วันนกเงือก 13 กุมภาพันธ์ สัตว์โลกที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ

เมื่อพูดถึงนกเงือก หลายคนมักจะนึกถึง รักแท้ แต่จะมีใครรู้บ้างว่า นกเงือกคือกลไกสำคัญ ที่บ่งชี้ว่าป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด เหตุนี้เองทำให้มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์นกเงือก และเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน จึงได้กำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น วันรักนกเงือก โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะพามาทำความรู้จัก วันที่ 13 กุมภาพันธ์ วันรักนกเงือก สัตว์โลกที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ รักษาความสมบูรณ์ของผืนป่า และความสำคัญของ วันรักนกเงือก กันได้เลย

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ วันรักนกเงือก สัตว์โลกที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ รักษาความสมบูรณ์ของผืนป่า และความสำคัญของ วันรักนกเงือก

เนื่องจากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีโครงการศึกษาชีววิทยาของนกเงือก ซึ่งมีหลากหลายโครงการ และได้ทำการศึกษานกเงือกไทยมามากกว่า 20 ปี ซึ่งจากการศึกษาวิจัยกว่า 6 โครงการ พบว่า ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมานี้ เผ่าพันธุ์ของนกเงือกได้ถูกรุกรานและเสี่ยงต่อสภาวะสูญพันธุ์ อันเนื่องมาจากการถูกล่า หรือแม้กระทั่งการลดจำนวนลงของผืนป่า ทำให้พวกมันไม่สามารถขยายเผ่าพันธุ์ได้ จึงได้มีการประกาศให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ เป็นวันรักนกเงือกของประเทศไทย ในทุก ๆ ปี วันรักนกเงือก จะมีการจัดงานและกิจกรรมต่าง ๆ จากหลายภาคส่วน ทั้งทีมงานวิจัย ผู้สนับสนุน หน่วยงานต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยจุดประสงค์ในการจัดงานนั้น เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับนกเงือก ธรรมชาติ และการอนุรักษ์ มีการรายงานสถานภาพของนกเงือก และงานวิจัยต่าง ๆ และอีกหนึ่งจุดประสงค์หลักคือ เพื่อเป็นวันพบปะ พูดคุย สังสรรค์ของผู้ที่รักนกเงือกทุกคน ซึ่งเป็นมิตรภาพที่เชื่อมต่อกันมาเหนียวแน่นและยาวนาน อนึ่ง นกเงือก ไม่ได้เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ของรักแท้ หรือรักเดียวใจเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ระบบนิเวศของป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์อีกด้วย ทั้งนี้ ในวันรักนกเงือก จึงถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะทำให้เราได้หันมาตระหนักถึงส่วนเล็ก ๆ ของผืนป่าที่ควรอนุรักษ์ไว้ เพื่อความอุดมสมบูรณ์ที่ยั่งยืนของธรรมชาติ

ลักษณะของทั่วไปของนกเงือก

นกเงือก (Hornbill) เป็นนกที่มีขนสีดำ-ขาว และอาจจะมีสีอื่น ๆ บ้าง เช่น น้ำตาลและเทา เป็นต้น มีจุดเด่นคือ จะงอยปากหนาที่ใหญ่และมีโหนกทางด้านบนเป็นโพรง ภายในโพรงมีเนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำ มีลิ้นที่สั้นจึงกินอาหารโดยจัดอาหารอยู่ที่ส่วนปลายปากแล้วโยนกลับลงคอไปปกติ อาหารหลักคือผลไม้ และกินสัตว์เลื้อยคลานเล็ก ๆ เป็นอาหารเสริม

