตามแนวทางเดิมของพระราชบิดา โดยส่งเสริมพระภิกษุสงฆ์สำนักสีหลหรือฝ่ายป่าแดง เนื่องจากพระองค์เคยบวชในสำนักสีหลที่วัดโพธารามมหาวิหาร (วัดเจ็ดยอด)

ช่วงแรกของการครองราชย์ยังมีกลุ่มอำนาจเดิมในสมัยพญาแก้ว ยังไม่พบความขัดแย้งของเหล่าขุนนาง และครองราชย์ตามปกติ ความมั่นคงช่วงแรกจึงเกิดจากแรงสนับสนุนของเหล่าพระสงฆ์ และมหาเทวีเจ้าตนย่า (นางโป่งน้อย) ซึ่งเป็นฐานอำนาจเดิม

แต่เมื่อมหาเทวีเจ้าตนย่าสวรรคตใน พ.ศ. 2077 โดยพระองค์มีพระราโชบายที่จะรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง สร้างความไม่พอใจแก่ขุนนางลำปางที่นำโดย หมื่นสามล้าน ซึ่งเป็นผู่นำไม่พอใจและเกิดการก่อกบฏขึ้นในปี พ.ศ. 2078 โดยขุนนางเมืองลำปางได้เป็นแกนนำการก่อกบฏ และเกิดความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้น จนในที่สุด พ.ศ. 2081 ขุนนางมีอำนาจเหนือกษัตริย์และได้ร่วมกันปลดพระเมืองเกษเกล้าออก แล้วส่งไปครองเมืองน้อย

การครองราชย์ครั้งที่สองและการสิ้นสุดรัชสมัย

หลังจากพระองค์ปกครองได้ 13 ปี พระองค์ก็ถูกยึดอำนาจจากพระโอรสของพระองค์คือ “ท้าวซายคำ” เหล่าขุนนางจึงได้อัญเชิญท้าวซายคำขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แทนพระราชบิดา ท้าวซายคำครองราชย์ในปี พ.ศ. 2081 ขณะมีพระชนมายุ 24 พรรษา แต่ท้าวซายคำราชย์ได้แค่ 5 ปี ก็ถูกขุนนางปลดออกจากราชย์สมบัติ  ต่อมาพญาเมืองเกษเกล้าได้ถูกอัญเชิญให้ขึ้นครองราชย์ แต่พระองค์ครองราชย์ได้แค่ 2 ปี พระองค์ก็ทรงเสียพระจริต พระองค์จึงถูกปลงพระชนม์ในที่สุด

หลังจากพระเมืองเกษเกล้า ถูกลอบปลงพระชนม์อาณาจักรล้านนาก็เข้าสู่ยุคเสื่อมโทรม และตกอยู่ใต้อำนาจของพม่าเป็นเวลาหลายร้อยปี ซึ่งเรื่องราวจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามต่อไปในตอนหน้า

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
อ้างอิงข้อมูลจาก : หนังสือ แผ่นดินล้านนา, หนังสือ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, หนังสือ ประวัติศาสตร์ล้านนา, historicallanna01.blogspot.com
รูปภาพจาก : thaigoodview.com, historicallanna01.blogspot.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น