ประเพณี “ตานข้าวหย่ากู้” แม่สะเรียง

ประเพณีตานข้าวหย่ากู้ เดิมเป็นประเพณีของพม่าและไทยใหญ่ซึ่งนิยมทำกันระหว่างวันขึ้น 1 – 15 ค่ำเดือน 3 ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ประเพณีนี้ชาวบ้านจะร่วมกันทำทั้งหมู่บ้านหรือทำเป็นกลุ่ม ๆ โดยจะมีคนหนึ่งอาสาเป็นเจ้าภาพ กวนครั้งหนึ่งเป็นกระทะใหญ่ ๆใช้ข้าวกวนหลายสิบถัง

ข้าวหย่ากู้มีลักษณะคล้ายข้าวเหนียวแดง ส่วนประกอบในการปรุงมี ข้าวเหนียวนึ่ง กะทิ น้ำตาลอ้อย งาคั่ว เกลือป่น มะพร้าวขูด นำใส่กระทะตั้งไฟแล้วกวนเข้าด้วยกัน ส่วนข้าวหย่ากู้จะเหนียวมีรสอร่อยเพียงใดอยู่ที่ศิลปะและเทคนิคตลอดจนประสบการณ์ของผู้ทำ

เมื่อทำเสร็จแล้วจะนำไปใส่หม้อหรือถาดโรยด้วยงาคั่วและมะพร้าวขูดแล้วตัดเป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนก้อนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งนำไปทำบุยที่วัดทุกวัดในหมู่บ้าน ส่วนที่เหลือก็ช่วยกันนำขึ้นเกวียนเทียมวัวที่ได้รับการตกแต่งสีสันสวยงามแห่ฆ้องกลองนำไปแจกจ่ายให้แก่คนในหมู่บ้าน

ประเพณีนี้มีมาแต่ครั้งพุทธกาลจัดขึ้นในช่วงระหว่างวันขึ้น 1 – 15 ค่ำเดือน 3 เหนือ ชาวพุทธจะพร้อมใจกันกวนข้าวหย่ากู้แล้วนำไปถวายแด่พระพุทธเจ้าและได้กระทำสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมงานบุญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา ประเพณีนี้ที่แม่สะเรียงจะเริ่มตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานอ้างอิงได้ แต่นายทอง โพธิ์สุวรรณ คนเก่าแก่คนหนึ่งที่เป็นเจ้าภาพสืบทอดประเพณีนี้มาจากบิดาและบรรพบุรุษ เล่าว่า อำเภอแม่สะเรียงมีทั้งชาวพม่าและไทยใหญ่เข้ามาอาศัยอยู่นาน ตนเองได้เป็นผู้สืบทอดประเพณีนี้ต่อจากบิดา

มานานกว่า 50 ปี ทุกๆปีเมื่อถึงช่วงเวลาดังกล่าวตนจะเป็นเจ้าภาพบอกบุญให้ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านมาร่วมในงานบุญครั้งนี้ จะมาทำมากหรือน้อยก็แล้วแต่กำลังเงินหรือผู้ที่มาร่วมงานกับตน อย่างน้อยในปีหนึ่ง ๆ ข้าวสารนึ่งไม่ต่ำกว่า 10 ถัง ดังนั้นทุกๆปีเมื่อถึงงานบุญตานข้าวหย่ากู้ ตนจะไปบอกกล่าวให้ญาติพี่น้องทราบ ก็จะมีผู้ศรัทธานำข้าวสาร มะพร้าว น้ำตาลและเงินมาร่วมงาน โดยร่วมกันจัดทำที่บ้านของตนเอง เมื่อทำเสร็จแล้วก็จะนำไปทำบุญที่วัดส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งก็จะนำไปแจกชาวบ้าน

ข้าวหย่ากู้ที่ทำอยู่ปัจจุบันมีสองชนิดคือ ข้าวหย่ากู้ไต หรือ ข้าวเหนียวแดง ชนิดนี้จะมีรสออกหวานมัน ส่วนอีกชนิดหนึ่งคือข้าวหย่ากู้พม่าจะไม่มีรสหวาน จะมีรสเค็มและมัน ข้าวหย่ากู้ทั้งสองชนิดแม้จะทำและเรียกเหมือนกันของแต่ละท้องที่ต่างก็มีความอร่อยและรสชาติต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับประสบการณ์ สูตรและเทคนิค

ข้าวหย่ากู้ไต หรือ ข้าวเหนียวแดง มีสูตรดังนี้ ข้าวเหนียว 1 ถัง กะทิ 3 กิโลกรัม น้ำอ้อยตาล 12 กิโลกรัม มะพร้าวขูด 1 ลิตร งาคั่ว 1 ลิตร เกลือป่น 1 ถ้วยชา กวนครั้งหนึ่งข้าวสาร 1 ถังจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง โดยจะนำน้ำกะทิไปตั้งบนไฟเมื่อเห็นว่าได้ที่แล้วก็ให้นำข้าวสารที่เตรียมไว้เทใส่ลงไปแล้วช่วยกันคนจนได้ที่ แล้วนำไปใส่ถาดหรือหม้อแล้วโรยด้วยงาคั่วมะพร้าวขูด จากนั้นก็ตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนก้อนเล็ก ๆ