นกเงือกจะมีส่วนหนังเปลือยเป็นสีฉูดฉาดอยู่บ้าง เช่น หนังบริเวณคอ ขอบตา เป็นต้น มีขนตายาวงาม ขาสั้น ชอบกระโดด ส่วนใหญ่ลำตัวมีขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก บางชนิดอาจตัวใหญ่ได้ถึง 1.5 เมตร ความกว้างของปีกเมื่อกางออกอาจมีความยาว 2 เมตร บินได้แข็งแรง เวลาบินเสียงจะดังมาก โดยเฉพาะนกเงือกขนาดใหญ่ ซึ่งเสียงดังนี้เกิดจากที่อากาศผ่านช่องว่างระหว่างโคนขนปีกเนื่องจากนกเงือกไม่มีขนคลุมด้านใต้ของปีก เมื่อกระพือปีกแต่ละครั้งจึงเกิดเสียงดังราวกับรถจักรไอน้ำ และหากนกเงือกขนาดใหญ่บินมาเป็นฝูงจะทำให้เกิดเสียงดังราวพายุ ด้วยความที่จะงอยปากและส่วนหัวที่ใหญ่เหมือนโหนกหรือหงอนนั้น ทำให้นกเงือกถูกนำไปใช้ในเชิงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมมาแต่โบราณ โดยใช้ทำเป็นเครื่องประดับของชนเผ่าต่าง ๆ อีกด้วย สายพันธุ์ของนกเงือกในประเทศไทย

ในประเทศไทยมีนกเงือก 13 ชนิด ได้แก่

– นกกก (Great Hornbill)
– นกเงือกกรามช้าง (Wreathed Hornbilll)
– นกแก๊ก (Oriental Pied Hornbill)
– นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว (White-throated Brown Hornbill)
– นกเงือกหัวแรด (Rhinoceros Hornbill)
– นกชนหิน (Helmeted Hornbill)
– นกเงือกหัวหงอก (White-crowned Hornbill)
– นกเงือกปากดำ (Black Hornbill)
– นกเงือกดำ (Black Hornbill)
– นกเงือกสีน้ำตาล (Brown Hornbill)
– นกเงือกปากย่น (Wrinkled Hornbill)
– นกเงือกกรามช้างปากเรียบ (Plain-pouched Hornbill)
– นกเงือกคอแดง (Rufous-necked Hornbill)

วิถีชีวิตตามธรรมชาติของนกเงือก

นกเงือกเป็นนกที่มีนิสัยรักเดียวใจเดียว ซึ่งเป็นพฤติกรรมน่าสนใจ ทำให้เกิดความประทับใจแก่ผู้พบเห็น มีลักษณะการทำรังที่แปลกจากนกอื่น คือ เมื่อถึงฤดูกาลทำรัง นกเงือกจะพากันหารังตามโพรงไม้ตามต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นยาง ที่อยู่ในที่ลับตา เมื่อตัวเมียเข้าไปอยู่ในโพรง จะทำความสะอาดแล้วเริ่มปิดปากโพรงด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น ดิน เปลือกไม้ โคลน หรือมูล หลังจากนั้นตัวเมียจะขังตัวอยู่ภายในเพื่อออกไข่และผลัดขนเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ไข่ และลูกนกที่เกิดมา เมื่อลูกนกโตพอแล้ว จึงเจาะโพรงออกมา

ส่วนตัวผู้มีหน้าที่หาอาหารมาป้อนให้ถึงรัง ดังนั้นถ้าหากนกเงือกตัวผู้เสียชีวิตในช่วงฤดูทำรัง นั่นหมายถึงเราจะต้องสูญเสียนกเงือกแม่-ลูก ที่เฝ้ารอการกลับมาของนกเงือกตัวผู้ไปด้วย เนื่องจากตัวเมียที่ผลัดขนจะไม่สามารถออกจากรังได้ ทำให้ค่อย ๆ อดอาหารตายอย่างช้า ๆ ทั้งแม่และลูก ซึ่งนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นกเงือกเป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ทั้ง ๆ ที่ตามธรรมชาตินกเงือกอาจมีอายุยืนยาวได้ถึง 30 ปี

หากท่านใดสนใจเยี่ยมชม “นกเงือก” สามารถเข้าชมได้ที่ “สวนสัตว์เชียงใหม่”

เรียบเรียงโดย “เชียงใหม่นิวส์”
ขอขอบคุณภาพจาก http://www.chiangmainightsafari.com
อ้างอิงข้อมูลจาก https://hilight.kapook.com/view/115749

ร่วมแสดงความคิดเห็น