ข้าวหย่ากู้พม่า หรือ ถำมะแน มีกรรมวิธีทำแตกต่างไปจากข้าวหย่ากู้ไต ซึ่งมีสูตรการทำดังนี้ ข้าวเหนียวครึ่งถัง น้ำมันพืช 2-3 ขวด งาคั่ว 1 ลิตร มะพร้าวขูด 3 กิโลกรัม ถูหรือตัดเป็นแผ่นเล็ก ๆ ยาวประมาณ 1 เชนติเมตร 1 กิโลฯ ถั่วคั่วตำให้ละเอียดพอสมควร โดยมีกรรมวิธีการทำดังนี้ เอากระทะใส่น้ำมันตั้งไฟใส่ข้าวสารนึ่งที่ล้างสะอาดและตากแห้งที่เตรียมไว้ลงคั่วจนเห็นว่าเป็นสีเหลืองทอง เทน้ำเดือดที่เตรียมไว้ใส่ 10 – 15 กระบวย แล้วนำมะพร้าวงาคั่วถั่วลิสงป่นใส่ลงไป นวดให้เหนียวเข้ากัน

ทางสภาวัฒนธรรมอำเภอแม่สะเรียงซึ่งมีนางพรรณิภา โลกา เป็นประธานฯมีนายประพันธ์ วิริยะภาพ นายชวลิต สายคำ เป็นรองประธานได้ร่วมกับองค์กรในพื้นที่เช่น เทศบาลตำบลแม่สะเรียง สำนักงานประถมศึกษาอำเภอแม่สะเรียงและคณะกรรมการผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาเห็นว่า ประเพณีนี้เป็นประเพณีที่ดีงามของท้องถิ่นควรร่วมอนุรักษ์และส่งเสริมให้ยาวนานสืบถึงลูกหลาน จึงได้มอบเงินจำนวนหนึ่งให้รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านและองค์กรต่างๆร่วมกิจกรรมครั้งนี้

หลังจากที่ได้ทำข้าวหย่ากู้และนำส่วนหนึ่งไปทำบุยที่วัดต่างๆในอำเภอแม่สะเรียงแล้วก็นำอีกส่วนหนึ่งบรรทุกรถยนต์และแห่ไปตามถนนสายต่างๆแจกทานข้าวหย่ากู้ให้ชาวบ้าน ซึ่งเรื่องนี้นางพรรณิภา กล่าวว่าในปีต่อไปจะพยายามจัดงานให้ยิ่งใหญ่กว่านี้ ย้อนอดีตให้ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะทำได้เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมตานข้าวหย่ากู้ในครั้งนี้ได้มี ท่านมหาสุทัศน์ มายะวงศ์ ซึ่งเป็นโฆษกของสภาวัฒนธรรมอำเภอแม่สะเรียงได้รจนาค่าวจ้อยอย่างไพเราะดังนี้

“สาธุก่านวงศ์วานปี้น้อง โขงเขตห้องเมืองยวม ขบวนแห่นี้บ่นักบ่หลาย มีตึงป้อจายแม่ญิงนุ่งสิ้น หละอ่อนหลานเหลนก่อมาจ่วยก้ำ ตึงถ้วยและจานตานข้าวหย่ากู้ ค่ำคืนเดือนหงาย มาฆะเน้อนายปู่จาพระเจ้า อ้ายตอง(นายทอง โพธิ์สุวรรณ) เป่นเก้าพร้อมเจ้าสะหายตึงญิงตึงจายจ่วยกั๋นฮ่วมสร้าง พร้อมกำบะก่าสภาวัฒนธรรมเปิ้นอ้างตึงสุขาภิบาลฮ่วมคิด กั๋วจะสูญหายเสียดายความคิดของปู่ป่อเฒ่าเมินมา”

“แต่ดาเสร็จแล้ว ก่อจวนลูกหลานแก่เอามาตานปี้น้องจาวบ้าน หย่ากู้นั้นแต้มีสองขนานของไตโบราณนั้นหวานน้ำอ้อย พม่าที่สองบ่หวานซักหน้อยเปิ้นบอกว่าเค็มมันนิดนิด ตำหรับตำราก๋านแปงอันนั้นเปิ้นบอกฮื้อลองฟัง สูตรนี้เป็นหม้อกะทะล้างหื้อใสใส ตั้งบนเต๋าไฟหื้อฮ้อนเน้อเจ้า แล้วเอากะทะกับน้ำอ้อยหวานใส่ลงบ่นานปอมันไนได้ เกื๋อป่นเกียมไว้จะไปใส่หลายซักกำบ่ดายหรือถ้วยชาเน้อ”

“กั๋นพร้อมดีแล้ว เข้านึ่งอยู่ไหนเอาใส่ลงไปกนหื้อมันเข้า ถอนไฟออกหน่อยจะไปลาสา กำเดียวใส่งาหนึ่งลิตรเน้อเจ้า กนกั๋นไปเตอะกนจนมันเหนียว แถมซักกำเดียวก่อเอาใส่หม้อ ตกถึงเมื่อเจ้าข้าวเย็นแล้วบ๋อเอามีดมารอตัดเป๋นก้อนก้อน จัดใส่ถ้วยจานพร้อมตานเน้อเจ้า แถมบะป้าวขูดข้องโรยไป ต๋ำฮาอันนี้บ่ใจ่ของไผ อ้ายตองจาใดเปิ้นบอกหื้อไว้”

ร่วมแสดงความคิดเห็น